รธน.ฉบับปฏิรูป ผุดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
ถือเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย ที่มีการบัญญัติให้องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคสามารถดำเนินการฟ้องร้องเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ รวมไปถึงคดีผู้บริโภคแบบกลุ่ม หรือที่เรียกว่า class action ซึ่งเป็นการดำเนินคดีที่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายเหมือนๆกัน มารวมตัวกันเพื่อฟ้องคดีให้มีการเยียวยาความเสียหาย ซึ่งเป็นความเสียหายจากการกระทำที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน
โดยองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคสามารถทำหน้าที่เป็นโจทก์ ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นรูปแบบที่แพร่หลายในประเทศที่มีความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่าง สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูประบุว่า “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเสนอทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้และทักษะที่จำเป็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนดำเนินคดีที่เป็นประโยชน์สาธารณะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ในเรื่องนี้ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า การฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถือเป็นประเด็นใหม่ที่เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นความก้าวหน้าของร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
โดยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่เกิดข้อถกเถียงกันในการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ ฉบับปี 2550
“การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะประชาชน ในฐานะผู้บริโภคมีสิทธิดำเนินการฟ้องร้องประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของสาธารณะได้ ไม่ว่าจะเป็น กรณีการขึ้นค่า โทลเวย์ ขึ้นค่าทางด่วน กรณีจอดำ การวางท่อส่งก๊าซและราคาพลังงาน สิ่งเหล่านี้ประชาชนสามารถดำเนินการฟ้องร้องได้หมดเพราะอยู่ในฐานะผู้เสียหาย”
แต่ต่างไปจากเดิม เช่นในกรณีที่ประชาชนไม่ได้อยู่ในฐานะผู้เสียหายในประโยชน์สาธารณะด้วย เช่น ในคดีท่อก๊าซของ ปตท. ที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาคดี ให้ผู้ถูกฟ้องร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน สิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท. ซึ่งผู้เสียหายตามกฎหมายขณะนั้น คือ รัฐ หรือ กระทรวงการคลัง แต่ท้ายที่สุดการคืนทรัพย์สินกลับไม่ครบถ้วน ในขณะที่กระทรวงการคลังยืนยันว่าได้รับทรัพย์สินครบแล้ว เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ ประชาชนไม่สามารถที่จะดำเนินการใดๆ ได้
ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคเท่าที่ควร เพราะมองว่า ถ้าคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นจะทำให้ธุรกิจไปไม่ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะประเทศสิงคโปร์มีการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง และมีมาตรการให้ผู้บริโภคนำสินค้ามาคืนและได้รับเงินค่าซื้อสินค้ากลับคืนในกรณีที่ไม่พอใจคุณภาพของสินค้าเศรษฐกิจไปได้ดี และไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้น ประเทศไทยควรที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรองให้ผู้บริโภคมากขึ้น
สอดรับกับ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปเพิ่มการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นครั้งแรกที่บัญญัติให้องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สามารถเป็นโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class action เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หรือบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน
การปกป้องและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคนอกเหนือไปจากความเป็นธรรมที่ผู้บริโภคได้รับแล้ว ยังทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคด้วย
นี่จึงเป็นคำตอบว่าเหตุใดถึงจะต้องสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปฉบับนี้