เนคเทคโชว์ 'เครื่องช่วยฟัง' ฝีมือคนไทย ในงานนวัตกรรมการแพทย์ไทย
มหกรรมตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย 18-20 ส.ค.นี้ เตรียมโชว์“เครื่องช่วยฟังดิจิทัล P02-INTIMA” นวัตกรรมเด่นทางการแพทย์และสาธารณสุข เครื่องช่วยฟังรุ่นแรกผลิตโดยนักวิจัยไทยจากเนคเทค ได้รับรองมาตรฐานสากล ราคาถูกกว่าเครื่องนำเข้ากว่าครึ่ง แถมใช้งานประหยัด ช่วยผู้พิการการได้ยินเข้าถึงอุปกรณ์ช่วยฟัง เพิ่มคุณภาพชีวิต ด้าน สปสช.สนับสนุนขยายนำร่องให้กับผู้พิการการได้ยินผ่าน รพ. 13 แห่ง
ดร.พศิน อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าห้องปฎิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก สถาบันวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก (REAT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้วิจัย “เครื่องช่วยฟังดิจิทัล P02-INTIMA” หนึ่งในผลงานนวัตกรรมเด่นด้านการแพทย์และสาธารณสุขฝีมือนักวิจัยไทย ซึ่งจะนำเสนอในงาน
“มหกรรมตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย (Medical Innovation of Thailand) ผลิตภัณฑ์จากแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์” 18-20 สิงหาคมนี้ กล่าวว่า สวทช.เป็นหน่วยงานที่มีแผนพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์เพื่อมุ่งช่วยเหลือคนไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้พิการและผู้สูงอายุ เครื่องช่วยฟังเป็นเครื่องมือแพทย์ชิ้นหนึ่งที่ สวทช.ให้การสนับสนุนการพัฒนาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาการได้ยินซึ่งถือเป็นผู้พิการหลักกลุ่มหนึ่งในประเทศ เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจเห็นผู้พิการกลุ่มนี้ไม่ชัดเจนเพราะต้องสัมผัสจากการพูดคุยเท่านั้น แต่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตปกติอย่างมาก คาดว่าจะมีจำนวนเกินร้อยละ 10 ของประชากร ทั้งในกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุที่ภาวะการได้ยินเสื่อมตามสภาพร่างกาย ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสังคมผู้สุงอายุ
ดร.พศิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้พิการการได้ยินมีปัญหาการเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องช่วยฟังอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องนำเข้าและมีราคาแพงมาก ทำให้มีผู้พิการการได้ยินมีโอกาสใช้เครื่องช่วยฟังนี้น้อยมาก จึงเป็นโจทย์ที่มาของการพัฒนาเครื่องช่วยฟังให้สามารถผลิตเองในประเทศเพื่อให้มีราคาถูกลงแต่ต้องมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงให้กับผู้พิการการได้ยิน จึงนำมาสู่การพัฒนาเครื่องช่วยฟังดิจิทัลแบบกล่อง P02 รุ่น อินทิมา (INTIMA) และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเครื่องช่วยฟังนี้ให้กับบริษัทเอกชน โดยได้ผ่านการทดสอบใช้งานทางคลินิกตามมาตรฐานสากล มีระบบควบคุมการผลิตตามมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 จนได้รับเครื่องหมาย CE ก่อนนำสู่ผู้พิการการได้ยิน โดยมีราคาถูกกว่าเครื่องช่วยฟังที่นำเข้าต่างประเทศครึ่งหนึ่ง ถือเป็น “เครื่องช่วยฟังรุ่นแรกที่ผลิตโดยคนไทยและได้มาตรฐานสากล”
ทั้งนี้เครื่องช่วยฟังดิจิทัลแบบกล่อง P02 รุ่น อินทิมา นี้ได้มีการพัฒนาต่อเนื่องเป็นระยะในช่วง 4-5 ปีมานี้ โดยต้นแบบเครื่องแรกที่ทาง REAT เลือกผลิตแบบกล่องพกพา นอกจากเน้นการใช้งานที่ง่ายและทนทานแล้ว ยังเน้นที่ความประหยัดในการใช้งานเพราะสามารถบรรจุแบตเตอรี่แบบชาร์ตไฟฟ้าเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือได้ ต่างจากรุ่นที่เป็นแบบทัดหูที่ต้องใช้ถ่านชนิดพิเศษราคาก้อนละ 50 บาทและใช้ได้เพียงแค่ 4-5 วันต้องเปลี่ยนใหม่ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่มาก และที่สำคัญยังหาซื้อได้ยาก ไม่มีขายทั่วไป แต่ด้วยขนาดเครื่องช่วยฟังแบบกล่องที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินไม่ต้องการให้เห็นความพิการอยากให้มีการผลิตในรุ่นที่เล็กลง ประกอบกับความพิการการได้ยินมีหลายระดับที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ในการพัฒนารุ่นต่อไปที่ปรับปรุงให้เหมาะสมต่อการใช้งานของผู้พิการการได้ยินเพื่อเพิ่มความครอบคลุมการดูแลยิ่งขึ้น
ดร.พศิน กล่าวต่อว่า นอกจากการทดสอบประเมินประสิทธิภาพทางคลินิกที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว เครื่องช่วยฟังดิจิทัลแบบกล่อง P02 รุ่น อินทิมา ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินโครงการนำร่องใช้กับผู้พิการการได้ยินในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวน 1,000 เครื่อง พร้อมติดตามประเมินต่อเนื่องในโรงพยาบาล 13 แห่งซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการขณะนี้ ซึ่งนอกจากเป็นการสนับสนุนนักวิจัยไทยในการเริ่มต้นนำผลงานสู่สาธารณะแล้ว ยังนำไปสู่การสนับสนุนประเทศเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองจากผลงานที่ผลิตโดยคนไทย
“การที่เครื่องช่วยฟังอิมทิมาได้รับการยอมรับและชูเป็นผลงานนวัตกรรมเด่น ในความรู้สึกส่วนตัวซึ่งคงเช่นเดียวกับนักวิจัย สวทช. ที่ต่างอยากเห็นผลงานพัฒนาขึ้นสามารถใช้งานได้จริง เกิดประโยชน์กับคนไทยและประเทศชาติ ถือเป็นกำลังใจขั้นแรกและเป็นประสบการณ์ที่จะต่อยอดเพื่อพัฒนาคิดค้นผลงานนวัตกรรมต่อไป” ดร.พศิน กล่าว
ทั้งนี้งาน “มหกรรมตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย (Medical Innovation of Thailand) ผลิตภัณฑ์จากแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2558 ณ ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี โดยความร่วมมือ 4 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักพัฒนาวิยทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)