หลายฝ่ายระดมช่วยแก้ปัญหา รพ.นราฯขาดแคลนแพทย์
การสูญเสีย พลทหารพัสกร บุญมาพร สังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยเส้นทางเพื่อคุ้มครองคณะครู หลังถูกคนร้ายลอบวางระเบิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 นั้น ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง
เพราะ พลทหารพัสกร ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุระเบิด ถูกส่งไปช่วยชีวิตที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส แต่ปรากฏว่าไม่มีหมอเฉพาะทางด้านศัลยแพทย์ จึงต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอยู่ไกลออกไปร่วมร้อยกิโลเมตร และภายหลัง พลทหารพัสกร เสียชีวิต
ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่เกิดขึ้นมานาน ที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นได้ขอความร่วมมือจากกรมแพทย์ทหารบก ให้ส่งแพทย์ทหารมาช่วยงานเดือนละ 3 สัปดาห์ แต่ก็ยังมีช่องว่างขาดแพทย์ช่วงที่แพทย์ถึงเวรพัก
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ด้านหนึ่งมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มนร. ได้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้น เพื่อผลิตแพทย์เติมเต็มให้กับโรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันจะเป็นการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน
มนร.มีเป้าหมายรับนักศึกษาแพทย์โดยตรงจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์อย่างรุนแรงในพื้นที่ และยังเป็นวัตกรรมทางการศึกษาที่กระจายโอกาสทางการศึกษาสู่ภูมิภาคด้วย
ผศ.ดร.จงรัก พลาศัย อธิการบดี มนร.กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จึงมีมติให้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการรับนักศึกษาโดยตรงจากสามจังหวัด ส่งเสริมให้นักเรียนที่มีผลการเรียนสะสมดีมีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษา ทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลด้านความมั่นคง โดยการใช้การศึกษาเป็นกลยุทธ์หลักในการแก้วิกฤติความรุนแรงในพื้นที่ด้วย
มนร.ได้เปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต โดยเริ่มรับนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2550 จำนวน 16 คน เข้าศึกษาในวันที่ 4 มิถุนายน 2550 และรุ่นต่อมารุ่นละ 24 คน
โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นหนึ่งในคณะแพทยศาสตร์ 7 แห่งที่อยู่ภายใต้ "โครงการผลิตแพทย์เพิ่มสู่ภูมิภาค" อันเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ดี นายแพทย์สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ของ มนร. ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์อย่างที่เกิดกับโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์โดยตรง เพราะแพทย์สาขาที่ขาดแคลน เป็นแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะด้านศัลยศาสตร์ ขณะที่นักเรียนแพทย์ที่ศึกษาในระดับอุดมศึกษา เช่น มนร. เมื่อจบมาจะเป็นแพทย์ทั่วไป ต้องส่งเสริมให้ศึกษาต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางอีก
ด้าน นาวาเอกนพดล ฐิตวัฒนะสกุล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ทางค่ายจุฬาภรณ์ได้สนับสนุนแพทย์ที่มาจากกรมแพทย์ทหารเรือมาช่วยราชการในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยเบื้องตันก่อนถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
3 มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ มนร.