โครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาคำถามจากชุมชนที่รัฐไม่เคยตอบ?
"ภูมิทัศน์นั้นไม่ได้หมายถึงการมองเห็นด้วยตาอย่างเดียว แต่ในความหมายของสถาปนิกคือสถานที่และผู้คน 2 สิ่งนี้ต้องอยู่ร่วมกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่ทางเดินริมน้ำแต่ยังหมายถึงผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นด้วย การจะออกแบบผนวกพื้นที่และชุมชนเข้าด้วยกันไม่ใช่งานง่ายที่จะออกแบบให้เสร็จได้อย่างรวดเร็ว"
สบายดีไหมการแสดงจากกลุ่ม Hidden Art Society ที่บอกผ่านเรื่องราวความคิดเห็นผ่านการแสดงศิลปะต่อโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาที่กำลังจะเกิดขึ้น ในงานมอง “แม่น้ำเจ้าพระยา จากริมน้ำท่าพระจันทร์” ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ตัวแทนกลุ่ม Hidden Art Society บอกว่า คำถามว่า สบายดีไหม คือสิ่งที่เราอยากรู้ว่าหากโครงการนี้สร้างเสร็จแล้วชาวบ้านหรือชุมชนที่อยู่รอบๆบริเวณนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง เขารู้สึกอย่างไร เพราะมองว่าความเจริญที่มาพร้อมกับความสวยงามแต่หากไร้ผู้คน ไร้จิตวิญญาณ สถานที่แห่งนั้นยังเป็นสถานที่ที่ดี ที่น่าจดจำอยู่หรือไม่ จะกลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนมาเพื่อถ่ายรูปแล้วก็จากไปอย่างไร้การจดจำหรือไม่
"นี่คือสิ่งที่เราคิดและสะท้อนออกมาจากความรู้สึกและความสงสัย เพราะในช่วงที่เรียนที่ธรรมศาสตร์เราเดินทางด้วยการนั่งเรือ เห็นวิถีชุมชนมาโดยตลอด อีกไม่นานสิ่งเหล่านี้กำลังจะหายไปภายใต้โครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังจะเกิดขึ้น"
เช่นเดียวกันกับกลุ่มนักศึกษาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตั้งคำถามไปถึงผู้เกี่ยวข้องกับโครงการว่าทำไปทำไมคะ หนูอยากรู้ โดยสิ่งที่น้องๆกลุ่มนี้ต้องการทราบ คือ พวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการนี้จำเป็นมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้พวกเขายังให้ทุกคนจินตนาการมองภาพเจ้าพระยาในวันนี้และในอนาคตผ่านเเว่นตาว่า ความสวยงามและคุณค่าของพื้นที่จะยังคงเป็นเช่นเดิมหรือไม่ โดยน้องๆกลุ่มนี้บอกด้วยว่า คำถามเหล่านี้น่าจะมีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"ครั้งแรกที่เชิญไปฟังโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาในฐานะตัวแทนประชาคมบางลำพู เขาบอกเราว่าจะมีการปรับปรุงพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ยังไม่ได้บอกรูปแบบที่ชัดเจน วันนั้นป้าถามคำถามเขาไป 3 ข้อ
1.ถ้าทำแล้วรัฐจะได้อะไรประชาชนจะได้อะไร
2.ทำขึ้นแล้วประชาชนจะได้สิทธิอะไรบ้างแล้วเสียสิทธิอะไรบ้าง
3.ชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาที่ถือเป็นรากเหง้าอยู่กันมาร้อยปีที่มีส่วนในการรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาเขาจะเสียสิทธิอะไรบ้าง
แต่ในที่ประชุมไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้เลย คือถามไปก็ไม่ได้คำตอบ หลังจากวันนั้นเราก็ไม่ได้เข้าไปร่วมฟังอีกเลย"
นี่คือคำบอกเล่าของคุณป้าอรศรี ศิลปี ผู้แทนประชาคมบางลำพู วัย 83 ปี
ป้าอรศรี เป็นผู้หนึ่งที่ได้ไปร่วมฟังตามคำเชิญของกทม. เมื่อรู้ข่าวโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาก็มักจะได้ข้อมูลจากการพูดคุยกับคนอื่นๆ และก็ยังสงสัยด้วยว่า เมื่อกทม.มีข้อตกลงจะให้ชุมชนย้ายออกแล้วจะชดใช้อะไรให้บ้าง แล้วเขื่อนจะสูงขึ้นอีกกี่เมตร
"ป้าได้ยินเขาพูดกันว่าการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยานั้นก็เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในเขตรัตนโกสินทร์ ก็ต้องถามย้อนกลับไปว่า ที่ผ่านมาการที่ชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวอย่างหลากหลายจนรายได้จะเป็นอันดับหนึ่งก็ว่าได้ ที่ผ่านมารัฐเคยมาสร้างอะไรให้บ้าง แต่การท่องเที่ยวที่อยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะความเป็นวัฒนธรรมและเสน่ห์ของชุมชน ฉะนั้นหากชุมชนรอบบริเวณนี้หายไป จะไปหาเสน่ห์มาจากตรงไหน แถมชาวต่างชาติยังบอกว่าเขื่อนหรือทางเดินริมน้ำในประเทศเขาดีกว่าที่เมืองไทยเยอะ ที่เขามาเที่ยวเพราะความแตกต่างริมแม่น้ำเรามีวัด มีชุมชน มีประวัติศาสตร์ เสน่ห์เหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะสร้างทดแทนกันได้"
สอดคล้องกับนางจรัสวรรณ แก้วก้องกังวาล เจ้าของเรือคุณแม่ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางน้ำ บอกว่า เราทำมาหากินกับการท่องเที่ยวริมน้ำเจ้าพระยามากว่า 30 ปี ชาวต่างชาติชอบความเป็นวิถีชุมชน การได้เห็นคนซักผ้าริมน้ำ เห็นคนกระโดดน้ำ หากมีเขื่อนเกิดขึ้น มีทางเดินริมน้ำเจ้าพระยาเกิดขึ้นนักท่องเที่ยวบอกว่า เขาไม่อยากเข้ามา เพราะไม่รู้มาแล้วจะดูอะไรความเป็นวิถีชุมชนหายไปหมด ดังนั้นเราอยากถามว่า โครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาจะส่งเสริมการท่องเที่ยวตรงไหน หรือให้เราพานักท่องเที่ยวไปดูเขื่อน เขื่อนบ้านเราก็ไม่สวย สร้างความสวยงามไม่มี เพราะไม่มีการบูรณาการ การจะสร้างความเจริญใดๆก็ตามจะต้องล้อกับวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ด้วย
ขณะที่อาจารย์ปราณิศา บุญค้ำ หัวหน้าภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม ม.ธรรมศาสตร์ มองถึงการออกแบบภูมิทัศน์ทางภูมิสถาปัตย์ที่เป็นงานพื้นที่สาธารณะจะมีความแตกต่างจากการออกแบบพื้นที่ของเอกชนหรือพื้นที่ที่มีเจ้าของชัดเจน เนื่องจากการออกแบบพื้นที่สาธารณะจะให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าสถาปนิกอยากให้ออกมาเป็นแบบไหนก็ออกแบบตามใจตัวเองแบบนั้น หรือออกแบบตามใจคนจ่ายเงิน แต่การออกแบบพื้นที่สาธารณะจะต้องออกแบบตามความคิดเห็นของผู้ใช้งาน
"โครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาใช้วิธีการออกแบบ คือ มีแบบเดียวเหมือนกันทั้งหมดที่สำคัญยังไม่มีการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานในอนาคต"
อาจารย์ปราณิศา ชี้ว่า ภูมิทัศน์นั้นไม่ได้หมายถึงการมองเห็นด้วยตาอย่างเดียว แต่ในความหมายของสถาปนิก คือ สถานที่และผู้คน 2 สิ่งนี้ต้องอยู่ร่วมกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่ทางเดินริมน้ำแต่ยังหมายถึงผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นด้วย การจะออกแบบผนวกพื้นที่และชุมชนเข้าด้วยกันไม่ใช่งานง่ายที่จะออกแบบให้เสร็จได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีภาพนิทรรศการที่ถ่ายทอดเรื่องราวความสงสัย บวกคำถามหลากหลายคำถามที่เกิดขึ้นกับโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดระยะาทาง 14 กิโลเมตร จากกลุ่ม Friend of the river ก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกจัดจ้างหาบริษัทที่ปรึกษา13 สิงหาคมนี้...
โครงการสาธารณะเป็นแค่ความฝันของรัฐ
หรือเป็นฝันที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ พวกเขามีสิทธิที่จะฝันไหม
กระบวรการมีส่วนร่วมเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ไหม?
อย่าปล่อยให้คำถามเหล่านี้เป็นเพียงคำถามที่ไร้คำตอบ