เครือข่ายวิชาการฯ ปฏิรูปเปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้านจัดการทรัพยากรท้องถิ่น
เครือข่ายปชช.จี้รัฐเปิดทางชุมชนจัดการทัรพยากรเอง พัฒนาจารีตเป็น กม.ท้องถิ่น เรียกร้องเปิดข้อมูลถือครองที่ดินทั่ว ปท. ระบุต้องเร่งแก้ปัญหาร้อนชาวบ้านก่อน เตรียมเสนอคสป.
วันที่ 22 พฤศจิกายน คณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป จัดการประชุมเตรียมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น เรื่อง การจัดการทรัพยากรในพื้นที่ ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถ.วิภาวดี – รังสิต ทั้งนี้เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ/ความไม่เป็นธรรมจากการจัดการทรัพยากร
โดยมีผู้แทนคณะกรรมการการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเป็นธรรม ผู้แทนคณะกรรมการเครือข่ายผู้เสียโอกาส คนจนเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อการปฏิรูป ผู้แทนคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป ผู้แทนคณะกรรมการองค์กรปกครองท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม และผู้แทนจากคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการจัดการที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และน้ำ คณะกรรมการปฏิรูป เข้าร่วมรับฟัง
นางศยามล ไกรยูรวงศ์ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวถึงการปฏิรูปการจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ว่า แม้ปัจจุบันชาวบ้านจะมีระบบการจัดการทรัพยากรในชุมชน อย่างดีเยี่ยมแล้ว แต่ระบบอำนาจนิยมทำให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการใช้ทรัพยากรของประชาชนอย่างง่ายดาย โดยเสนอให้รื้อกฎหมายใหม่ เปลี่ยนแปลงนโยบายหรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคต่างๆ เพื่อเปลี่ยนมุมมองจากการใช้ทรัพยากรเพื่อผลกำไร เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในชุมชน ซึ่งกระทำได้โดยการออกกฎหมายสิทธิชุมชน เพื่อถ่ายโอนอำนาจคืนสู่ท้องถิ่น
ด้านนางพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาทรัพยากรในพื้นที่เกิดจากภาครัฐไม่มีนโยบายกระจายสิทธิการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึง ซึ่งส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในมือนายทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม จึงมีข้อเสนอให้กฎหมาย เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาจัดการทรัพยากรของตนเอง นำจารีตประเพณีของชุมชนมาพัฒนาเป็นกฎหมายท้องถิ่น พร้อมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินทั้งหมด เพื่อความโปร่งใสและการรับรู้ร่วมกันของสังคม แม้ข้อเสนอเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะสั้นได้ แต่เป็นการรณรงค์ วางแผนระยะยาวในการแก้ปัญหาให้สังคมได้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
“ระบบราชการไทยมีช่องว่างทางกฎหมายมากเกินไป ทำให้มีวิถีที่จะดิ้นหลบกฎหมายได้ตลอด เช่น หากการขอชะลอบทลงโทษประชาชนจากกระบวนการยุติธรรมสำเร็จ ตัวผู้ฟ้องก็สามารถจ้างทนายเอกชนให้ไปแจ้งจับชาวบ้านได้อยู่ดี ทำให้การแก้ข้อกฎหมายอาจเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นที่การจัดพื้นที่นำร่องแก้ไขปัญหา 1,000 ชุมชน เชื่อว่าแม้ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) จะหมดวาระการทำงานภายใน 3 ปี ก็จะมีพื้นที่ตัวอย่างไว้แก้ไขปัญหาคนจนได้ต่อไป” นางพงษ์ทิพย์ กล่าว
ส่วนนายสุทธิพงษ์ ลายทิพย์ ผู้ประสานงานศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน กล่าวถึงประมงชายฝั่งกว่า 90% ไม่ได้รับสิทธิในการครอบครองที่ดินของตนเอง ซึ่งทำให้ชุมชนที่อยู่มาก่อน กลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินโดยปริยาย ทั้งนี้เมื่อกลุ่มนายทุนรุกคืบมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ชุมชนชายฝั่งกลายเป็นผู้ต้องหาคดีบุกรุกที่ดินมากขึ้นเช่นกัน ในประเด็นข้อเสนอถึงการนิรโทษกรรมประชาชนฯนั้น ตนเห็นด้วยแต่ต้องยอมรับกันก่อนว่า คนไม่ได้บุกรุกพื้นที่ป่า แต่องค์กรป่าต่างหากที่หันหน้ามาบุกรุกคน
ทั้งนี้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวตอนท้ายว่า จากที่ได้รับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชน ทาง คสป. และคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ต้องกลับไปปรึกษากันแล้วว่า ระยะเวลาที่เหลืออีก 2 ปีก่อนหมดวาระ จะนำข้อเสนอทั้งหมดเหล่านี้ลงไปในการทำงานอย่างไร ซึ่งต้องใช้การผสมผสานระหว่างข้อเสนอแนะการปฏิรูปโครงสร้างและการพัฒนาศักยภาพในการทำงาน
ขณะที่รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) และกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า ความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกนำเข้าสู่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป โดยแบ่งแนวทางออก เป็น 3 ระยะ ได้แก่ แนวทางระยะสั้น คือ แก้ปัญหาความไม่ยุติธรรมให้ชาวบ้านเป็นอันดับแรก เพื่อโยงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอื่นต่อไป สำหรับระยะกลางต้องพิจารณาเรื่องภาษีที่ดิน กองทุนความเหลื่อมล้ำ ให้มีการปฏิรูประบบจัดสรรงบประมาณกระจายสู่ท้องถิ่นมากขึ้น
นางปรีดา คงแป้น กรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า ที่ผ่านมามติในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะมีแต่แนวทางที่สำเร็จได้ในระยะยาว ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จึงข้อเสนอว่าต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนควบคู่ไปด้วย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทั้งพลังและปัญญา อีกประเด็นคือ การส่งเสริมให้ตั้งกองทุนสำหรับชาวบ้านที่จะช่วยหนุนทั้งกิจกรรม และการเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์ของชาวบ้านเพิ่มขึ้น นอกเหนือจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่รับผิดชอบให้ความช่วยเหลือในบางประเด็น
สุดท้ายนายปรีดา เตียสุวรรณ กรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ต้องหันกลับไปให้ความสำคัญกับเกษตรชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่ได้มากกว่าภาคเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มในการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเสียมากกว่า
“ประโยชน์สำคัญอีกประการหนึ่งของการสนับสนุนเกษตรชุมชน คือ จะมีรายได้เป็นของตนเองมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำในการทำงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเพียงพอแค่การสร้างบ้านเท่ารูหนู” นายปรีดา
http://www.thaireform.in.th/news-national-strategy/2298-2010-11-22-16-15-40.html