จารจารึกมรดกคำสอน 'กรมพระยาดำรงฯ' สู่เรื่องเล่าจากวังวรดิศ
ม.ล.ปนัดดา เปิดตัวหนังสือ 'เรื่องเล่าจากวังวรดิศ' ถวายพระเกียรติกรมพระยาดำรงฯ ยกความดี 'มรดกคำสอน' บรรพบุรุษสู่เเบบอย่างลูกหลานไทย ยืนหยัดจะรักษาสถานที่เเห่งนี้ไว้สืบไปรุ่นสู่รุ่น
เสียงกระดานไม้ดังเอี๊ยดอ๊าดทันทีที่เหยียบสัมผัสพื้น ‘วังวรดิศ’ สถานที่สำคัญของชาติที่มีอายุยาวนานถึง 104 ปี หากเปรียบดังชีวิตมนุษย์คงเรียกว่า ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน แต่ยังคงสวยงาม โอ่อ่า ท่ามกลางหมู่มวลแมกไม้เขียวขจี โอบล้อมด้วยตึกสูงระฟ้า ใจกลางพระนคร บนเนื้อที่กว่า 9 ไร่เศษ
‘วังวรดิศ’ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีศักดิ์เป็นสมเด็จทวดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล (เหลน) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอยู่ในความดูแลของท่าน
ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งใจจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ ซึ่งมีผู้ขอเข้าเยี่ยมชมอยู่เป็นเนืองนิจ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)มีพระราชดำริพระราชทานวังเป็นรางวัลในฐานะสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลและกระทรวงมหาดไทยสยามใหม่ได้สำเร็จ ถือเป็นผลงานเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง แต่ยังไม่ทันก่อสร้างเสร็จ พระองค์ก็เสด็จสวรรคต
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)ทรงสืบสานพระราชปณิธานของพระราชบิดา ด้วยการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ในการก่อสร้างต่อ โดยทรงว่าจ้าง ‘Karl Dohring’ สถาปนิกชาวเยอรมันเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับที่ออกแบบพระราชวังบ้านปืนและวังบางขุนพรหม
กาลเวลาเปลี่ยนผ่าน แต่ความงดงามของ ‘วังวรดิศ’ ยังคงอยู่เหมือนดังอดีตไม่เปลี่ยนแปลง และเปิดประตูสัญลักษณ์รูปเกือกม้าอีกครั้ง ต้อนรับแขกเหรื่อที่ต่างพากันสวมชุดไทยหลากสไตล์ ร่วมงานเปิดตัวหนังสือเล่มแรกในชีวิตของ ม.ล.ปนัดดา เรื่อง ‘เรื่องเล่าจากวังวรดิศ’ โดยสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี
มี พล.ร.อ.นพ.ม.จ.ปุสาณ สวัสดิวัตน์ และม.จ.ประภาพันธุ์ (ภาณุพันธุ์) กรโกสียกาจ ให้เกียรติเป็นประธานกิตติมศักดิ์ พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายเหนืออย่าง เจ้าวรจักร ณ เชียงตุง, เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง, เจ้าภาคินัย ณ เชียงใหม่ และ เจ้าพงษ์เดช ณ ลำพูน ตลอดจนนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน และศ.ดร.อภินันท์ โกษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมชื่นชมผลงาน
(ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กับหนังสือเล่มเเรกในชีวิต)
ม.ล.ปนัดดา เริ่มต้นเล่าถึงนิยามคำว่า ‘วัง’ ว่า คุณพ่อ (พลตรี ม.ร.ว.สังขดิศ ดิศกุล) มักพูดเสมอ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จะสอนว่า วังเปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทางวัฒนธรรม การศึกษา การปกครอง พระองค์ไม่เคยมองวังเป็นสถานที่ของบุคคลสำคัญ เรื่องของอภิสิทธิ์ชน หรือความเป็นอยู่หรูหรา อีกทั้ง สอนให้ยินดีปรีดาต้อนรับผู้คน และผู้มาเยี่ยมเยือน
“สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 วังวรดิศจะมีผู้คนจำนวนมากมาเยี่ยมสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทั้งในฐานะพระองค์เป็นข้าราชการและอาจารย์ ซึ่งคุณพ่อของกระผมเคยบันทึกไว้ว่า ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดา [สิ้นชีพิตักษัย 11 สิงหาคม 2533 (95 ปี)] ถึงกับกล่าว แขกเหรื่อมาจนกระทั่งจำกันไม่ได้ เพราะมากหน้าหลายตา”
กระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทายาทผู้นี้ บอกว่า ม.จ.พูนพิศมัยเล่ากับคุณพ่อ แขกเหรื่อที่เคยแวะเวียนมาก็หายไปหมด แต่จะตำหนิติเตียนไม่ได้ เพราะสาเหตุที่พวกเขาไม่กล้ามาวังวรดิศ ด้วยมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยจดชื่อส่งรัฐบาล ไม่ว่าจะเข้าทางประตูหน้าหรือหลัง ทำให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ตัดสินพระทัยสู้เราไม่อยู่ดีกว่า สบายใจกันทุกฝ่าย
จึงเสด็จไปประทับ ณ เกาะปีนัง ประเทศมลายู หรือมาเลเซียในปัจจุบัน จนเข้าสู่วัยชราเลยส่งพระรูปมาอำลาลูกหลานที่วังวรดิศ สั่งเสียครบถ้วน แม้กระทั่งเมื่อสิ้นพระชนม์จะให้ดำเนินการกับพระศพอย่างไร
แต่ยังนับเป็นโชค เมื่อปีสุดท้าย กองทัพญี่ปุ่นสงสาร เพราะทราบว่าพระองค์ประชวร จึงได้ประสานงานกลับไทย มิวาย ขณะข้ามด่านพรมแดนสะเดา จ.สงขลา กลับถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเรียกให้ลงจากรถที่ประทับ เพื่อรายงานตัว
(สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงฉายพระรูปร่วมกับเจ้านายฝ่ายเหนือ ณ วังวรดิศ)
“สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่ทันลงจากรถ ม.จ.พูนพิศมัย ก็ร้องไห้เสียก่อน พร้อมกับกล่าวว่า นี่หรือที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงทำประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมืองด้วยความจงรักภักดี” ม.ล.ปนัดดา กล่าว และฉายภาพต่อว่า ทันใดนั้นได้มีตำรวจนายหนึ่งส่งเสียงดังลั่น ฝ่าพระบาทไม่ต้องขึ้นมารายงานตัว เดี๋ยวเกล้ากระหม่อมจะเป็นธุระจัดการเรื่องนี้ให้ ขอให้ทรงสบายพระทัย
เมื่อกลับมาถึงวังวรดิศ ขณะนั้นเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ พระองค์ทรงประทับเรือแจวไปประสาทพระเทพบิดร พระบรมมหาราชวัง เพื่อกราบบังคมทูลพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกรัชกาลว่า ข้าพเจ้าได้กลับคืนสู่ประเทศไทยแล้ว ที่หายไปร่วม 10 ปี ด้วยเพราะลูกศิษย์จะมาเยี่ยม อาจทำให้เขาลำบากใจ ไม่มาก็จะกลายเป็นคนเนรคุณ อกตัญญู สู้ไม่อยู่เสียดีกว่า สบายใจด้วยกันทั่วไป
รมต.สำนักนายกฯ ได้เล่าประวัติโดยย่อ ไปพร้อมๆ กับความทุกข์ยากของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ช่วงบั้นปลายชีวิต แม้กระทั่งสิ้นพระชนม์ ขณะนั้นเป็นช่วงสงครามโลก ม.จ.พูนพิศมัย วัน ๆ ไม่ทำอะไร เสียงหวอดังขึ้นครั้งหนึ่ง ก็คอยก้มยกพระโกศหนี เพราะกลัวจะโดนระเบิดลงใส่
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงยอมรับว่า สงสารบรรพบุรุษ จึงเกิดความมุ่งมั่นจะทำอะไรสักอย่างให้เกิดประโยชน์ นั่นคือ การรับราชการ
“การรับราชการเป็นอาชีพที่ภาคภูมิใจอย่างมาก และทำให้ครอบครัวสำนึกในพระคุณของบรรพบุรุษด้วย พร้อมยืนยันจะพยายามมุ่งมั่นทำงานต่อไป แม้จะเป็นเพียงข้าราชการน้อย ๆ อย่างไรก็ตาม ต้องรักษาพระเกียรติยศถวาย อะไรที่พระองค์พร่ำเพียรสอนก็นำกลับมาทบทวน ขอทำได้เพียงนิดก็นับเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ของครอบครัวแล้ว” ทายาทวังวรดิศ กล่าว
('เรื่องเล่าจากวังวรดิศ' จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี)
ด้วยมรดกคำสอนของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่ ม.ล.ปนัดดา ถูกถ่ายทอดผ่านผู้เป็นพ่อ กลายเป็นสิ่งที่นำมายึดเหนี่ยวจิตใจในการประกอบสัมมาอาชีพอย่างสุจริต และถือเป็นไฮไลท์ในหนังสือ ‘เรื่องเล่าจากวังวรดิศ’ ซึ่งได้สอดแทรกคุณงามความดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เกือบตลอดเล่ม
สมเด็จทวดทรงสอนว่า “เกิดเป็นคนไทยต้องรักในหลวง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ชนชาติไทยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้”
ข้อนี้คุณพ่อสอนมาตั้งแต่เด็ก ความจงรักภักดีอยู่เหนือสิ่งอื่นใดของความเป็นคนไทย
อีกสิ่งหนึ่งที่ยึดนำมาปฏิบัติของทายาทวังวรดิศ คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งได้รับการสอนมาว่า “เอกลักษณ์ของคนไทย คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ที่จะยิ่งทำให้ตนเองสูงในสายตาของผู้อื่น นอกจากคนโง่เขลาเท่านั้นที่ดูไม่ออก”
ทั้งนี้ อย่างที่เอ่ยไว้ข้างต้นว่า หนังสือเล่มนี้ได้บรรยายถึงพระมหากรุณาธิคุณของราชวงศ์ไทย นอกเหนือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งประทับในดวงใจแล้ว ยังมีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) และสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต่างเคยเสด็จมาประทับ ณ วังวรดิศแห่งนี้
(ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล พร้อมครอบครัว ในวันเเถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ)
ม.ล.ปนัดดา เขียนไว้ว่า วันที่สมเด็จย่าได้เสด็จฯ มาที่วังวรดิศ สำหรับกระผมแล้ว เป็นความรักที่ไม่สามารถหาคำใดมาเอ่ยได้ ความนอบน้อมถ่อมพระองค์ที่ทรงแสดงออกในวันนั้นช่างตรงกับคำสอนของคุณพ่อเสียเหลือเกิน
“ยิ่งสูงก็ยิ่งลดพระองค์ และเมื่อยิ่งลดพระองค์เท่าไหร่ พระองค์ท่านก็ยิ่งสูงในสายตาพสกนิกรชาวไทยมากขึ้นเท่านั้น” นี่คือสิ่งที่กระผมจดจำสมเด็จย่าไว้ในความทรงจำมิรู้ลืม
สำหรับสมเด็จพระพี่นางเธอฯ เขาจำได้แม่นว่า พระองค์โปรดความอ่อนน้อมถ่อมพระองค์เป็นที่สุด ได้พระราชทานคำสอนถึงการสร้างคุณงามความดีต้องเริ่มต้นขึ้นจากตัวเราเองและครอบครัว
"ความดี คือ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวทิตา ความไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ใด และความไม่โลภ"
ม.ล.ปนัดดา บอกว่าจดจำคำสอนพระราชทานนี้ขึ้นใจอยู่เสมอมา และยังมีคำสอนอีกมากมายที่ถูกจารจารึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ เหมาะแก่การนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมียศถาบรรดาศักดิ์ใด คนรวย หรือคนจน ก็ล้วนนำไปเป็นเครื่องนำทางแก่ตนเองได้
(ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ถ่ายภาพร่วมกับเจ้านายฝ่ายเหนือ ณ วังวรดิศ)
นอกจากทายาทรุ่นเหลนของกรมพระยาดำรงฯ จะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า สตรีที่อยู่เคียงข้างเสมอมาอย่างคุณอัมพร ดิศกุล ณ อยุธยา ภรรยา ถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการรักษาวังวรดิศไว้ เพราะหลายครั้งที่มีนายทุนเข้ามาเจรจาขอซื้อที่ดินแปลงนี้ โดยเสนอราคาอย่างงาม แต่ครอบครัวไม่ตอบรับ
ด้วยคุณพ่อสอนไว้ว่า ให้รักษาพระนามสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไว้ยิ่งกว่าผลประโยชน์ส่วนตน
คุณอัมพร เปิดเผยถึงความภาคภูมิใจในการเป็นสะใภ้ดิศกุลว่า การได้เข้ามาอาศัยในวังแห่งนี้นับมีบุญ ทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ชักนำเราให้เข้ามามีชีวิตในวัง สอนให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น แต่คงไม่เหมือนในละครที่มีพิธีรีตอง อย่างการรับประทานอาหารก็เหมือนบุคคลทั่วไป แตกต่างกันเพียงการวางกิริยาที่เรียบร้อยเป็นพิเศษ
“คนเราต้องรู้จักทำตัวเรียบง่าย ซึ่งสิ่งนี้ดิฉันได้ยึดถือปฏิบัติมาตลอด คบหากับใครต้องใช้ความจริงใจ สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องดีสำหรับการดำเนินชีวิตในการคบหาเพื่อน” ภรรยา ม.ล.ปนัดดา บอก
ทั้งนี้ รมต.สำนักนายกฯ ยังได้ปลูกฝังให้ทายาทอย่าง ‘โหลน’ วรดิศ ดิศกุล ณ อยุธยา รักและหวงแหนมรดกอันสำคัญนี้ตั้งแต่วัยเยาว์ด้วย และคำสอนที่มักได้รับการถ่ายทอด คือ
“คนที่เรียนเก่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีเสมอไป คนดีต้องมีคุณธรรมในจิตใจ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
แม้สังคมจะเต็มไปด้วยกิเลศยั่วยุมากเพียงใด แต่น้องโหลนยังคงประพฤติตัวเป็นลูกที่ดี ตั้งใจเรียน พร้อมยอมรับการใช้ชีวิตในและนอกวัง คุณพ่อสอนให้รู้จักการวางตัว ต้องคิดก่อนพูดเสมอ ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด ที่สำคัญต้องรักษาวังวรดิศแห่งนี้ให้อยู่ต่อไป
‘วังวรดิศ’ มิใช่เป็นเพียงสถานที่ประทับของหน่อเนื้อราชนิกูล หากเป็นเสมือนกลักเวลาของคนรุ่นอดีตที่เฝ้ารอให้คนรุ่นหลังเปิดออกนำไปถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนผ่านเนิ่นนานเพียงใด ยังคงสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นของทายาทที่จะรักษาภาพความทรงจำนี้ไว้ ภาพที่เต็มไปด้วยเรื่องราวผ่านร้อนผ่านหนาวปรากฏอยู่ฉากหลัง ถูกหยิบยกนำมามาเผยแพร่สืบไป .