ชำแหละ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯฉบับใหม่ ป้องฮั้ว-จนท.รัฐผิดโทษสองเท่า!
“…เท่ากับว่า ต่อไปนี้หากมีเจ้าหน้าที่รัฐ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ว่าจะไม่ยอมเปิดเผยราคากลางบนเว็บไซต์ หรือไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น จะต้องได้รับโทษเป็นสองเท่าของความผิดที่ทำไว้นั่นเอง !...”
ท่ามกลางฝุ่นควันการ “ปฏิรูป” ที่ยังไม่ชัดเจนอยู่ในขณะนี้ !
สิ่งหนึ่งที่พอจะทำให้ใจชื้นอยู่บ้างคือในส่วนของการ “ต่อต้านคอร์รัปชั่น” ที่หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงภาครัฐ และเอกชน ต่างช่วนกัน “เฟ้นหา” วิธีป้องกันการทุจริตในแวดวงราชการให้เข้มข้นขึ้น
ไม่ว่าจะในส่วนกฎหมาย ที่คณะรัฐมนตรีรับลูกจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริการพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณา ก่อนจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงพิจารณาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ภายใต้การสนับสนุนของกรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนในนามองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT) ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “รายงานการประเมินความเสี่ยงในด้านธรรมาภิบาลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทย”
ผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวที่มาจากทุกภาคส่วนต่างออกมา “ยกมือ” สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอย่างเต็มที่ พร้อมยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ป้องกัน “การฮั้ว” และช่วยภาครัฐ “เซฟเงิน” ได้เป็นอย่างดี !
(อ่านประกอบ :องค์กรรัฐ-เอกชนหนุนร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ยันป้องฮั้ว-ช่วยเซฟเงิน)
จริงหรือ ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มาสรุปรายละเอียดให้สาธารณชนเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น ดังนี้
ร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ถูกแบ่งออกเป็น 6 หมวด ทั้งหมด 123 มาตรา
มีมาตราสำคัญ ๆ ได้แก่ ในหมวดที่ 2 การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มาตรา 16 ระบุว่า
เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หน่วยงานของรัฐอาจจัดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดก็ได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยผู้สังเกตการณ์ต้องมีความเป็นกลาง และไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้น
นอกจากนี้ หากพบว่า มีการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใด นอกจากรายงานให้คณะกรรมการความร่วมมือทราบแล้ว ให้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณชนด้วย !
ขณะที่ในหมวด 3 ที่ว่าด้วยคณะกรรมการ ถูกแบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1.คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2.คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 3.คณะกรรมการกำกับราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ 4.คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และ 5.คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน
ส่วนหมวดที่ 4 องค์การสนับสนุนดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มาตรา 45 ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้กรมบัญชีกลางมีหน้าที่ในการดูแลและพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการประกาศเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง เพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้าตรวจดูได้
หมายความว่า ต่อไปนี้ต้องไม่มีหน่วยงาน “อีแอบ” ไม่ยอมเผยแพร่ประกาศการจัดซื้อจัดจ้างบนเว็บไซต์อีกต่อไป !
ในส่วนของโทษนั้น หมวด 15 มาตรา 115 บัญญัติไว้เช่นกันว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยทุจริต ต้อระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำความผิดนั้น
โดยถ้ากระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการของผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการในเรื่องนั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่นั้นต้องรับโทษเป็นสองเท่าของความผิดที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง
เท่ากับว่า ต่อไปนี้หากมีเจ้าหน้าที่รัฐ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ว่าจะไม่ยอมเปิดเผยราคากลางบนเว็บไซต์ หรือไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น
จะต้องได้รับโทษเป็นสองเท่าของความผิดที่ทำไว้นั่นเอง !
ทั้งนี้ “มนัส แจ่มเวหา” อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยในงานสัมมนาข้างต้นว่า คาดว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ หลังจากนั้นจะส่งให้ สนช. พิจารณาต่อ และเมื่อ สนช. พิจารณาแล้วเสร็จ จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นในวันที่ 1 ต.ค. 2558 น่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ทันที
นับเป็นหนึ่งในนิมิตหมายที่ดีของการ “ต่อต้านทุจริต” กันอย่างจริงจัง และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
แต่ท้ายสุดกฎหมายฉบับนี้จะสามารถบังคับใช้งานได้ “ดีจริง” หรือไม่ ต้องรอพิสูจน์กันต่อไป !