ชาวหนองคายวอนผู้ว่าฯ เปิดเวทีให้ข้อมูลเขต ศก.พิเศษตัดสินใจร่วมพัฒนายั่งยืน
สภาองค์กรชุมชน จ.หนองคาย หวั่นพิษเขตเศรษฐกิจพิเศษทำชุมชนเสียผลประโยชน์ ร้องผู้ว่าฯ จัดเวทีประชุมข้อมูลทุกพื้นที่ สร้างเเผนงานดำเนินงานร่วม
วันที่ 6 สิงหาคม 2558 ณ ห้องประชุมธิดารัตน์ โรงแรมไทย-ลาวริเวอร์ไซด์ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ประชาชนชาวหนองคายราว 140 คน จากสภาองค์กรชุมชนตำบลต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมสภาองค์กรชุมชนจังหวัดหนองคาย ครั้งที่ 2/2558 โดยมีหัวข้อการประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์เชิงนโยบาย ปัจจัยคุกคามคนลุ่มน้ำโขง อาทิ ประเด็นของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง โครงการผันน้ำ เหมืองแร่โปแตช โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการประชุมผู้นำชุมชนจากตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดหนองคาย จำนวน 54 ตำบล ได้นำเสนอผลการดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการประชุมช่วงเช้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเเละทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 10 นาย เข้ามาในห้องประชุม และใช้กล้องโทรศัพท์มือถือบันทึกภาพผู้เข้าร่วมกิจกรรม
โดยขอตรวจดูเอกสาร และขอพบคณะผู้จัดงานในขณะที่วงเสวนาบนเวทีกำลังดำเนินอยู่ ก่อนเชิญผู้ร่วมเสวนาบางคนออกไปคุยนอกห้องประชุม ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารบางส่วนได้กลับออกไป โดยอนุญาตให้การประชุมดำเนินต่อไปได้ แต่ให้เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 2 นายอยู่ร่วมเพื่อบันทึกการประชุม
นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่าการประชุมนี้จัดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับฟังความเห็นของสภาองค์กรชุมชนตำบล โดยสภาฯ จังหวัดหนองคาย มีข้อกังวลและข้อเสนอ ดังนี้
1. โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยังขาดข้อมูลข่าวสารว่าชุมชน 13 ตำบลที่ถูกประกาศจะได้รับหรือเสียประโยชน์อย่างไร
2. มีข้อกังวลต่อโครงการโรงไฟฟ้าขยะ นิคมอุตสาหกรรม ที่ตำบลโพนสว่าง อำเภอเมือง
3. เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเวทีประชุมให้ข้อมูลในประเด็นดังกล่าวทุกพื้นที่ เพื่อร่วมกันตัดสินใจในการวางแผนการพัฒนาจังหวัดหนองคายอย่างยั่งยืน
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อีสาน กล่าวถึงกรณีของเหมืองแร่โปแตชว่า การขออนุญาตสำรวจเป็นสิทธิของบริษัท แต่หากมันกระทบสิทธิชาวบ้าน เราก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องขอตรวจสอบข้อมูลได้ ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ นั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นมาก การจัดเวทีลักษณะนี้ก็เพราะมีความคิดเห็นแตกต่างกัน แนวคิดเรื่องการพัฒนาแตกต่างกัน และเราไม่ได้จะด่าใคร เรายินดีที่จะพูดคุย แต่ถ้าผู้นำคิดผิด มองผิดไปแล้วมันก็ยากที่จะพูดคุยกัน
ขณะที่นางธัญญา ตันตระกูล ประชาชนจากตำบลโพนสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย กล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ซึ่งจะตั้งในชุมชนว่า หน่วยงานใช้เวลานานมากกว่าจะให้ข้อมูลเรา ชาวบ้านต้องดิ้นรนเข้าไปขอผังเมืองมาศึกษาเอง เมื่อไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ แล้วประชาชนอย่างเราจะรับมืออย่างไร
สุดท้ายนายกระสันต์ ปานมีศรี ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลเวียงคุก กล่าวถึงสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือ การปกปิดข้อมูลความเจริญหรือการพัฒนาที่จะเข้ามาสู่จังหวัดหนองคาย ในขณะที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อส่งแวดล้อมและชุมชนกลับไม่มีการศึกษาและ พิจารณาอย่างรอบคอบ