ชำแหละงบป้องกันยาเสพติด2 พันล.! อปท.แห่ติดกล้อง CCTV ชำรุดเพียบ
"...กำกับดูแลหรือสั่งการให้ อปท. ดำเนินการตรวจรับครุภัณฑ์ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV)ให้เป็นไปตามจำนวน และรายการที่กำหนดไว้ในสัญญาทุกรายการอย่างเคร่งครัด สำหรับกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งแล้วไม่สามารถใช้งานได้ หรือชำรุดเสียหาย ดำเนินการแจ้งผู้รับจ้างให้ดำเนินการซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติก่อนที่จะสิ้นสุดการประกันตามสัญญาท้องถิ่นจังหวัด..."
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
โดยระบุว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 มุ่งเน้นให้สังคมมีส่วนร่วมในการป้องกันภัยจากปัญหายาเสพติด เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก ได้แก่ ลดปัญหายาเสพติดในชุมชนโดยนำผู้ติด/ผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาให้มากที่สุด เฝ้าระวังและติดตาม ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดให้มีอาชีพ การงาน การศึกษา และไม่กลับไปมีพฤติการณ์ซ้ำ คนในชุมชนมีความปลอดภัยจากยาเสพติดและอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถเฝ้าระวังและป้องกันยาเสพติดได้
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 รัฐบาลได้จัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวนเงิน 2,660.42 ล้านบาท เพื่อใช้ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จากผลการตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดกำแพงเพชร พบประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกตสรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบ : การดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด
1. กิจกรรมการบำบัด ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
1.1 อปท. ดำเนินกิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ไม่เป็นไปตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนด โดยในพื้นที่ 6 จังหวัด มีอปท. จำนวน 495 แห่ง มีการจัดกิจกรรมการบำบัด ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอำเภอ (ศพส.อ.) และศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัด (ศพส.จ.) ร้อยละ 66.92 จังหวัดนครสวรรค์ มีหมู่บ้านที่มีปัญหา ยาเสพติดรุนแรง จำนวน 15 แห่ง มี อปท. เพียง 2 แห่ง ที่ดำเนินการจัดกิจกรรมการบำบัด ฟื้นฟูภายในระยะเวลาที่กำหนด (มกราคม 2556) และไม่จัดบำบัด ฟื้นฟู เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน 1แห่ง ได้แก่ อบต. หนองกระโดน จังหวัดกำแพงเพชร มีหมู่บ้านที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง จำนวน 11แห่ง ไม่มี อปท. ใดจัดกิจกรรมการบำบัด ฟื้นฟู ภายในกำหนดเวลา (มกราคม 2556) และมี อปท. จำนวน 1 แห่ง คือ อบต. หนองหลวง อำเภอลานกระบือ ไม่ดำเนินการบำบัด ฟื้นฟู เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด
1.2 อปท. จัดกิจกรรมการบำบัด ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดให้กับบุคคลผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด พบว่า จังหวัดนครสวรรค์ ดำเนินการจัดกิจกรรมการบำบัด ฟื้นฟูโดยนำบุคคลอื่นที่นอกเหนือจากแนวทางที่กำหนดเข้าบำบัดจำนวน 4 อำเภอ คือ เมืองนครสวรรค์ ชุมตาบง พยุหะคีรีและหนองบัว คิดเป็นร้อยละ 44.33 ซึ่งอำเภอเมืองนครสวรรค์มีจำนวนมากที่สุดคือร้อยละ 68.49 และมีการนำบุคคลที่เคยผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดมาดำเนินการบำบัด ฟื้นฟูในรูปแบบค่ายสมัครใจ ร้อยละ32.54 จังหวัดกำแพงเพชร ไม่ดำเนินการจัดกิจกรรมการบำบัด ฟื้นฟู จำนวน 1 อำเภอ คือ ลานกระบือและมี 4 อำเภอ คือ คลองลาน เมืองกำแพงเพชร โกสัมพีนคร และขาณุวรลักษบุรี ที่มีการนำบุคคลอื่นที่นอกเหนือจากแนวทางที่กำหนดเข้ารับการบำบัด คิดเป็นร้อยละ 28.65 ซึ่งอำเภอขาณุวรลักษบุรี มีจำนวนมากที่สุดถึงร้อยละ 63.59
1.3 การจัดกิจกรรมการบำบัด ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กำหนด โดย อปท. ที่จัดโปรแกรมการฟื้นฟูฯ น้อยกว่า 9 วัน 8 คืน พบในจังหวัดนครสวรรค์ ร้อยละ 22.03 และจังหวัดกำแพงเพชร ร้อยละ 8.33 นอกจากนี้ อปท. ในพื้นที่ทั้งสองจังหวัด ไม่มีการนำพ่อแม่หรือผู้ปกครองของกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมของค่ายฯ แต่อย่างใด สำหรับด้านการติดตามประเมินผลพบว่า จังหวัดนครสวรรค์ ไม่มีการประเมินผลการตรวจปัสสาวะ ร้อยละ 20.90 จังหวัดกำแพงเพชรไม่มีการประเมินผลการตรวจปัสสาวะ ร้อยละ 19.66 และทั้งสองจังหวัดไม่มีการประเมินพฤติกรรมในทางบวก และไม่มีการจัดตั้งชมรมและเครือข่ายสำหรับให้ข้อมูลด้านการเฝ้าระวัง ติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดไม่ให้หวนกลับมาเสพยาอีก
1.4 การติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด ฟื้นฟูฯ ไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดจากการตรวจสอบพบว่า จังหวัดนครสวรรค์ มีผู้ผ่านการบำบัด ฟื้นฟู แต่ไม่บันทึกข้อมูลในระบบบสต. ร้อยละ 20.34 จังหวัดกำแพงเพชร มีผู้ผ่านการบำบัด ฟื้นฟู แต่ไม่บันทึกข้อมูลในระบบ บสต.ร้อยละ 19.39
2. กิจกรรมการฝึกอบรมอาชีพ ให้กับผู้ติด/ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดแล้ว
2.1 อปท. ดำเนินการจัดกิจกรรมฝึกอบรบอาชีพให้กับผู้ติด/ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดแล้ว ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยในพื้นที่ 6 จังหวัด มี อปท. ที่จัดกิจกรรมการบำบัด ฟื้นฟูแล้ว แต่มิได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมอาชีพ ร้อยละ 67.68 และจำนวนบุคคลที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟู แต่มิได้รับการฝึกอบรมอาชีพ ร้อยละ 68.52
2.2 การจัดกิจกรรมฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้ติด/ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดแล้ว ไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด โดย อปท. ที่ตรวจสอบทั้งหมดในจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 25 แห่งและจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 23 แห่ง มีการจัดกิจกรรมฝึกอบรมอาชีพ โดยไม่มีการสำรวจ ความต้องการงานและอาชีพของผู้เข้ารับการบำบัด ฟื้นฟู เพื่อให้การฝึกอบรมอาชีพตรงและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ที่ผ่านการบำบัด ฟื้นฟูแต่อย่างใด
3. กิจกรรมการป้องกันและเฝ้าระวัง
3.1 การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) และก่อสร้างลานกีฬาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย พบว่ามี อปท. ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้รับจัดสรรงบประมาณ เพื่อติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 60 แห่ง มีเพียง 3 แห่งที่มีการดำเนินการแล้วเสร็จ ส่วน อปท. จำนวน 50 แห่ง ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และยังไม่ดำเนินการจำนวน 7 แห่ง สำหรับการก่อสร้างลานกีฬามี อปท. ได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งหมด จำนวน 18 แห่งโดยมี เป้าหมายที่ต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2556 พบว่า ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ 17 แห่ง ยังไม่ดำเนินการ 1 แห่ง ซึ่งทุกแห่ง ณ เดือน ธันวาคม 2556 ไม่มีการเบิกจ่ายเงินเพื่อใช้ดำเนินการตามโครงการก่อสร้างแต่อย่างใด
3.2 การดำเนินกิจกรรมการป้องกันและเฝ้าระวังโดยการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) และก่อสร้างลานกีฬาไม่เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
3.2.1 การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) จังหวัดนครสวรรค์ พบว่าการประมาณราคาระบบกล้องวงจรปิดไม่เป็นไปตามราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ปี 2556 และเกณฑ์ราคากลางและคุณลักษณะพื้นฐานครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ประจำปี พ.ศ. 2556 จำนวน 4 แห่ง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนเงินรวม 26,478.00 บาท การตรวจรับครุภัณฑ์ของระบบกล้อง CCTV ไม่ครบถ้วน จำนวน 1 แห่ง ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 128,400.00 บาท
นอกจากนั้นจากการสังเกตการณ์การติดตั้งกล้อง CCTV ของ อปท. 4 แห่ง พบว่า ไม่สามารถใช้งานได้จำนวน 18 ตัว คือไม่สามารถแสดงภาพเพื่อบันทึกเหตุการณ์ หรือเรียกดูเหตุการณ์ย้อนหลังได้ มูลค่าความเสียหายจำนวน 1,446,375.00 บาท โดยทั้งหมดมีอายุการใช้งานเพียงไม่ถึง 1 ปี จังหวัดกำแพงเพชร พบว่า มีการ
ประมาณราคาสูงกว่าราคามาตรฐานครุภัณฑ์ทำให้เกิดความเสียหาย จำนวน 3 แห่ง เป็นจำนวนเงินรวม 126,879.00 บาท ดำเนินการตรวจรับไม่ครบถ้วนจำนวน 4 แห่ง ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นจำนวนเงิน 189,925.00 บาท นอกจากนั้นจากการสังเกตการณ์การติดตั้งกล้อง CCTV ของ อปท. จำนวน7 แห่ง พบว่า ไม่สามารถใช้งานได้รวมจำนวน 18 ตัว คิดเป็นมูลค่าที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นเงิน จำนวน 837,168.00 บาท โดยทั้งหมดมีอายุการใช้งานไม่ถึง 1 ปี
3.2.2 การก่อสร้างลานกีฬาโดยการก่อสร้างสนามฟุตซอล พบว่า จังหวัดนครสวรรค์มีจำนวน 3 แห่ง ที่ก่อสร้าง แล้วเสร็จ สามารถใช้งานได้ จังหวัดกำแพงเพชร สนามฟุตซอลแบบใช้พื้นยางสังเคราะห์ จำนวน 5 แห่ง ชำรุดเสียหาย ทั้งที่เพิ่งได้ดำเนินการตรวจรับและใช้ประโยชน์ได้เพียง 4 – 6 เดือน
ข้อสังเกตอื่น : เบิกจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องจังหวัดนครสวรรค์
มี อปท. ที่จัดกิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแต่ไม่มีเอกสารประกอบการเบิกจ่ายให้ตรวจสอบ จำนวน 2 แห่ง เป็นเงินจำนวน 525,300.00 บาท เบิกจ่ายเกินกว่า
อัตราที่ระเบียบฯ และหนังสือสั่งการกำหนด จำนวน 31 แห่ง เป็นเงิน 198,375.00 บาท มี อปท. จำนวน 10 แห่งดำเนินการจัดฝึกอบรมบำบัด ฟื้นฟูฯ ไม่ครบตามหลักสูตรจำนวน 9 วัน แต่ทำการเบิกจ่ายเงินจำนวน 9 วัน ทำให้การเบิกจ่ายค่าอาหาร ค่าเช่าที่พักและค่าสมนาคุณวิทยากรสูงไป รวมเป็นเงิน 261,005.00 บาท เบิกจ่ายไม่เป็นไปตามหนังสือสั่งการ จำนวน 5 แห่ง เป็นเงิน 124,490.00 บาทเบิกจ่ายไม่เหมาะสมจำนวน 7 แห่ง เป็นเงิน 169,480.00 บาท และส่งคืนเงินเหลือจ่ายเกินระยะเวลา15 วันทำการ จำนวน 45 แห่ง เป็นเงินจำนวน 2,817,382.00 บาท นอกจากนี้การจัดกิจกรรมฝึกอบรมอาชีพให้กับ ผู้ติด/ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดแล้ว พบว่า เบิกจ่ายเกินกว่าอัตราที่ระเบียบและหนังสือสั่งการกำหนด จำนวน 6 แห่ง เป็นเงิน 78,275.00 บาท
จังหวัดกำแพงเพชร มี อปท. เบิกจ่ายเกินกว่าอัตราที่ระเบียบฯ และหนังสือสั่งการกำหนดจำนวน 17 แห่ง เป็นเงินจำนวน 79,350.00 บาท เบิกจ่ายไม่เหมาะสมจำนวน 1 แห่ง เป็นเงิน7,500.00 บาท และส่งคืนเงินเหลือจ่ายเกินระยะเวลา 15 วันทำการ จำนวน 13 แห่ง เป็นเงิน679,500.00 บาท นอกจากนี้การจัดกิจกรรมฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้ติด/ผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดแล้ว พบว่า เบิกจ่ายเกินกว่าอัตราที่ระเบียบฯ และหนังสือสั่งการกำหนด จำนวน 5 แห่ง เป็นเงิน
1,600.00 บาท
ข้อเสนอแนะ (Recommendation)
เพื่อให้การดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของ อปท. บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
ผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัด
1. ต้องให้ความสำคัญในการกำหนดจำนวนเป้าหมายผู้ที่จะเข้ารับการบำบัด ฟื้นฟู
ตามสถานการณ์จริงของพื้นที่ โดยการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ค้นหากลุ่มเป้าหมายและจัดทำทะเบียนข้อมูลและส่งต่อให้ อปท.
2. ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการจัดทำค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำการประเมินผลการดำเนินงานการจัดทำค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่ก่อนจัดทำโครงการ ระหว่างที่ดำเนินโครงการ และสิ้นสุดโครงการ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ ด้านการทบทวนสถานะการจัดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระดับอำเภอตามแนวคิด 1 อำเภอ 1 ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมว่าควรมีการดำรงอยู่หรือไม่อย่างไร ที่ใดควรยกเลิก ที่ใดควรดำเนินการต่อ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานมีการใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าหรือเกิดประโยชน์สูงสุด
3. ควรมีการควบคุม ตรวจสอบ หน่วยงานต่างๆ ที่มีการบูรณาการร่วมกันในเขตพื้นที่ ให้มีการปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีความเข้าใจบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน จัดทำข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน มีการรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นระยะ เพื่อให้สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องศึกษาระเบียบ คำสั่ง หนังสือสั่งการหลักเกณฑ์และแนวทางต่างๆ เพื่อให้การดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้
4. สำหรับการจัดทำโครงการในโอกาสต่อไปให้กำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการจัดกิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูฯ จัดเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร วิทยากร สถานที่ให้เพียงพอและเหมาะสมรวมถึงให้กำหนดระยะเวลาการจัดทำค่ายไม่ให้กระทบกับภารกิจงานประจำของวิทยากรหลักเพื่อให้การจัดกิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
5. สำหรับการจัดทำค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ ผอ.ศพส.จ.กำชับให้มีการดำเนินการตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเรื่องการนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และการประเมินเป็นผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู พ.ศ. 2557ข้อ 7 และข้อ 8
6. กำกับดูแลหรือสั่งการให้ อปท. ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในปีถัดไป ติดตามข้อมูลราคาและคุณสมบัติเฉพาะ (Specification) ของระบบกล้องวงจรปิดที่เป็นมาตรฐานกลาง จากเว็บไซต์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นระยะ สำหรับสนามฟุตซอลให้พิจารณาทบทวนว่าควรใช้พื้นสนามชนิดใดในการก่อสร้างสนามฟุตซอล แบบกลางแจ้ง จึงจะมีความคงทนต่อการใช้งานและเกิดความคุ้มค่าสูงสุด
7. กำกับดูแลหรือสั่งการให้ อปท. ดำเนินการตรวจรับครุภัณฑ์ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV)ให้เป็นไปตามจำนวน และรายการที่กำหนดไว้ในสัญญาทุกรายการอย่างเคร่งครัด สำหรับกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งแล้วไม่สามารถใช้งานได้ หรือชำรุดเสียหาย ดำเนินการแจ้งผู้รับจ้างให้ดำเนินการซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติก่อนที่จะสิ้นสุดการประกันตามสัญญาท้องถิ่นจังหวัด
-เร่งรัดให้หน่วยงานที่เบิกจ่ายเงินไม่เป็นไปตามระเบียบฯ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวนำเงินส่งคืนคลังจังหวัดให้ครบถ้วนโดยเร็ว
-ควรมีการควบคุม ตรวจสอบ อปท.ที่อยู่ในเขตพื้นที่ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณ และการรายงานผลการปฏิบัติงานมีความเป็นปัจจุบันเพื่อให้สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกเทศมนตรี/นายกองค์การบริหารส่วนตำบล
1. ในฐานะเจ้าของพื้นที่ควรมีทะเบียนกลุ่มเป้าหมายไว้เพื่อทราบปัญหาเป็นภาพรวม และสามารถวัดผลการดำเนินโครงการและผลสำเร็จของโครงการได้
2. รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ชุมชนเข้าใจถึงประโยชน์ของการร่วมกิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูเพื่อให้ได้รับความร่วมมือในการดำเนินโครงการ
3. สำรวจความต้องการฝึกอบรมอาชีพก่อนจบหลักสูตรค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อนำมาวางแผนการกำหนดหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพต่อไป
4. สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สำหรับให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพแล้วได้เข้าร่วมพัฒนาทักษะทางอาชีพ รวมถึงการเสริมสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนให้กับผู้เสพ/ ผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการบำบัด ฟื้นฟู
5. ให้ติดตามประเมินผลถึงผลสัมฤทธิ์หรือการนำทักษะและความชำนาญที่ได้รับจากการฝึกอบรมอาชีพไปใช้หลังผ่านการอบรมแล้วว่ามีประสิทธิผลหรือนำไปใช้ได้จริงมากน้อยเพียงใดเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนและปรับปรุงการดำเนินงานการฝึกอบรมอาชีพให้กับผู้ผ่านการบำบัดในรุ่นต่อไป
6. มีคำสั่งมอบหมายงานให้ชัดเจนและติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบพร้อมทั้งควบคุมกำกับดูแล และให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามระเบียบและหนังสือสั่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณได้รับประโยชน์สูงสุด เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการและแนวทางที่กำหนด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google