แซด! “ไอ้โม่ง”แปลงสาร“หม่อมอุ๋ย”แก้ รธน.ห้ามออก กม.จ่าย“ภาษีบาป”
“…เห็นได้ชัดว่า การกำหนดให้เงินรายได้ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินนั้น อนุญาตให้ทำได้แต่ต้องออกเป็นกฎหมาย และมีข้อกำหนดที่ชัดเจนให้หน่วยงานที่ได้รับเงินรายได้นั้น ทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินต่อคณะรัฐมนตรีทุกสิ้นปีงบประมาณ…”
ภายหลัง “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ทำหนังสือถึง “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนเกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ
ส่งผลให้ กมธ.ยกร่างฯ แก้มาตรา 190 และบทเฉพาะกาล มาตรา 281 (1) ซึ่งส่งผลห้ามไม่ให้มีการตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ (ยกเว้นการจัดสรรเงินองค์การบริหารท้องถิ่นและพรรคการเมือง) ซึ่งอีกไม่เกิน 4 ปีจากนี้ ห้ามมีกฎหมาย หรือกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จะไม่สามารถเก็บเงินจากภาษีสุรา-ยาสูบ หรือ “ภาษีบาป” ไปใช้โดยตรงได้
ส่งผลให้มีภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหวกดดันจำนวนมาก !
เนื่องจากหวั่นเกรงว่า จะมีการเปิดช่องให้ “การเมือง” เข้าแทรกแซง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำนักงานกองทุนสนับนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนกีฬาฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับ “ภาษีบาป” โดยตรงได้
(อ่านประกอบ : เบื้องหลังแก้รธน.ใหม่ ไม่จ่าย"ภาษีบาป"โดยตรงใส่ทุน "ไทยพีบีเอส-สสส.")
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2558 “หม่อมอุ๋ย” ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้แล้ว
โดยยืนยันว่า ไม่เคยมีแนวคิดจะ “ล้ม” หรือ “เปิดช่อง” ให้การเมืองแทรกแซง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ สสส. รวมถึงกองทุนกีฬาฯแม้แต่นิดเดียว !
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำหนังสือชี้แจงดังกล่าวมาโชว์ให้สาธารณชนเห็นกันชัด ๆ ดังนี้
“หม่อมอุ๋ย” เปิดฉากระบุว่า “ผมขอส่งข้อความในมาตราที่เกี่ยวกับเงินรายได้ที่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน หรือเงินนอกงบประมาณที่กระทรวงการคลังได้เสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ดังมีข้อความนี้
มาตรา 204
“การกำหนดให้เงินรายได้ใดไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และการตรากฎหมายให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องนำเงินรายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ต้องมีขอบเขตและกรอบวงเงินเท่าที่ไม่กระทบต่อการรักษาวินัยการคลัง และต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และความจำเป็นในการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐ
การใช้จ่าย การก่อหนี้ และภาระผูกพันที่มีผลต่อเงินรายได้ตามวรรคหนึ่งต้องอยู่ภายใต้หลักความคุ้มค่า ความโปร่งใส และการรักษาวินัยทางการคลังตามหมวดนี้ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณรัฐ
เงินรายได้ของหน่วยงานของรัฐใดที่กฎหมายกำหนดให้ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นเงินนอกงบประมาณ และเงินอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐนั้นมีอยู่ ให้หน่วยงานของรัฐนั้นทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินดังกล่าว เสนอต่อคณะรัฐมนตรีทุกสิ้นปีงบประมาณ และให้คณะรัฐมนตรีรายงานให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบ”
“หม่อมอุ๋ย” อธิบายทิ้งท้ายว่า “เห็นได้ชัดว่า การกำหนดให้เงินรายได้ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินนั้น อนุญาตให้ทำได้แต่ต้องออกเป็นกฎหมาย และมีข้อกำหนดที่ชัดเจนให้หน่วยงานที่ได้รับเงินรายได้นั้น ทำรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินต่อคณะรัฐมนตรีทุกสิ้นปีงบประมาณ”
ดังนั้นเมื่อสังเกตจากคำชี้แจงของ “หม่อมอุ๋ย” ในกรณีนี้ จะเห็นว่าไม่ได้ห้ามมีกองทุนอย่าง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สสส. หรือกองทุนกีฬาฯ เลยเพียงแต่ว่าถ้ามีต้องมีกฎหมายเฉพาะ
ขณะที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันว่ามี “ไอ้โม่ง” ทำการ “แปลงสาร” ของ “หม่อมอุ๋ย” ให้สังคมเข้าใจเป็นอย่างอื่น ?
แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นเช่นไร
ล่าสุด “คำนูณ สิทธิสมาน” เปิดเผยแล้วว่า กมธ.ยกร่างฯ เตรียมจะ “ทบทวน” ในการแก้ไขในส่วนการคลังและงบประมาณแล้ว
ส่วนจะได้ข้อสรุปเช่นไร ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ : กมธ.ยกร่าง รธน.ถอย! จ่อทบทวนห้ามออก กม.จ่าย“ภาษีบาป”ให้ไทยพีบีเอส-สสส.