ผ่าโครงสร้าง กก.ยุทธศาสตร์ฯ ซุปเปอร์องค์กรเหนือรัฐบาล-สภา
คำแถลงของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศมติของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่าได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง ไว้ในมาตรา 260 ของร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งเสนอให้ตั้งคำถามประชามติว่าประชาชนต้องการให้มี "รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" หรือไม่นั้น ได้สร้างความงุนงงสงสัยให้กับคอการเมืองที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะการมองการเมืองภาพใหญ่ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการรับรองจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และผ่านประชามติจากประชาชน รวมทั้งประเด็นการมี "รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" แล้ว โฉมหน้าการเมืองไทยหลังเลือกตั้งครั้งใหม่จะเป็นเช่นไร
โมเดลการเมืองใหม่
"ทีมข่าว" ได้รับเอกสารที่เรียกได้ว่าเป็น "โมเดลการเมืองไทย กลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปและการปรองดองระยะเปลี่ยนผ่าน" จากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อมูลจากเอกสารนี้น่าจะทำให้สังคมพอมองเห็นโครงสร้างในอนาคตของระบบการเมืองไทย หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการประกาศใช้ และมีการเลือกตั้งในราวปลายปี 2559
เริ่มจากการมี "รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" ที่เรียกว่า Grand Coalition มาจากการโหวตของ ส.ส.ด้วยเสียงสนับสนุน 4 ใน 5 เท่ากับ 360 เสียงจากทั้งหมด 450 เสียง (ส.ส.เขต 300 คน + ส.ส.แบบสัดส่วน หรือบัญชีรายชื่อ 150 คน) ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ซึ่งจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่มีเสถียรภาพสูงมาก และบังคับวิถีด้วยผลประชามติให้ 2 พรรคการเมืองใหญ่ต้องจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ นอกเหนือจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังมีวุฒิสภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 200 คน จากการเลือกตั้งโดยตรงจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คนจาก 77 จังหวัด รวมกับสมาชิกจากการสรรหาอีก 123 คน โดยคณะรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ในขณะที่รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ จะเป็นผู้มีอำนาจตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจาก 4 กลุ่มวิชาชีพ
ทั้งสองส่วนนี้ คือ ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยหลักของบ้านเมือง คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหาร ส่วนฝ่ายตุลาการไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
บอร์ดยุทธศาสตร์ฯคุมประเทศ
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ คือ การมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งจะกลายเป็น "ขั้วอำนาจใหม่" ในระบบการเมืองไทย
โครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย ประธาน 1 คน และกรรมการอีกไม่เกิน 22 คน รวมเป็น 23 คน
กรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน ได้แก่ ประธานรัฐสภา, ประธานวุฒิสภา, นายกรัฐมนตรี, ผู้บัญชาการกองทัพไทย, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มาจาก
-ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองประเภทละ 1 คน รวมเป็น 3 คน
-กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 11 คน แต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ และการสร้างความปรองดอง
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ ในห้วงเวลาปกติ จะทำงานเสริมสร้างการปฏิรูปให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยทำงานใกล้ชิดกับ "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" ที่จะตั้งขึ้นหลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลง สภาใหม่นี้มีสมาชิก 200 คน แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี
นอกจากนั้น ก็จะทำงานกำกับการสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง รวมทั้งระงับเหตุที่อาจนำไปสู่การเกิดความรุนแรง โดยทำงานร่วมกับ "คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง" ที่จะจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นกัน
ส่วนในห้วงเวลาไม่ปกติ คือ กรณีคณะรัฐมนตรีไม่มีเสถียรภาพ หรือไม่สามารถบริหารประเทศได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีอำนาจพิเศษ 2 ระดับ กล่าวคือ
ระดับที่ 1 มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด สั่งใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั้น ภายใต้การปรึกษาหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
ระดับที่ 2 ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสั่งการระงับยับยั้งหรือให้กระทำการใดๆ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร โดยคำสั่งหรือการกระทำของประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ให้ถือเป็นที่สุด และชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อแก้ไขสถานการณ์ไม่ปกติได้แล้ว ให้รายงานต่อประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด และแถลงให้ประชาชนทราบ โดยให้การกระทำดังกล่าวเทียบเท่ากับการเปิดประชุมสภา
อำนาจพิเศษนี้มีบทเฉพาะกาลระบุกรอบเวลาเอาไว้ 5 ปี แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่ได้มีอายุ 5 ปี แต่จะมีไปตลอด เนื่องจากจะมีการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดอง ขึ้นมารองรับ
คสช.แปลงร่าง?
โครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง ถูกมองจากหลายฝ่ายว่าเป็นเสมือน "ซุปเปอร์ ครม." เพราะเมื่อพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้แล้ว จะพบว่ามีอำนาจเหนือรัฐบาลและสภาที่มาจากการเลือกตั้งเสียอีก
เรียกได้ว่ามีอำนาจครอบคลุมเหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร!
หลายคนเห็นว่าโครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่าทัพ รวมทั้งผู้บัญชาการตำรวจเข้าร่วมด้วยนั้น คล้ายคลึงกับโครงสร้างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เป็นอย่างยิ่ง
ทำให้มีการมองกันว่า เป็นการออกแบบกลไกการเมืองไว้รองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช.หรือไม่?!?
ที่สำคัญ ตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติหรือที่มาเอาไว้ ทำให้เกิดคำถามว่า เตรียมเปิดตำแหน่งนี้ไว้ให้ใคร และใครจะมีความเหมาะสมเป็นประธานของคณะที่ประกอบด้วยคนระดับประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และตำแหน่งสำคัญอื่นๆ
สอดรับ "นายกฯคนนอก"
ขณะที่โมเดลรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ที่ต้องใช้เสียง ส.ส.สนับสนุนมากถึง 4 ใน 5 หรือ 360 เสียงนั้น เป็นจำนวนเสียงสนับสนุนที่มากกว่าการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ใช้เสียงสนับสนุนเพียง 3 ใน 5 เท่านั้น
จุดนี้จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้คิดได้ว่า โมเดลรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ อาจเตรียมไว้เพื่อรองรับ "นายกฯคนนอก" ด้วยหรือไม่
เปิดไทม์ไลน์การเมืองไทย
สำหรับไทม์ไลน์ หรือกรอบเวลาปฏิทินการเมืองไทย หากเป็นไปตามโรดแมพนี้ คือร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติในวันที่ 7 กันยายน 2558 คาดว่าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 จะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมคำถามเพิ่มเติม
ถัดจากนั้น 90 วัน คือภายในวันที่ 30 เมษายน 2559 คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 6 ฉบับให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.พิจารณา ใช้เวลาอีก 90 วัน คือภายในวันที่ 30กรกฎาคม 2559 สนช.ต้องพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับแล้วเสร็จ
เมื่อร่างกฎหมายทั้งหมดผ่าน สนช. ยังมีขั้นตอนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยด้วยภายใน 30 วัน โดยหนึ่งในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว น่าจะเป็นร่างกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง
15 กันยายน 2559 คาดว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 6 ฉบับจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทำให้กฎหมายทั้งหมดมีผลบังคับใช้ รวมทั้งกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองก็น่าจะเสร็จสิ้นด้วย
ถัดจากนั้น 90 วัน คือราววันที่ 15 ธันวาคม 2559 จะมีการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกตั้งเสร็จ 30 วันจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก คือภายในวันที่ 15 มกราคม 2560 โดยขณะนั้น สนช.จะทำหน้าที่วุฒิสภาไปก่อน
หลังเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก 30 วัน คือ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 น่าจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เรียบร้อย ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2560 คณะรัฐมนตรีใหม่น่าจะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งหากเป็นไปตามโมเดลนี้ คณะรัฐมนตรีใหม่ย่อมหมายถึง "รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" ขณะที่คณะรัฐมนตรีรักษาการและ คสช.ก็จะพ้นหน้าที่ไป ส่วน สนช.ยังทำหน้าที่วุฒิสภาอยู่
ประเด็นที่น่าจับตาก็คือ สมาชิก คสช.จะผันตัวเองไปเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองหรือไม่ ใครจะเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และใครคือนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ???
ถือเป็นโจทย์ใหญ่ทางการเมืองที่ต้องติดตาม ห้ามกระพริบตา!