เทียบคดีซุกทรัพย์สิน ‘อภินันท์’จ.แพร่ -‘ชาญณรงค์’จ.ชัยภูมิ ‘รับสารภาพ’ จุดพลิกผัน?
พลิกคำพิพากษาคดีนักการเมืองท้องถิ่นปกปิดบัญชีทรัพย์สิน กรณี‘อภินันท์’นายกเทศมนตรีแม่คำมี จ.แพร่ ถูกศาลฎีกาฯสั่งจำคุกจริง 8 เดือน ไม่รอลงโทษ เทียบ‘ชาญณรงค์’นายกฯเมืองชัยภูมิ ปฏิเสธก่อน‘รับสารภาพ’โดน 8 เดือน ให้รอลงโทษ 2 ปี จุดพลิกผัน ต่างชะตากรรม
เมื่อ 4 ส.ค.58 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเผยแพร่คำพิพากษาคดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องกล่าวหา นายชาญณรงค์ ผดุงพล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งมาแล้วครบหนึ่งปี ศาลพิพากษาให้ผู้คัดค้าน (นายชาญณรงค์)
1.พ้นจากตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมินับจากวันที่ศาลฎีกาฯวินิจฉัย
2.ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและในพรรคการเมืองใดใดเป็นเวลา 5 ปี นับจาก 9 มี.ค.55 ซึ่งเป็นวันที่พ้นจากตำแหน่งรองนายกฯซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งการยืนคำร้อง
3.จำคุกกระทงละ 4 เดือน ปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 8 เดือน และ ปรับ 20,000 บาท ผู้คัดค้านให้รับการสารภาพ มีประโยชน์ในการพิจารณาคดี มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และ ปรับ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้รับการลงโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี (คดีหมายเลขแดงที่ อม.40/2558 ลงวันที่ 22 มิ.ย.58 )
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ นายชาญณรงค์ให้การปฏิเสธ ระหว่างการพิจารณาคดีได้ถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธและให้การใหม่เป็น “รับสารภาพ”
ก่อนที่ศาลฎีกาฯจะมีคำพิพากษาข้างต้น
อย่างไรก็ตาม นับจากเดือน ม.ค. 2558 จนถึง 29 ก.ค.58 มีนักการเมือง 32 ราย (คดี) ถูกศาลฎีกาฯตัดสินจงใจไม่ยืนบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. และ กรรมการรัฐวิสาหกิจ 1 คดี รวมทั้งสิ้น 33 คดี
นายชาญณรงค์จึงเป็นนักการเมืองรายที่ 33 และถ้ารวมกรรมการรัฐวิสาหกิจด้วยก็เป็นรายที่ 34
แนวคำพิพากษาของศาลฯ กรณี ‘จงใจ’ คือ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับจากวันพ้นจากตำแหน่ง และมีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 จำคุกกระทงละ 2 เดือน ปรับกระทงละ 8,000 บาท
และในจำนวนนี้มีอยู่เพียงคดีเดียวที่ถูกจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ คือ นายอภินันท์ ตันมา นายกเทศมนตรี ต.แม่คำมี อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ ศาลฯจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ
พลิกความเป็นมาดังนี้
สืบเนื่องจากนายอภินันท์ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งล่าช้า 399 วัน โดยไม่แนบเอกสารประกอบและไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน 2 กรณี คือ กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี กับกรณีดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ต.แม่คำมี ครั้งที่ 2 เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแพร่ ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนนายอภินันท์ถึง 3 ฉบับ และยังโทรศัพท์และส่งโทรสารแจ้งนายอภินันท์ให้มายื่นบัญชีกับยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้ถูกต้องหลายครั้ง นายอภินันท์ทราบแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ยื่นเอกสารเพิ่มเติม และไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีเข้ารับตำแหน่งครั้งที่ 2
นายอภินันท์ให้การปฏิเสธ ยื่นคำคัดค้านสู้คดีในชั้นศาลฎีกาฯ ว่าไม่ได้จงใจไม่ยื่นบัญชีฯทั้ง4 กรณี
สาเหตุที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตําแหน่ง ครั้งที่ 1 ล่าช้า 69 วัน เนื่องจากผู้คัดค้านดํารงตําแหน่งนายกเทศมนตรีตําบลแม่คำมีก่อนประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กําหนดตําแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2554 มีผลใช้บังคับ ทําให้ผู้คัดค้านเข้าใจโดยสุจริตว่าประกาศดังกล่าวไม่ใช้บังคับแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งเข้ารับตําแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นก่อนแล้ว
นายอภินันท์ ให้การว่าต่อมาเมื่อทราบว่าประกาศดังกล่าวใช้บังคับแก่ผู้ที่ ดํารงตําแหน่งทางการเมืองอยู่ก่อนแล้วด้วย จึงได้รีบจัดทําบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนําไปยื่น ภายหลังเมื่อได้รับแจ้งจากสํานักงาน ป.ป.ช.ประจําจังหวัดแพร่ให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม ผู้คัดค้าน ก็ได้นําเอกสารประกอบไปยื่นเพิ่มเติมจนครบถ้วนแล้ว
สําหรับกรณีพ้นจากตําแหน่ง กรณีพ้นจากตําแหน่ง มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี และกรณีเข้ารับตําแหน่งครั้งที่ 2 ผู้คัดค้านได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมเอกสารประกอบภายในเวลาที่กฎหมายกําหนดแล้ว หลังจากยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินแล้ว ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สํานักงาน ป.ป.ช.ประจําจังหวัดแพร่ให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม ผู้คัดค้านก็ได้ยื่น เอกสารเพิ่มเติมครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกคําร้อง
องค์คณะศาลฎีกาฯวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานตามทางไต่สวนจึงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม กรณีพ้นจากตําแหน่ง และไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตําแหน่ง ครั้งที่ 2 กับกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี รวม 3 กรณี การที่ผู้คัดค้าน ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตําแหน่ง ครั้งที่ 1 กับกรณีพ้นจากตําแหน่ง โดยไม่แนบเอกสารประกอบให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกําหนด ทําให้ระบบการตรวจสอบทรัพย์สินของ ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองไม่เกิดประสิทธิภาพ ย่อมมีผลเท่ากับการไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน
เมื่อสํานักงาน ป.ป.ช.ประจําจังหวัดแพร่มีหนังสือแจ้งเตือนผู้คัดค้านถึง 3 ฉบับ และนางสาวจรินทร ทองวาส (เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.) ยังได้โทรศัพท์และโทรสารแจ้งผู้คัดค้านให้ดําเนินการให้ถูกต้องหลายครั้งด้วยกัน แต่ผู้คัดค้านกลับเพิกเฉย แสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านไม่ใส่ใจต่อหน้าที่อันสําคัญของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองที่จะต้องปฏิบัติ ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบ ซึ่งเป็นมาตรการที่กฎหมายบัญญัติ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 32 และมาตรา 33 ซึ่งมีหลักการสําคัญว่า ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องมีคุณสมบัติเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนโดยปราศจากข้อสงสัย เพื่อเป็นหลักประกัน แก่ประชาชนว่า ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะใช้อํานาจบริหารราชการตามหลักธรรมาภิบาล ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน
พฤติการณ์ดังกล่าว องค์คณะผู้พิพากษา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ผู้คัดค้านจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตําแหน่ง ครั้งที่ 1 กรณีพ้นจากตําแหน่ง กรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี และกรณีเข้ารับตําแหน่ง ครั้งที่ 2 รวม 4 กรณี ตามคําร้อง และการกระทําของผู้คัดค้านยังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119
คำพิพากษาระบุว่า
“พิเคราะห์พฤติการณ์แห่คดีแล้ว ผู้คัดค้าน เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานภาพของผู้คัดค้านจึงเป็นผู้นำชุมชน ต้องประพฤติปฏิบัติตนเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน แต่นายอภินันท์กลับละเลย ไม่ใส่ใจต่อหน้าที่อันสำคัญของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ทำให้ระบบการตรวจสอบขาดประสิทธิภาพ เป็นช่องทางให้เกิดประพฤติมิชอบและการทุจริตคอร์รัปชั่น พฤติการณ์แห่งคดี นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง และไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ” (คดีหมายเลขแดงที่ อม.14/2558)
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษา นายอภินันท์ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที
ถ้าเทียบกับคดีนายชาญณรงค์ซึ่งเกิดทีหลัง ขณะที่คดีของนายอภินันท์ มีบรรทัดฐานออกมาก่อนแล้ว หากนายชาญณรงค์ ไม่เปลี่ยนใจรับสารภาพ ยืนยันสู้คดี ทั้งที่ข้อเท็จจริง “ฟังไม่ขึ้น”
ไม่รู้ว่าชะตากรรม จะเป็นเช่นไร?
อ่านประกอบ:
พ้นตำแหน่งทันที!รองนายกฯ จ.ชัยภูมิ‘ซุกทรัพย์สิน’ ศาลฎีกาฯรอลงโทษจำคุก2ปี
ส่งตัวเข้าเรือนจำ!นายก ทต.แม่คำมี จ.แพร่ ไม่ยื่นทรัพย์สิน ศาลฎีกาสั่งจำคุก 8 เดือน
ศาลฎีกาฯจำคุก 3 นักการเมือง จ.สุราษฎร์ฯ จงใจซุกทรัพย์สิน รอคิวนับสิบ