คณะทำงานฯ ตั้งเป้าระดับชาติ เพิ่มสัดส่วนครอบครัวอบอุ่น 33 ล้านครัวเรือน
ตั้งเป้าระดับชาติ เพิ่มสัดส่วนครอบครัวอบอุ่น ใช้ 3 องค์ประกอบ “สัมพันธภาพ-บทบาทครอบครัว-การพึ่งพาตนเอง” สร้างกลไกระดับพื้นที่ผ่านกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อเร็วนี้ ๆ สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมคณะทำงานโครงการพัฒนานวัตกรรรมการขับเคลื่อนงานครอบครัวอบอุ่นในระดับพื้นที่ ครั้งที่ 1/2558 ณ โรงแรมพักพิง อิงทาง บูติค โฮเทล จ.นนทบุรี
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานครอบครัวเป็นยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี ของ สสส.ซึ่งเป็นประเด็นเฉพาะที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนครอบครัวอบอุ่นให้เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจเเละสังคมเเห่งชาติ ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 66.28 โดยกำหนดปัจจัยความสำเร็จของยุทธศาสตร์ด้านครอบครัวในแผน 3 ปี พิจารณาจาก 3 องค์ประกอบ คือ
1.สัมพันธภาพในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกันเพิ่มขึ้น/การใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น การลดความรุนแรงในครอบครัว การลดจำนวนชั่วโมงในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์
2.บทบาทหน้าที่ของครอบครัวในการดูแลสมาชิก บ้านปลอดอบายมุข ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เพิ่มพฤติกรรมสุขภาพ ออกกำลังกาย กินอาหารปลอดภัย และ
3.การพึ่งพาตนเอง มีรายได้ มีการออม ภาระหนี้สินครัวเรือนลดลง ทั้งนี้ เป้าหมายและตัวชี้วัดครอบครัว ตาม Roadmap การดำเนินงานครอบครัวเพื่อตอบเป้าหมาย 10 ปี (2558-2560) ต้องพัฒนาดัชนีครอบครัวอบอุ่น ผลักดันให้มีการกำหนดเป้าหมายระดับชาติ และเพิ่มสัดส่วนครอบครัวอบอุ่น
“วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงาน จากนี้ไปอีก 2 ปี ต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในระดับครอบครัว โดยมีเป้าหมายร่วมเพื่อออกแบบการทำงานที่จะเพิ่มสัดส่วนครอบครัวอบอุ่นได้อย่างไร เมื่อสภาพัฒน์ฯ ใช้ฐานครอบครัวอบอุ่นเป็นดัชนีชี้วัดของประเทศ ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มต้องปรับปรุง ทั้งเรื่องสัมพันธภาพ ความมั่นคง บทบาทครอบครัวในการดูแลเลี้ยงดู โดย 10 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้นำมาวัดการเปลี่ยนแปลง"
ผอ.สำนัก 4 ระบุว่า ดังนั้นเมื่อเรามีเป้าหมายสร้างครอบครัวให้มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น จึงต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ฉะนั้นโดยพื้นฐานการทำงานด้านครอบครัวเรามีต้นทุนอยู่มาก ตั้งแต่มาตรฐานครอบครัวเข้มแข็ง เครื่องมือ การพัฒนาองค์ความรู้ เครือข่ายความร่วมมือ รวมถึงการเชื่อมการทำงานในระดับนโยบายร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้นเรากำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับครอบครัว ใน 33 ล้านครัวเรือน โดยขับเคลื่อนใน 3 องค์ประกอบดังกล่าว เพื่อให้ได้ตัวอย่างครอบครัวดีที่เป็น best practice
ด้านพญ.พรรณพิมล วิปุลากล เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการพัฒนานวัตกรรรมการขับเคลื่อนงานครอบครัวอบอุ่นในระดับพื้นที่ ได้กำหนดกลไกการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายครอบครัวอบอุ่น ผ่านกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพตามระดับความรับผิดชอบ ดังนี้
1)คณะทำงานโครงการฯ บทบาทออกแบบกระบวนการ สนับสนุน ให้เกิดกลไกการขับเคลื่อน บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และเป็นระบบ สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมให้เกิดความตระหนัก
2)หน่วยสร้างการเรียนรู้ครอบครัวศึกษา (Node) ทำหน้าที่อบรมให้ความรู้ พัฒนาศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนไม่น้อยกว่า 100 แห่ง ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบถ่ายทอดความรู้ให้กับพื้นที่อื่นๆ ติดตาม หนุนเสริม
3)ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) กลไกสุดท้ายในการนำองค์ความรู้เข้าถึงครอบครัวโดยตรง ทั้งครอบครัวลักษณะเฉพาะและครอบครัวทั่วไป พัฒนาให้เกิดระบบฐานข้อมูลครอบครัวในพื้นที่ สร้างการเรียนรู้ด้านครอบครัว
4)ทีมจัดการความรู้ ทีมวิชาการสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการในระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ ทำหน้าที่พัฒนาเครื่องมือเพื่อติดตามผลการดำเนินงาน นำเสนอบทเรียนการดำเนินงาน และจัดทำชุดความรู้ เพื่อเผยแพร่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำความรู้ เครื่องมือ ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดครอบครัวอบอุ่นตามบริบทของพื้นที่ .