"ธีรชัย-ปรีชา"ชิงดำ ผบ.ทบ.คนใหม่ จับตาจัดทัพ "5 เสือ" สานต่อภารกิจ
ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่มีนายทหารระดับสูงเกษียณอายุราชการเป็นจำนวนมาก นับเฉพาะผู้บัญชาการเหล่าทัพก็เกษียณเกือบทุกเหล่าทัพ ยกเว้นกองทัพอากาศ ขณะที่ตำแหน่งระดับหัวๆ ก็พากันเกษียณทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือปลัดกระทรวงกลาโหมก็ตาม
แน่นอนไฮไลท์ของการโยกย้ายที่ทุกฝ่ายจับตามอง มุ่งไปที่กองทัพบก ไม่ใช่เพราะปีนี้ตำแหน่งใน 5 เสือ ทบ.เกษียณอายุถึง 3 นายเท่านั้น ทว่ายังมีสิ่งที่ภาษาโซเชียลมีเดียเรียกว่า "ดราม่า" นั่นก็คือ 1 ใน 2 ที่เป็นคู่ชิงตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนใหม่ ยังเป็นน้องชายแท้ๆ ของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย
ไล่เรียงผู้ที่ดำรงตำแหน่งใน 5 เสือ ทบ.ปัจจุบัน จะพบว่า
พลเอกอุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) ผบ.ทบ. เกษียณ
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ (ตท.12) รอง ผบ.ทบ. เกษียณ
พลเอกธีรชัย นาควานิช (ตท.14) ผู้ช่วย ผบ.ทบ.
พลเอกปรีชา จันทร์โอชา (ตท.15) ผู้ช่วย ผบ.ทบ.
พลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข (ตท.14) เสธ.ทบ. เกษียณ
นอกไลน์ 5 เสือลุ้นยาก
ฉะนั้นคู่ชิง ผบ.ทบ.จึงเหลือเพียง 2 คน คือ พลเอกธีรชัย กับ พลเอกปรีชา ส่วนนายทหารนอก 5 เสือ ทบ.ถามว่ามีโอกาสเขย่งก้าวกระโดดเข้ามาคว้าเก้าอี้หรือไม่
นักวิชาการที่เกาะติดการจัดโครงสร้างกองทัพมานานอย่าง วันวิชิต บุญโปร่ง จากมหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า ต้องย้อนไปถึงปี 2541 โดยครั้งนั้น พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ โยกจากผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก มาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นคนสุดท้าย เพราะหลังจากนั้นกองทัพบกก็จัดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติภายใน และยึดถือกันมาอย่างเคร่งครัด คือ ผู้ที่จะก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ต้องมาจาก 5 เสือทบ. แม้แต่ พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ที่มาด้วยเงื่อนไขพิเศษความเป็นญาติผู้พี่ของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ก็ยังเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ.ก่อนขึ้นเป็น ผบ.ทบ.
ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า กองทัพบกรักษากติกานี้มา 17 ปี คงไม่แหกโผ ทำผิดประเพณีในปีนี้ ยิ่ง พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ซึ่งมีหน้าที่เสนอชื่อ ผบ.ทบ.คนใหม่ ก็ออกมาสำทับว่า ผู้ที่จะมารับไม้ต่อจากเขา ต้องเป็นนายทหารใน 5 เสือ ทบ. ยิ่งทำให้ชัดเจนว่าคู่ชิงเหลือเพียง 2 คน คือ พลเอกธีรชัย กับ พลเอกปรีชา
เทียบจุดเด่นคู่แคนดิเดต
เมื่อเทียบน้ำหนักปอนด์ต่อปอนด์ระหว่างคู่แคนดิเดต จะพบคุณสมบัติและจุดเด่นของแต่ละคนดังนี้
พลเอกธีรชัย เป็นนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์, ครองยศพลตรีก่อน, เคยผ่านงานคุมกำลัง เป็นผู้บังคับหน่วยสำคัญ เช่น ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.2 รอ.) แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นต้น เคยลงไปปฏิบัติงานสนามสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส และเป็นรองเสธ.ทบ. จึงเรียกว่าครบเครื่องทั้งบุ๋นและบู๊
ขณะที่ พลเอกปรีชา มาจากกองทัพภาคที่ 3 แม้จะเคยลงไปปฏิบัติงานสนาม เป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา และเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 แต่หากย้อนไปดูเส้นทางชีวิตราชการ จะพบว่าอยู่ในสายอำนวยการเป็นหลัก ไม่ใช่สายคุมกำลัง ซึ่งหากได้ก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ก็ต้องถือว่าเป็นมิติใหม่มาก
นอกจากนั้น การดำรงตำแหน่งของ พลเอกปรีชา ยังค่อนข้างเติบโตรวดเร็วในยุคที่พี่ชาย คือ พลเอกประยุทธ์ มีอำนาจในกองทัพ เป็นผบ.ทบ. คือ จากเสนาธิการกองทัพน้อยที่ 3 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 แม่ทัพน้อย และขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 3
เทียบ "กำลังภายใน"
ที่น่าสนใจ คือ แนวปฏิบัติของนายทหารบูรพาพยัคฆ์ในการแต่งตั้งโยกย้าย จะเน้นอาวุโสมากเป็นพิเศษ ให้น้ำหนักการไลน์การบังคับบัญชา ประสบการณ์การคุมหน่วยสำคัญ
แต่แน่นอนในสังคมไทยที่เป็นระบบอุปถัมภ์ อาจต้องดูสายสัมพันธ์พิเศษ ซึ่งทั้งคู่ต่างก็มีไม่แพ้กัน โดย พลเอกธีรชัย เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.14 กับ พลเอกอุดมเดช หากฝ่ายหลังเสนอชื่อ "บิ๊กหมู" ขึ้นเป็นผบ.ทบ. ก็จะสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งให้กับ ตท.14 หรือ จปร.25 ที่มีคนในรุ่นได้เป็น ผบ.ทบ.ถึง 2 คนต่อเนื่องกัน โดยก่อนหน้านี้ก็มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยส่งต่อตำแหน่ง ผบ.ทบ.ให้กับเพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 อย่าง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน มาแล้ว
ขณะที่ พลเอกธีรชัย ยังเป็นน้องบูรพาพยัคฆ์สายตรง พลเอกประวิตร ที่จัดได้ว่าอยู่ในระดับ "น้องรัก" เลยทีเดียว
ส่วน พลเอกปรีชา แน่นอนว่าสายสัมพันธ์พิเศษที่ทำให้เขาถูกจับตามอง คือ การเป็นน้องชายแท้ๆ ของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และถือเป็นจุดแข็งที่สุดของนายทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ผู้นี้ ซึ่งหากพิจารณาประกอบในแง่สถานการณ์ทางการเมืองในปี 2559 ซึ่งมีแนวโน้มร้อนระอุ การตั้ง พลเอกปรีชา อาจกลายเป็นความจำเป็นของ พลเอกประยุทธ์ ที่ต้องการคนที่ตัวเองเชื่อใจและไว้ใจที่สุดมานั่งในตำแหน่งที่มีบทบาทสูงสุดในการรัฐประหารทุกครั้งอย่าง ผบ.ทบ.
แต่ พลเอกปรีชา ยังต้องฝ่าด่านสำคัญ คือ คุณสมบัติและความเหมาะสมของตนเองซึ่งกำลังถูกตรวจสอบเรื่องบัญชีทรัพย์สินอย่างเข้มข้น หากขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ย่อมมีกระแสต่อต้าน และถูกขุดคุ้ยปัญหานี้มากขึ้น กระทั่งสุดท้ายนายกรัฐมนตรีอาจถูกตั้งคำถามเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของรัฐบาลชุดนี้ที่มีภาพลักษณ์เหนือกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งก็เป็นได้
จัดทัพ 5 เสือ ทบ.ชุดใหม่
อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าจับตามอง คือ ใครจะก้าวเข้ามานั่งใน 5 เสือ ทบ.ชุดใหม่ เพราะไม่ว่า พลเอกธีรชัย หรือ พลเอกปรีชา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ทั้งคู่ก็มีอายุราชการเหลืออีกเพียง 1 ปีเท่านั้น วันที่ 1 ตุลาคมปีหน้า หนึ่งใน 5 เสือ ทบ.ชุดใหม่ ก็จะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป
นายทหารคนแรกที่น่าจะได้ขยับเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. แต่ไม่มีสิทธิ์ก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ. คือ พลโทกัมปนาท รุดดิษฐ์ เขาเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 16 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เพราะเขาเหลืออายุราชการอีกเพียง 1 ปี โดย พลโทกัมปนาท มีบทบาทสูงหลังการยึดอำนาจใหม่ๆ โดยเขาทำงานหนักในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป.
การดัน พลโทกัมปนาท ให้ติดยศ "พลเอก" เข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. นอกจากจะเป็นการตอบแทนที่ทำงานหนักให้ คสช.มาตลอดแล้ว ยังเป็นการเปิดทางให้ พลโทเทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพน้อยที่ 1 นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 18 นายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ กระเถิบขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ก่อนขยับเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ.ในปีถัดไป เพื่อสานต่อภารกิจคุมกองทัพของนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ด้วย
นายทหารอีกคนที่อยู่ในข่ายเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. คือ พลเอกวลิต โรจนภักดี รองเสนาธิการทหาร นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 15 เขาคือนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ที่ได้รับบาดเจ็บเจียนตายจากเหตุการณ์กระชับพื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จึงมีโอกาสไม่ได้น้อยที่จะได้รับโบนัสก่อนเกษียณด้วยการขยับเข้าไลน์ 5 เสือ ในปีสุดท้ายของอายุราชการ เพราะเส้นทางที่จะเติบโตต่อไปในกองบัญชาการกองทัพไทยค่อนข้างตีบตัน
น่าสนใจว่าหาก พลเอกอุดมเดช มีสิทธิ์จัดทัพ 5 เสือ ทบ.ใหม่ด้วย ก็น่าจะมีชื่อ พลโทกิตติ อินทสร แม่ทัพน้อยที่ 4 เพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 ขยับเข้าไลน์ติดยศพลเอกในปีสุดท้ายของอายุราชการ เพราะเขาพลาดหวังแม่ทัพภาคที่ 4 มาถึง 2 ปีติดกัน
ส่วนนายทหารที่น่าจับตาว่าจะเป็นทายาท ผบ.ทบ.ในปี 2559-2560 คือ พลเอกพิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 17 มีอายุราชการถึงปี 2560 หากเขาไลน์ 5 เสือ ทบ.ในปีนี้ ก็มีสิทธิ์รับไม้เป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป เขาเป็นนายทหารบูรพาพยัคฆ์ลูกผสม เพราะแม้จะเติบโตมาจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล ร.2 รอ.) แต่ก็เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ หรือ ผบ.พล 1 รอ.ด้วย
"สมหมาย"นอนมา – "นิพัทธ์"หมดลุ้น
ทางด้านกองบัญชาการกองทัพไทย พลเอกวรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด วางตัว พลเอก สมหมาย เกาฏีระ เสนาธิการทหาร นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 15 อาวุโสสูงสุด ไว้เป็นทายาทเรียบร้อย ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า "นอนมา"
ขณะที่ปลัดกระทรวงกลาโหม น่าจะเปิดไว้รองรับผู้ที่พลาดหวังจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เพราะรองปลัดที่นั่งอยู่ในตำแหน่งขณะนี้ยังไม่มีใครโดดเด่นชัดเจน ส่วน พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดที่ถูกเด้งเป็นรายแรกหลัง คสช.ยึดอำนาจ ก็เป็นเรื่องยากที่จะได้คัมแบ็ค
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) พลเอกปรีชา (ขวา) พลเอกธีรชัย
ขอบคุณ : ภาพต้นฉบับจากเว็บไซต์กองทัพบก