เครือข่ายตะวันออกค้านผังเมืองระยองเอื้อขยายอุตฯ ไม่สอดคล้องแผนคุมมลพิษ
เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกยื่นหนังสือกรมโยธาฯ ค้านผังเมืองระยอง หนุนขยายอุตสาหกรรม กระทบพื้นที่เกษตร-อนุรักษ์ชนบท ชี้ไม่สอดคล้องกับแผนควบคุมมลพิษ ด้านรองอธิบดีฯ ยันเป็นกฎหมายคนละฉบับ
วันที่ 7 สิงหาคม 2558 เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก โดยตัวแทนจากพื้นที่มาบตาพุด บ้านแลง บ้านค่าย พร้อมสภาองค์กรชุมชนป่ายุบใน อ.วังจันทร์ เครือข่ายชาวบ้านตำบลนาตาขวัญ อ.เมือง และเครือข่ายชาวบ้านตำบลกระแสบน อ.แกลง จังหวัดระยอง กว่า 40 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมจังหวัดระยอง ต่อนายโอฬาร ศักยโรจน์กุล รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เนื่องจากเป็นร่างกฎกระทรวงที่สนับสนุนให้เกิดการขยายอุตสาหกรรมได้อีกหลายหมื่นไร่ในพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์ชนบท และพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ในขณะที่ปัญหามลพิษเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข
นายบุญยิ่ง วงษ์ลิขิต ตัวแทนกลุ่มคนบ้านค่ายรักษ์บ้านเกิด เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกในพื้นที่อำเภอบ้านค่าย ตั้งคำถามว่า เหตุใดร่างผังจังหวัดระยองจึงกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมท่ามกลางพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม อีกทั้งกำหนดแนวเขตพื้นที่อุตสาหกรรม (สีม่วง) โดยใช้แนวเขตโฉนดที่ดินของเอกชนเพียงบางราย แต่กลับไม่สนใจโฉนดที่ดินของเกษตรกรจำนวนมากที่ทำกินในพื้นที่โดยรอบ
ด้านนายอุดม ศิริภักดี ตัวแทนกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านแลง เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกในพื้นที่ตำบลบ้านแลง กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างผังเมืองรวมจังหวัดระยองกำหนดให้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้แม้กระทั่งในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ขาวแทยงเขียว) ซึ่งปัจจุบัน เป็นแหล่งต้นน้ำที่ใช้ผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภคของชาวบ้าน 6,000 กว่าคนในตำบลบ้านแลง และยังเป็นแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับพื้นที่เกษตรอีกนับหมื่นไร่
ขณะที่นายเจริญ เดชคุ้ม ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาบตาพุด เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกในพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด กล่าวว่า กังวลเนื้อหาในผังเมืองรวมจังหวัดระยองสวนทางกับ “ผังสุขภาวะ” ที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่แล้วและผ่านการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบจนเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 หลังจากใช้งบประมาณหลายพันล้านในการวางแผนลดและขจัดมลพิษ หลังคำพิพากษาศาลปกครองเมื่อปี 2552
ตัวอย่างเช่น ข้อสรุปจากการเจรจาระหว่างประชาชน นักวิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชน ตามร่างผังปี 2555 ที่ระบุให้พื้นที่ตำบลห้วยโป่งเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เนื่องจากอุตสาหกรรมได้รุกเข้ามาประชิดพื้นที่อยู่อาศัยจนสร้างความเดือดร้อนทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แต่ในร่างผังเมืองรวมจังหวัดระยอง กลับกำหนดให้ตำบลห้วยโป่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม (สีม่วง) อีกทั้งยังกำหนดให้สร้างอุตสาหกรรมได้ทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษรุนแรง เช่น โรงถลุงเหล็ก โรงงานผลิตสารเคมี โรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม นายโอฬาร ศักยโรจน์กุล รองอธิบดีกรมโยธาธิการเเละผังเมืองกล่าวภายหลังรับข้อร้องเรียนเพื่อส่งต่อให้สำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระยองว่า กรมได้ประกาศผังจังหวัดไปแล้ว 26 จังหวัด และกำลังเร่งประกาศผังจังหวัดในระยองและจังหวัดอื่น ๆ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2558 เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล ส่วนข้อร้องเรียนว่าผังเมืองรวมจังหวัดเอื้อให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นได้โดยมีแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดเมื่อปี 2552 นั้น ยืนยัน “เป็นกฎหมายคนละฉบับ”
“ไม่ใช่ว่าประกาศกฎกระทรวงแล้วโรงงานจะขึ้นทันที ยังมีกฎหมายอื่นอีก เช่น อีเอชไอเอ [มาตรการวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม]” นายโอฬารกล่าว
นางสาวนิชา รักพานิชมณี นักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ผังจังหวัดระยองกลับส่งเสริมการขยายอุตสาหกรรมอย่างไร้การควบคุม อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดพื้นที่กันชนระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน ตรงกันข้าม กลับใช้พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตร และพื้นที่อนุรักษ์เป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างไม่จำกัด เป็นการกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมตามความต้องการของภาคเอกชน ไม่ใช่ตามหลักวิชาการ
ทั้งนี้ จากข้อมูลการเข้ารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองพบว่า ประชาชนใน จ.ระยองเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจมากเป็นอันดับ 1 และมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าคนในพื้นที่มาบตาพุดมีอัตราการเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าภาพรวมของประเทศ แม้นักวิชาการจะไม่ยืนยันว่าอัตราการเป็นมะเร็งที่สูงผิดปกติเชื่อมโยงกับมลพิษอุตสาหกรรม แต่ข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ ตั้งแต่ปี 2550-2557 ยังคงพบสารก่อมะเร็งหลายชนิดในปริมาณเข้มข้นสูงเกินมาตรฐาน เช่น สาร 1,3 บิวตาไดอีน ซึ่งมีแหล่งกำเนิดหลักจากโรงกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
สุดท้ายนางภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมือง เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ระบุว่าการกำหนดแนวเขตพื้นที่อุตสาหกรรมตามโฉนดที่ดินของผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในการจัดทำผังเมือง และไม่สอดคล้องกับหลักวิชาการ
“ผังเมืองเป็นการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ต้องยึดหลักเจตนารมณ์ให้เกิดสุขลักษณะ ความปลอดภัย คุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่ประชาชนจะดำรงชีวิตประกอบอาชีพได้ ไม่ใช่เอาโฉนดที่ดินและความต้องการลงทุนของเอกชนเจ้าของที่ดินมากำหนดตอบสนองเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ถ้าใช้หลักคิดเช่นนี้ จะยิ่งทำให้เกิดการกว้านซื้อ เก็งกำไร แล้วเอาความต้องการของเอกชนมาใช้กลไกรัฐตอบสนอง จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม” นักวิชาการผังเมือง กล่าว