"หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ" ส่อวืดพักโทษ-พ้นคุก เหตุคดียังไม่ถึงที่สุด
ตามที่มีข่าวศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เตรียมเสนอพักโทษให้กับ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ อดีตแกนนำขบวนการพูโล โดยให้เหตุผลเรื่องการประพฤติดีในเรือนจำ และสร้างบรรยากาศสันติสุขในพื้นที่นั้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า การพักการลงโทษ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ ไม่น่าจะทำได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะคดีของ หะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ บางคดียังไม่ถึงที่สุด และอายุของเจ้าตัวก็ยังไม่ถึงเกณฑ์
ทั้งนี้ "การพักการลงโทษ" หมายถึง การปลดปล่อยออกไปก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาล ภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติที่กำหนดไว้ โดยมีคุณสมบัติ คือ เป็นนักโทษเด็ดขาด (ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว) เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม และเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3 ส่วนอายุนั้น โดยปกติจะต้องมีอายุเกิน 60 ปี
การพักการลงโทษให้กับนักโทษรายใด จะมีการพิจารณาในรูปคณะกรรมการ แต่หากเป็นการพักการลงโทษกรณีพิเศษ จะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
"ช่วงที่มีการสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข มีการพูดกันมากเรื่องการปล่อยตัวนักโทษ หรือผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยตรงตามหลักเกณฑ์ที่กรมราชทัณฑ์กำหนด เป็นลักษณะบางหน่วยงานเสนอเรื่องมาเป็นกรณีพิเศษ วิธีการแบบนี้จะไม่ช่วยให้ปัญหาชายแดนใต้ดีขึ้น เพราะจะมีคำถามตามมามากว่าเหตุใดจึงให้สิทธิเฉพาะรายนั้นรายนี้ ฉะนั้นจึงควรทำอย่างมีหลักการและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนมากกว่า" แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม ระบุ
แหล่งข่าวคนเดียวกัน ยังบอกด้วยว่า จากการสำรวจจำนวนผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ พบว่ามีประมาณ 300 กว่าคน ฉะนั้นหากจะดำเนินการใดๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดทำฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ เกี่ยวกับผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังคดีความมั่นคงทุกราย เพื่อประกอบการพิจารณาอย่างถูกต้องและเป็นธรรมมากที่สุด
ตั้ง "สะมะแอ ท่าน้ำ" ผู้ประสานลงทุนชายแดนใต้
ด้านความเคลื่อนไหวของ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือ นายมะแอ สะอะ อดีตแกนนำพูโลที่ได้รับสิทธิพักการลงโทษ และได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระตั้งแต่ช่วงวันฮารีรายอที่ผ่านมา (17 กรกฎาคม 2558) นั้น ปรากฏว่าตั้งแต่ออกจากเรือนจำ หะยีสะมะแอ มีกิจกรรมเดินสายพบปะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายความมั่นคงแทบทุกวัน
เริ่มจากเมื่อวันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม ได้เข้าพบ พลโทปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 โดยมี นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส.ร่วมด้วย ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี หัวข้อการหารือ คือ แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาในกลุ่มเยาวชน
จากนั้นวันอังคารที่ 4 สิงหาคม เขาได้เข้าพบ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อยื่นหนังสือขอบคุณถึงนายกรัฐมนตรี กรณีได้รับการปล่อยตัว และพักการลงโทษชั่วคราว ซึ่งแสดงถึงความจริงใจของรัฐบาลต่อบรรดาผู้ต้องโทษในคดีความมั่นคง
หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ กล่าวว่า จะใช้เวลาในช่วงปลายของชีวิต ใช้ประสบการณ์ ที่มีอยู่ ใช้เครือข่ายประสานงานกับคนที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้แก่พี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าหากมีงาน มีอาชีพ มีเงินแล้ว คงไม่มีใครคิดไปก่อเหตุร้าย ประกอบกับเวลานี้ในพื้นที่ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี บ้านเกิด ก็มีนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลด้วย
"ผมเห็นว่าเหมือนเรามีขุมทรัพย์ ขุมทอง โอกาสที่จะมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ จึงมีสูงมาก ผมจะทุ่มเทตั้งใจสร้างงานสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนให้ได้" หะยีสะมะแอ ระบุ
นายภาณุ กล่าวเสริมว่า ได้ออกประกาศแต่งตั้ง ให้ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ เป็นผู้ประสานงานด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว