เบื้องหลังแก้รธน.ใหม่ ไม่จ่าย"ภาษีบาป"โดยตรงใส่ทุน "ไทยพีบีเอส-สสส."
เบื้องหลัง! แก้ รธน.ใหม่ ม.190 "หม่อมอุ๋ย" ชง "บวรศักดิ์" ไม่จ่าย "ภาษีบาป" โดยตรง รัฐจัดสรรให้เอง ลือหึ่ง! ชนวนล้ม TPBS, สสส. เปิดช่องการเมืองแทรกแซง
กลายเป็นเรื่องทอล์คออฟเดอะทาวน์อีกครั้ง!
ภายหลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ถึงกรณีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ถูกใบสั่ง” จาก “รัฐบาล” ขอให้แก้ไขในส่วนการจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินภาษี
โดยเฉพาะในมาตรา 190 (เดิม มาตรา 200) วรรคสี่ ระบุว่า การตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมาย ซึ่งมิใช่การจัดสรรภาษีหรืออากรให้องค์กรบริหารท้องถิ่นหรือมิใช่การจัดสรรเงินให้พรรคการเมืองตามกฎหมาย จะกระทำมิได้
และบทเฉพาะกาล มาตรา 281 (1) ระบุว่า มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 190 วรรคสี่ มาบังคับใช้กับหน่วยงานซึ่งมีกฎหมายให้จัดเก็บและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร โดยให้บทบัญญัติที่ให้หน่วยงานจัดเก็บและจัดสรรเงินดังกล่าวได้นั้น มีผลบังคับใช้ต่อไปอีก เป็นเวลาไม่เกินสี่ปีนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
เท่ากับว่า ห้ามไม่ให้มีการตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรต่างๆ(ยกเว้นการจัดสรรเงินองค์การบริหารท้องถิ่นและพรรคการเมือง)
ซึ่งหลังจากนี้ต่อไปอีกไม่เกิน 4 ปี ห้ามมีกฎหมาย หรือกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จะไม่สามารถเก็บเงินจากภาษีสุราและภาษาียาสูบหรือ "ภาษีบาป" ไปใช้โดยตรงได้
กรณีนี้จะกระทบกับ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และล่าสุดองค์กรสนับสนุนการกีฬาฯ ที่กฎหมายเพิ่งผ่านมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยองค์กรเหล่านี้ได้รับการจัดสรรเงินโดยตรงจากภาษีที่เก็บสุราและยาสูบ
ต้องหันไปพึ่งพิงงบประมาณแผ่นดินเหมือนหน่วยงานรัฐอื่นๆ
และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็มีหลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า อาจจะมี “การเมือง” เข้ามาแทรกแซงได้ง่ายขึ้น !
เพราะที่ผ่านมาการจัดเก็บ “ภาษีบาป” เป็นระบบที่มีการใช้กันทั่วโลก โดยเป็นการช่วยให้การดำเนินงานของรัฐบาลมีความชัดเจน เช่น มีงบประมาณสนับสนุนด้านการส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น รวมถึงลดการทุจริตคอร์รัปชั่นอีกด้วย
หากมีการ “แทรกแซง” ในส่วนนี้ จะส่งผลกระทบกับการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้อย่างรุนแรง !
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2558 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ทำหนังสือถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการคลังและงบประมาณ
โดยมีตอนหนึ่ง ขอให้แก้ไขมาตรา 200 (ปัจจุบันคือมาตรา 190) เห็นควรเพิ่มหลักการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรไว้เพื่อกำหนดหลักการและปิดช่องโหว่บางประการที่เกิดจากการใช้ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง (Earmarked Tax) โดยกำหนดไว้เป็นมาตรา 200 แทนมาตรา 200 เดิมที่ตัดออกไป
ทั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้แก้ไขมาตรา 200 เดิม โดยมีตอนหนึ่ง ระบุว่า การจัดเก็บภาษีอากรเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินจะต้องจัดเก็บจกฐานภาษีต่าง ๆ ให้ครบฐาน ทั้งจากฐานรายได้ ฐานการซื้อขาย และจากฐานทรัพย์สิน
การกำหนดนโยบายและอัตราภาษีตามวรรคหนึ่งต้องคำนึงถึงหลักการความเป็นกลาง ความเป็นธรรมในสังคม ความทั่วถึง ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังและข้อผูกพันระหว่างประเทศให้มีการจัดระบบภาษีเป็น 2 ระดับ คือ ภาษีระดับชาติ และภาษีระดับท้องถิ่น
ส่วนมาตรา 190 ที่ปัจจุบันที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับแก้ไขแล้ว เหมือนกับมาตรา 200 ที่ “หม่อมอุ๋ย” ขอปรับแก้ทุกประการ แต่มีการเพิ่มเติมในวรรคที่สี่ว่า การตรากฎหมายให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บภาษีและจัดสรรเงินจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรตามกฎหมาย ซึ่งมิใช่การจัดสรรภาษีหรืออากรให้องค์กรบริหารท้องถิ่นหรือมิใช่การจัดสรรเงินให้พรรคการเมืองตามกฎหมาย จะกระทำมิได้
และการแก้ไขนี้เป็นที่มาของ “บทเฉพาะกาล” ตามที่ระบุไว้ข้างต้นด้วย !
ทั้งหมดคือเบื้องหลังที่ “หม่อมอุ๋ย” ขอให้ กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญ “ฉบับเรือแป๊ะ” โดยอ้างว่าจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในด้านการคลังและงบประมาณมากขึ้น
แต่จะเป็นได้จริงอย่างที่ “หม่อมอุ๋ย” ฝัน หรือจะเป็นแผนการล้ม TPBS, สสส. “เปิดช่อง” ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงกันแน่
ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ : อย่ามัดมือตัวเองโดยห้าม Earmark Tax