ตั้ง 3 ปมบึ้มราชประสงค์! โยงไฟใต้น้ำหนักน้อย
แม้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนทีมโฆษกรัฐบาลและโฆษก คสช.ได้พากันออกโทรทัศน์แถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุระเบิดใจกลางเมืองหลวง บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บ 123 คน (ข้อมูล ณ เวลา 23.30 น.วันที่ 17 สิงหาคม 2558) เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันแล้วก็ตาม
แต่ในการแถลงข่าวดังกล่าว กลับยังไม่มีข้อมูล ข้อสันนิษฐาน เกี่ยวกับมูลเหตุของการลอบวางระเบิดครั้งนี้เลย ว่าเกิดจากเรื่องใดกันแน่
และแม้ระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุอาจจะเร็วเกินไปในการสรุป แต่ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลภายใต้การนำของ คสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่น่าจะมีความเชี่ยวชาญงานด้านความมั่นคงมากที่สุด มากกว่ารัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมสนใจใคร่รู้และต้องการคำตอบว่า เหตุระเบิดครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในกรุงเทพฯนี้ มีสาเหตุมาจากเรื่องใด
"ทีมข่าวอิศรา" รวบรวมความเห็นจากบางฝ่ายที่พยายามให้น้ำหนักข้อสันนิษฐานที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด
พันเอกบรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ประเด็นที่เป็นชนวนเหตุของการลอบวางระเบิดครั้งรุนแรงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ซึ่งยังไม่ตัดทิ้ง เรียงตามน้ำหนักความสำคัญ เหลืออยู่ 3 ประเด็น ได้แก่
1.ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง โดยให้ความสำคัญทุกมิติ ไม่ใช่เฉพาะความขัดแย้งของกลุ่มสีเสื้อ
2.การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ไม่เฉพาะที่กำลังเป็นข่าวอยู่ แต่รวมถึงผู้เสียประโยชน์จากการโยกย้ายตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ด้วย
3.การก่อการร้ายข้ามชาติ ซึ่งมีการแจ้งเตือนมาก่อนหน้านี้เป็นระยะ
ส่วนประเด็นที่ตัดออกไปแล้ว คือ ขบวนการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาจขยายพื้นที่ขึ้นมาก่อเหตุในกรุงเทพมหานคร เพราะไม่มีความเชื่อมโยงด้านการข่าวเลย
"ระยะเวลาหลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่ชั่วโมงคงยังสรุปฟันธงอะไรไม่ได้ นอกจากการวิเคราะห์เรียงตามน้ำหนักความเป็นไปได้" พันเอกบรรพต ออกตัว
ขณะที่ พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ภาคใต้) ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กล่าวว่า การลอบวางระเบิดครั้งนี้กระทำกันเป็นขบวนการ และรับจ้างมาแน่นอน ส่วนจะเป็นการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่นั้น ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น แต่ประเด็นที่ตัดออกไปได้เลย คือ การก่อการร้ายข้ามชาติ เพราะวัตถุระเบิดที่ใช้ยังไม่รุนแรงมากพอหากเป็นฝีมือกลุ่มก่อการร้าย
จุดสังเกตที่ พลโทนันทเดช ชี้ให้หยิบมาพิจารณา คือ
1.วิธีการก่อเหตุ มีความพยายามทำให้เหมือนขบวนการก่อความไม่สงบในภาคใต้ หรือโยงกลุ่มมุสลิม
2.นอกจากทำให้เหมือนขบวนการในภาคใต้แล้ว ยังทำให้คิดไปได้ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายสากลด้วย เพราะบริเวณที่เกิดเหตุเป็นสัญลักษณ์ความเชื่อทางศาสนา
3.มีการกระทำเป็นขบวนการ มีกลุ่มโหมกระแสในโซเชียลมีเดีย รวมทั้งปล่อยข่าวลือสร้างความสับสนอลหม่านซ้ำเติมสถานการณ์ให้ดูรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เชื่อว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียนี้ ฝ่ายความมั่นคงน่าจะติดตามตัวมาสอบสวนได้ไม่ยาก
ด้าน ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) กล่าวว่า ในชั้นนี้ยังไม่อยากสรุปสาเหตุของการลอบวางระเบิด เพราะต้องรอให้มีข้อมูลมากเพียงพอเสียก่อน โดยเฉพาะรูปแบบระเบิด ลักษณะการประกอบ และวิธีการวาง ส่วนเรื่องภาคใต้นั้น ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเกี่ยวข้องกัน ขณะที่ประเด็นก่อการร้ายข้ามชาติก็ยังไม่อาจสรุปได้ แต่ยืนยันว่าก่อนหน้านี้มีการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังกลุ่มต้องสงสัยกันอยู่
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจาก อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26