เรียนรู้รับมือภัยพิบัติจากลุงแซม : 'บูรณาการ-คล่องตัว-ทำงานเป็น'
นอกจากวิกฤตน้ำท่วมที่ไทยแลนด์กำลังเผชิญหน้าอยู่อย่างหนักหนาสาหัสในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังต้องประสบกับวิกฤตการขาด “บูรณาการ” ในการรับมือและแก้ปัญหาในยามที่ประเทศประสบกับภัยพิบัติที่หนักหนาสาหัสครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
การสั่งการไม่ถูกจุด การแก้ปัญหาไม่ทันเวลา การเตือนภัยล่วงหน้าที่ไร้ประสิทธิภาพ การปกปิดไม่พูดความจริง การปล่อยให้ประชาชนตกอยู่ในสภาวะ “ตัวใครตัวมัน” ดังที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาลไทย
ดังที่ เจอร์รี เวลาสเกวซเจ้าหน้าที่ประสานงานอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากสำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ ออกมากระทุ้งแรงๆ ว่า การเตรียมพร้อมการรับมือของไทยนั้นไม่มีกรอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลย ทั้งๆ ที่ไทยมีหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำมากถึง 8 แห่งอยู่ทนโท่
น้ำที่กำลังท่วมและทะลักอยู่ทั่วภูมิภาคภาคกลางและบริเวณโดยรอบกรุงเทพฯ ในวันนี้ จึงเป็นภาพสะท้อนถึงภาวะการขาด “บูรณาการ” ของประเทศนี้อย่างแท้จริง
หันไปศึกษาการทำงานของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ ต้องเรียกว่าลุงแซมเป็นประเทศที่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในการรับมือ ป้องกัน และช่วยเหลือ เหตุจากภัยธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ
และที่สำคัญ “ท้องถิ่น” ถือเป็นกลไกสำคัญอย่างที่สุดที่จะเป็นด่านหน้าในการ “ช่วยตัวเอง” เมื่อภัยกำลังจะมาถึง ไม่ใช่ปล่อยให้มัวแต่นั่งรอความช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียว
เพราะสหรัฐเป็นประเทศใหญ่ที่มีสารพัดภัยธรรมชาติรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น เฮอริเคน ทอร์นาโด ภูเขาไฟระเบิด พายุหิมะ แผ่นดินไหว แถมด้วยภัยก่อการร้าย
เป็นหนึ่งประเทศในโลกที่เจอภัยธรรมชาติที่โหดร้ายที่สุด พายุเฮอริเคนคาทรินาถล่มลุยเซียนาในปี 2005 ยังคงครองแชมป์ภัยธรรมชาติที่ราคาแพงที่สุดในโลก
ดังนั้น การจัดการดูแลป้องกันและรับมือของสหรัฐจึงจำเป็นที่จะต้องครอบคลุม ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และบูรณาการอย่างสุดๆ
สำนักงานจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินกลาง หรือ ฟีมา (Federal Emergency Management Agency) คือหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่นี้ โดยได้รับการจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1978 ภายใต้วัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นส่วนกลางการประสานงานตอบรับหายนภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในสหรัฐตลอดไปจนถึงดินแดนนอกราชอาณาจักรที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐ เช่น เปอร์โตริโก เป็นต้น
เนื่องจากสหรัฐปกครองในแบบที่แต่ละมลรัฐมีอำนาจการปกครองท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐอยู่แล้ว การทำงานของฟีมานั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับการสั่งการจากประธานาธิบดีหรือผู้ว่าการรัฐนั้นๆ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้น
หลังเหตุโศกนาฏกรรม 11 ก.ย. 2001 สหรัฐได้มีการยกเครื่องระบบการป้องกันดูแลด้านความมั่นคงภายในประเทศใหม่ด้วยการจัดตั้งกระทรวงใหม่ที่ชื่อว่า กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมรับมือหายนภัยที่รวดเร็วมากขึ้น และฟีมา ซึ่งเคยเป็นหน่วยงานอิสระก็ถูกโยกเข้าไปอยู่ภายใต้โครงสร้างของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมินี้
หน้าที่รับผิดชอบของฟีมา นอกจากจะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือในด้านการรับมือและฟื้นฟูหายนภัยซึ่งเป็นหน้าที่หลักแล้ว ฟีมายังเป็นหน่วยงานจัดหาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นทั่วสหรัฐเพื่อให้คำปรึกษาต่อการรับมือกับหายนภัยในทุกรูปแบบ
ฟีมา ยังเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูโครงสร้างสาธารณูปโภคอีก และยังเป็นผู้ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับทั้งประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
เป็นหน่วยงานที่จัดหาทุนด้านการฝึกเจ้าหน้าที่เพื่อรับมือกับหายนภัยธรรมชาติทั่วสหรัฐไปจนถึงการเตรียมความพร้อมป้องกันและรับมือภัยพิบัติ
การทำงานของฟีมาจะกระจายไปทั่วสหรัฐ แบ่งออกเป็น 11 เขต ดังนี้ บอสตันนิวยอร์ก ซิตี ฟิลาเดลเฟีย แอตแลนตา ชิคาโก เดนตัน แคนซัส ซิตี เดนเวอร์โอ๊กแลนด์ โบเธลล์ โฮโนลูลู และสำนักงานแปซิฟิก
การตอบรับต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินของฟีมานั้น จะกระจายตัวทำงานออกไปเป็นลักษณะ “ทีม” ที่มีความคล่องตัว และเชี่ยวชาญผ่านการฝึกฝนมาในด้านต่างๆ ที่หลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็นหน่วยดูแลด้านการแพทย์หายนภัยแห่งชาติ (เอ็นดีเอ็มเอส) หน่วยกู้ภัยและค้นหาในเขตเมือง (ยูเอสเออาร์) ทีมปฏิบัติการตอบรับผู้เสียชีวิตจากหายนภัย (ดีเอ็มโออาร์ที) ทีมสนับสนุนการแพทย์หายนภัย (ดีเอ็มเอที) และหน่วยสนับสนุนเคลื่อนที่ฉุกเฉิน (เอ็มอีอาร์เอส)
หน่วยงานดูแลด้านการแพทย์หายนภัยแห่งชาติ (เอ็นดีเอ็มเอส) จะทำงานแบ่งออกเป็นทีมชุดต่างๆ เพื่อดูแลเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากหายนภัยโดยเฉพาะ
ทีมนี้จะประกอบไปด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านนี้โดยเฉพาะ โดยหน่วยเอ็มดีเอ็มเอสจะได้รับการสนับสนุนการทำงานจากโรงพยาบาลและหน่วยงานดูแลด้านความปลอดภัยสาธารณะ หรือองค์กรเอกชนอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง
สหรัฐยังได้จัดตั้งทีมกองกำลังเคลื่อนที่เร็ว เพื่อให้ความสนับสนุนช่วยเหลือการทำงานของเอ็นดีเอ็มเอสโดยเฉพาะอีกด้วยเช่นกัน
ส่วนทีมสนับสนุนการแพทย์หายนภัย (ดีเอ็มเอที) จะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ณ จุดที่เกิดหายนภัยขึ้นซึ่งจะประกอบไปด้วยแพทย์สนามและหน่วยกู้ชีพ นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานประสานร่วมกัน เช่น ทีมปฏิบัติการตอบรับผู้เสียชีวิตจากหายนภัย (ดีเอ็มโออาร์ที) ที่จะทำหน้าที่ดูแลร่างผู้เสียชีวิตและการชันสูตรพลิกศพ
หน่วยกู้ภัยและค้นหาในเขตเมือง(ยูเอสเออาร์) จะเป็นกองกำลังสำคัญที่ทำหน้าที่ให้การช่วยเหลือและค้นหาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากหายนภัยในรูปแบบต่างๆ เช่น การถล่มของอาคาร เหมือง แผ่นดินไหว และหายนภัยอื่นๆ ที่พื้นที่การทำงานมีพื้นที่จำกัด
หน่วยสนับสนุนเคลื่อนที่ฉุกเฉิน (เอ็มอีอาร์เอส) จะทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านการสื่อสารกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยของพื้นที่หายนภัย เช่น การติดตั้งระบบลิงก์ดาวเทียม คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และการปั่นไฟฟ้าไว้ใช้สำหรับในพื้นที่ๆ เกิดหายนภัยเพื่อติดต่อกับโลกภายนอก
หน่วยนี้ยังสามารถติดตั้งระบบการสื่อสารโทรคมนาคมเคลื่อนที่ (แมตส์) ได้ทันทีภายในพื้นที่ฉุกเฉิน และยังสามารถติดตั้งเสาโทรศัพท์ไร้สายชั่วคราวเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในเวลาฉุกเฉินด้วย
ที่ผ่านมา ฟีมาได้กลายเป็นแบบอย่างของการปรับปรุงนโยบายด้านการจัดการภัยพิบัติขึ้นในหลายประเทศ
เช่นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมืองโกเบ เมื่อปี 1995 ญี่ปุ่นได้นำแนวคิดของการจัดตั้งหน่วยงานจัดการด้านภัยพิบัติอย่างฟีมาขึ้นเป็นแนวทางการจัดการรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่นเช่นกัน
“ปฏิบัติการของเราคือการให้การสนับสนุนประชาชน และเป็นผู้ตอบรับต่อหายนภัยคนแรก เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ในฐานะที่เป็น “ชาติ” เราจะร่วมมือทำงานด้วยกันเพื่อสร้าง ยืนหยัด และพัฒนาศักยภาพของเราเพื่อการเตรียมพร้อม ปกป้อง ตอบรับ ฟื้นฟู และทุเลาภัยอันตรายทั้งหลายทั้งมวล”
นั่นคือสิ่งที่ฟีมาได้ให้คำมั่นไว้กับชาวอเมริกันและชาวอเมริกันก็ไว้ใจได้เสมอ
เพราะภัยธรรมชาติสามารถโจมตีได้ทุกเมื่อ ทุกรูปแบบ โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า และส่งผลกระทบตามมาที่รุนแรงยิ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฟีมาจะมีโครงสร้างการดำเนินงานที่หลากหลาย กระจายตัว แต่รวมศูนย์อยู่ภายใต้โครงสร้างเดียวที่ครอบคลุมการทำงานในแทบทุกด้านเพื่อป้องกันและตอบรับกับหายนภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอยู่แล้ว
ฟีมา ยังได้จัดชั้นเรียนไว้มากมายในระดับรัฐต่างๆ ผ่านความร่วมมือกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในแต่ละรัฐ แม้กระทั่งการให้ความรู้ผ่านเว็บไซต์ออนไลน์
เพราะการฝึกฝนให้ท้องถิ่นมีความพร้อมและมีทักษะในการเตรียมการรับมือและป้องกันตัวเอง ยังถือเป็นหัวใจสูงสุดของการรับมือกับทุกช่วงเวลาวิกฤต
อย่างน้อยที่สุด ในยามวิกฤตนอกจากจะช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ยังสามารถยื่นมือช่วยเหลือคนอื่นได้อีกด้วย
ไม่ใช่ว่าเมื่อวิกฤตจวนตัว ช่วยตัวเองไม่ได้ ช่วยคนอื่นก็ไม่เป็น
ซ้ำยังเฮโลไปพังพนังกั้นน้ำให้เข้าท่วมบ้านคนอื่น ท่วมถนนส่วนร่วม สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้เกิดในวงกว้าง เข้าทำนองจะท่วมก็ต้องท่วมเหมือนกันหมด
แบบในบางประเทศ!