กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยันกม.ลิขสิทธิ์ใหม่ ชัดเจนทำซ้ำชั่วคราว ยกเว้นเพิ่มให้คนพิการ
คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้กฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่ 2 ฉบับ มีบทบัญญัติที่น่าสนใจเกิดขึ้น ทั้งการกำหนดให้มีการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ์ การกำหนดบทลงโทษ การแอบบันทึกภาพจากโรงภาพยนตร์ และการคุ้มครองเพื่อประโยชน์คนพิการ
วันที่ 13 สิงหาคม กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเรื่อง “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่” ครั้งที่ 2 ณ ห้องฉลาดลบเลอสวรรค์ ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเปิดงาน โดยระบุตอนหนึ่งถึงพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2558 นั้น ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว จนถึงปัจจุบันนี้หลายคนยังกังวล ไม่เข้าใจเนื้อหาสาระมีอะไรเพิ่มขึ้นมาบ้าง อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ
ศาสตราจารย์ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ 2 ฉบับ มีบทบัญญัติใหม่ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้น เช่น การกำหนดให้มีการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ์ การกำหนดบทลงโทษ การแอบบันทึกภาพจากโรงภาพยนตร์ และการคุ้มครองเพื่อประโยชน์คนพิการ เป็นต้น
ด้านนางสาวนุสรา กาญจนกูล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงความพยายามแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 10 ปี เพิ่งมาสำเร็จปี 2558 โดยมีสาระสำคัญ คือ การคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพในเรื่องของการใช้งานทางสื่อดิจิตอล สื่ออินเตอร์เน็ต การแก้ไขปรับปรุงสาระสำคัญของเรื่องที่อาจยังไม่ชัด เช่น การซื้อหนังสือ หรือซื้อซีดี กับการขายต่อทำได้หรือไม่
“กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ให้ความชัดเจนเรื่องการทำซ้ำชั่วคราว เพราะการใช้งานคอมพิวเตอร์อาจมีการ Copy งานลิขสิทธิ์ใน RAM เพื่อให้เครื่องสามารถทำงานต่อไปได้ แบบนี้ได้รับการยกเว้นว่า ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ขณะเดียวกัน บทลงโทษก็จะมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น หากใครทำการละเมิดเพื่อหากำไร ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น มีเรื่องของการริบหรือทำลายของละเมิดที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในประเทศ รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ทำความผิดด้วย”
ผอ.สำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวด้วยว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่ออกมานี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนานาประเทศที่มีความตกลงร่วมกันเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในยุคอินเตอร์เน็ต ประโยชน์ที่ได้นอกจากเจ้าของงานลิขสิทธิ์อยากสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้นแล้ว ยังสอดคล้องกับการขับเคลื่อน Digital Economy ของรัฐบาลอีกด้วย
“ลิขสิทธิ์ไม่มีคนแรกคนที่สอง มีแต่ว่า ใครทำเอง ริเริ่มเอง เป็นงานสร้างสรรค์หรือไม่ ลิขสิทธิ์จึงไม่ใช่สิทธิบัตรที่ต้องเป็นของใหม่ ลิขสิทธิ์ไม่ต้องเป็นคนแรกในโลก”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:คลายสงสัย 10 ข้อ กม.ลิขสิทธิ์ควรรู้ ทำอย่างไรไม่ละเมิด