“มาร์ค” ย้ำปฏิรูปเดินหน้า ก่อนสิ้นปีสร้างอนาคตคนไทยเท่าเทียม 4 ด้าน
นายกฯ เผยความคืบหน้าปฏิรูปสร้างอนาคตคนไทยเท่าเทียม 4 ด้าน เศรษฐกิจเป็นธรรม-ช่วยแรงงานนอกระบบ ลดค่าครองชีพ-ปรามไข่แพง รื้อระบบภาษีทรัพย์สิน-ที่ดิน ช่วยคนทำกินเข้าถึงทุนคล่อง
วันที่ 14 พ.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ว่าในส่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และตั้งใจจะเดินหน้าแก้ไขก่อนใน 2 ประเด็น ซึ่งคาดว่าจะผ่านการประชุม ครม.อังคาร 15 พ.ย.นี้และนำเสนอต่อรัฐสภาได้ ทั้งนี้จะให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาว่าจะบรรจุเข้าระเบียบวาระรับหลักการก่อนสิ้นสุดสมัยประชุมปลายเดือน พ.ย.นี้ได้หรือไม่
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวว่า จากการประมวลความคิดเห็น ประชาชนได้นำเสนอเรื่องการสร้างอนาคตที่เท่าเทียมเสมอภาคสำหรับคนไทย 4 ด้านหลัก ซึ่งตนได้มอบหมายผู้รับผิดชอบไปดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้ งานด้านแรกเกี่ยวข้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมเสมอภาค ทำนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเพียงการเจริญเติบโตภาพรวม แต่คำนึงถึงการแก้ปัญหาสังคม ดูแลประชาชนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากกระบวนการการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นปลายเดือนนี้ ได้แก่การช่วยเหลือประชาชนในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่ ผู้ประกอบการอาชีพอิสระที่ ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม พ่อค้าแม่ขายหาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ คนทำงานกลางคืน พนักงานบริษัทชั่วคราวหรือเต็มเวลา โดยทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงแหล่งทุนได้ไม่ต้องพึ่งพาการกู้หนี้นอกระบบ และจะปรับปรุงสภาวะแวดล้อมการทำงาน ให้ปลอดภัย สะอาด และช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้หลุดพ้นจากปัญหาการรีดไถรังแกของเจ้าหน้าที่
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องที่สอง คือค่าครองชีพ จะมีการทบทวนโครงสร้างราคาน้ำมัน แก๊สหุงต้ม เอ็นจีวี ควบคู่ไปกับราคาอาหาร ข้าว ไก่ หมู และไข่ไก่ ที่มีราคาสูงขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะราคาไข่ไก่ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยช่วยเหลือในช่วงที่ความต้องการของตลาดลดลง ดังนั้นการพยายามขึ้นราคาของภาคเอกชนในช่วงนี้เป็นซ้ำเติมผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งได้ส่งสัญญาณเตือนไปแล้วว่าไม่ควรทำ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ภาพรวมการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มุ่งความเป็นธรรมมี 2 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือจะมีการทบทวนโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลได้อนุมัติหลักการภาษีทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้การกระจายการถือครองทรัพย์สินที่เป็นธรรมมากขึ้นในสังคม และยังมีมาตรการภาษีที่จะต้องทำเพิ่มเติม เช่น การใช้มาตรการภาษีส่งเสริมด้านสังคมสิ่งแวดล้อมของกระทรวงการคลัง เช่น ยกเว้นภาษีรายได้ของโครงการพัฒนาที่สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งมาตรการภาษีส่งเสริมการอ่าน สนับสนุนทางการศึกษา สนับสนุนเครื่องเล่นของเด็ก อีกด้านเป็นการสนับสนุนทางการเงิน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนทำมาหากินได้ง่ายขึ้น .