รพ.นราธิวาสฯวิกฤติ! ขาดแคลนหมอรับมือเหยื่อไฟใต้
"...คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิง...เหตุเกิดบ้านบือแนนากอ หมู่ 6 ต.ตะมะยูง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ส่ง รพ.ศรีสาคร และถูกส่งตัวไปยัง รพ.ศูนย์ยะลา เนื่องจาก รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ ***ไม่มีหมอ"
นี่คือข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งกันทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้สื่อสารกันภายใน หลังเกิดเหตุคนร้ายยิง นางสาวชนนิกานต์ แดงน้อย สมาชิกอาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน หรือ อรบ. และ นางสาวบุญตา แดงน้อย ซึ่งเป็นญาติกัน ได้รับบาดเจ็บในพื้นที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา
ข้อมูลที่ปรากฏชี้ให้เห็นว่า แม้เหตุรุนแรงจะเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส แต่เจ้าหน้าที่กลับต้องส่งผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นคนละจังหวัดกัน เนื่องจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ที่เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดนราธิวาสนั้น ไม่มีแพทย์สำหรับช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บจากเหตุฉุกเฉินต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งเกิดขึ้นรายวัน
เหตุรุนแรงอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมเช่นกัน คือ เหตุคนร้ายลอบวางระเบิดทหารนาวิกโยธินชุดรักษาความปลอดภัยเส้นทาง หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ปรากฏว่า พลทหารพัสกร บุญมาพร อายุ 22 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสจากสะเก็ดระเบิด ถูกส่งมายังโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ แต่แล้วก็ต้องถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ซึ่งแม้จะอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกัน แต่อยู่ห่างออกไปถึง 100 กิโลเมตร เนื่องจากแพทย์ทหารจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าที่ถูกส่งมาช่วยงานที่โรงพยาบาลเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีขาดแคลนแพทย์ ถึงเวรพักพอดี และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พลทหารพัสกร เสียชีวิตในเวลาต่อมา
นายแพทย์บรรจง เหล่าเจริญสุข รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ยอมรับว่า โรงพยาบาลกำลังประสบปัญหาคลาดแคลนแพทย์จริง โดยเฉพาะศัลยแพทย์ทั่วไป ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับการรักษาผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดช่วยชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบซึ่งนับเป็นเหตุฉุกเฉิน ทำให้ปัจจุบันโรงพยาบาลต้องส่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปรักษาที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก หรือโรงพยาบาลศูนย์ยะลา โรงพยาบาลปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี หรือแม้แต่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ทั้งนี้ โรงพยาบาลขนาดใหญ่แต่ละแห่งที่ นายแพทย์บรรจง เอ่ยชื่อมา ล้วนอยู่ห่างจากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์กว่า 100-200 กิโลเมตรทั้งสิ้น
นายแพทย์บรรจง กล่าวต่อว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลได้พยายามแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นได้รับความช่วยเหลือจากกรมแพทย์ทหารบก ด้วยการจัดส่งแพทย์ด้านศัลยแพทย์ 1 คนจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร มาประจำที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เดือนละ 3 สัปดาห์ แต่ก็ยังมีช่องว่างทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่แพทย์ถึงเวรพัก
ส่วนระยะยาว ทางโรงพยาบาลได้จัดส่งแพทย์ไปศึกษาต่อด้านศัลยแพทย์ทั่วไป จำนวน 3 คน โดยอีก 3 ปีข้างหน้าจะกลับมาเป็นแพทย์ประจำในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ได้ในอนาคต
สำหรับโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์นั้น เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีเตียงรองรับผู้ป่วย 427 เตียง มีแพทย์ประจำโรงพยาบาล 40 คน มีแพทย์ด้านศัลยกรรมประสาท 1 คน ศัลยกรรมกระดูกและข้อ 2 คน ซึ่งหากมีผู้ป่วยด้านศัลยกรรมที่ไม่เร่งด่วน ก็จะให้แพทย์กลุ่มนี้เป็นผู้ดูแลเพื่อทำการรักษาในขั้นต้น ส่วนกลุ่มผู้ป่วยเร่งด่วน ทางโรงพยาบาลจำเป็นต้องส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า โดยสาเหตุสำคัญของการขาดแคลนแพทย์ คือ แพทย์ต้องการย้ายกลับภูมิลำเนา หรือบางส่วนก็ไม่อยากทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นานเกินไป
นายแมะซง กาเล็ง ชาวบ้านจากอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ทราบมาตลอดว่าโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ประสบปัญหาขาดแคนแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ด้านศัลยแพทย์ทั่วไป จึงใช้วิธีไปหาหมอที่คลินิกซึ่งมีเครื่องมือพร้อมตลอด แม้จะเสียเงินก็ยอม เพราะสะดวกทั้งเรื่องเวลาที่ไม่ต้องรอนาน และสะดวกในเรื่องของความมั่นใจที่มีต่อเครื่องมือเครื่องไม้ต่างๆ
"ไปโรงพยาบาลนราธิวาสฯต้องใช้เวลานานสำหรับการรอ แต่เมื่อได้เข้าพบหมอจริงๆ หมอกลับใช้เวลาไม่นานในการตรวจ เพราะมีคนป่วยที่รอคิวอีกยาว ทำให้หมอไม่มีเวลาพอในการตรวจผู้ป่วยอย่างละเอียด เราในฐานะผู้ป่วยก็รู้สึกไม่มั่นใจเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ คือรอนาน แต่พอได้ตรวจ กลับใช้เวลาเพียงสั้นๆ ทั้งที่เราป่วยมาไม่รู้เป็นอะไร เมื่อตรวจไม่ละเอียดย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพเรา"
"จริงอยู่ไปโรงพยาบาลนราธิวาสฯไม่ต้องเสียเงิน แต่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกต้องเสียเงิน บางครั้งต้องเสียมากกว่าที่จำเป็น แต่เมื่อเทียบกับความมั่นใจ ถือว่าคุ้มกว่าไปของฟรี" ชาวบ้านจากอำเภอระแงะ กล่าว
นายแมะซง บอกด้วยว่า ถ้าโรงพยาบาลมีแพทย์พร้อม และเครื่องมือพร้อม การรักษาก็จะมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ก็อยากขอให้รัฐบาลส่งแพทย์และเครื่องมือมาให้โรงพยาบาลรัฐในพื้นที่เยอะๆ เพราะประโยชน์จะตกกับประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ ก็จะได้รับการรักษาที่รวดเร็วและอาจช่วยชีวิตพวกเขาได้ดีกว่าในปัจจุบัน
"เท่าที่เห็นมีอยู่บ่อยๆ เมื่อเกิดเหตุในพื้นที่ แล้วต้องมีการส่งต่อไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาลอื่นที่มีเครื่องมือพร้อมกว่า ทำให้เสียเวลา ทั้งๆ ที่นาทีเดียวถ้าเราช่วยชีวิตเขาได้ทันท่วงที เขาอาจรอด แต่เมื่อต้องส่งต่อผู้บาดเจ็บ การรักษาก็ขาดช่วง ทำให้เกิดการสูญเสียตามมา" นายแมะซง ระบุ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
2 พิธีรดน้ำศพ พลทหารพัสกร บุญมาพร ที่วัดโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส (ภาพโดย ปทิตตา หนูสันทัด)
3 การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ เกิดขึ้นบ่อยๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาพจากเจ้าหน้าที่)
4 บรรยากาศภายในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์