กางบทเฉพาะกาล รธน.ใหม่ ไขคำตอบ คสช.ไปเมื่อไหร่-เลือกตั้งตอนไหน?
“…เท่ากับว่า กว่าที่จะมีคณะรัฐมนตรีใหม่ จะต้องรอให้ กมธ.ยกร่างฯ จัดทำกฎหมายลูกให้เสร็จและส่งให้ สนช. พิจารณาภายในเวลา 90 วัน ต่อมาจึงเลือกตั้ง ส.ส. ให้เสร็จก่อนภายในเวลา 90 วัน หลังจากนั้นจะต้อง “โหวต” เลือกนายกรัฐมนตรีภายในเวลา 30+15 วัน (หากเลือกไม่ได้ก็ต้องไปเลือกตั้ง ส.ส. กันใหม่)…”
เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 22 ส.ค. 2558 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเผยแพร่ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ลงในเว็บไซต์ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประชาชนทั่วไปนำไปอ่าน-ศึกษาเรียบร้อยแล้ว
(อ่านประกอบ : แพร่แล้ว!รธน.ใหม่เปิดช่องนายกฯคนนอก-กก.ยุทธศาสตร์ฯบริหารแผ่นดินไม่ได้)
ถือว่า “ปิดจ็อบแรก” แล้วเสร็จ หลังดำเนินการร่างมานับสิบเดือน! ก่อนที่จะเตรียมทำ “กฎหมายลูก” ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ
อย่างไรก็ดีคำถามที่สังคมยังคงสงสัย และยังไม่มีความกระจ่างชัดคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะ “สิ้นสุด” เมื่อไหร่ และเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. กันตอนไหน ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กางบทเฉพาะกาล ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
มาตรา 277 ระบุว่า ในวาระเริ่มแรกนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(1) ให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (1) มีผลใช้บังคับ
(2) ให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่ง ส.ว. ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (1) มีผลใช้บังคับ
สำหรับมาตรา 276 ระบุว่า ให้ กมธ.ยกร่างฯ ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา โดยวรรคหนึ่ง (1) ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ สนช. ได้รับร่างจาก กมธ.ยกร่างฯ
นอกจากนี้ในส่วนของ ส.ว.สรรหานั้น ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ให้ครบถ้วน และให้ ส.ว.สรรหานี้ มีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี หลังจากนั้นค่อยมีการสรรหาโดยกระบวนการปกติ
หมายความว่า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. จะต้องให้ กมธ.ยกร่างฯ จัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้เสร็จสิ้น ก่อนส่งให้ สนช. โหวตผ่าน พ.ร.บ.เหล่านี้ ให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน หลังจากนั้นจึงจะมีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 90 วัน และเลือกตั้ง-สรรหา ส.ว. ภายใน 150 วัน
ส่วนมาตรา 278 ระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเมื่อคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญเข้ารับหน้าที่
ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 และผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะพร้อมกับคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ด้วย และในระหว่างเวลาดังกล่าว ให้หัวหน้า คสช. และ คสช. คงมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ด้วย
เท่ากับว่า คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช. ทั้งคณะ จะพ้นตำแหน่งก็ต่อเมื่อมีคณะรัฐมนตรีใหม่
คำถามคือ คณะรัฐมนตรีใหม่จะมีเมื่อไหร่ ?
ในมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบุว่า ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยต้องมีมติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก และหากพ้นสามสิบวันไปแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับตำแต่งตั้งเป็นนายกฯ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามวรรคหนึ่งใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ครบกำหนดสามสิบวันดังกล่าว และและยังไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงความเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้สภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นอันสิ้นสุดอายุ และให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่
เท่ากับว่า กว่าที่จะมีคณะรัฐมนตรีใหม่ จะต้องรอให้ กมธ.ยกร่างฯ จัดทำกฎหมายลูกให้เสร็จและส่งให้ สนช. พิจารณาภายในเวลา 90 วัน ต่อมาจึงเลือกตั้ง ส.ส. ให้เสร็จก่อนภายในเวลา 90 วัน หลังจากนั้นจะต้อง “โหวต” เลือกนายกรัฐมนตรีภายในเวลา 30+15 วัน (หากเลือกไม่ได้ก็ต้องไปเลือกตั้ง ส.ส. กันใหม่)
ดังนั้น คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. จะอยู่ในตำแหน่ง (และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้) ภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้อย่างเร็วที่สุด 7 เดือน
ทั้งหมดคือ “ไทม์ไลน์” การสิ้นสุดอำนาจของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ยกทีม ที่ถูกบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับเรือแป๊ะ” นี้
ส่วนในความจริงจะเกิดเหตุ “ไม่คาดฝัน” หรือ สปช. โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ต้องลุ้นกันในวันที่ 6 ก.ย. นี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบ คสช. จาก mcot, ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จาก msnthailand