สกว.ชี้ถ้าเกษตรกรยังชักหน้าไม่ถึงหลัง ประชาธิปไตยสะดุด
นายกฯ บอกประชาธิปไตยและการเมืองดีเกิดไม่ได้ถ้าไม่สร้างคุณภาพสังคม อีก 2 สัปดาห์ออกมาตรการช่วยหาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซต์รับจ้าง รอง ผอ.สกว.ชี้ถ้าเกษตรกรยังไม่หลุดวงจรหนี้สิน การพัฒนาการเมืองก็สะดุด ทีดีอาร์ไอแนะเร่งสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายแก้ช่องว่างเมือง-ชนบท
วันที่ 5 พ.ย. 53 สถาบันพระปกเกล้า จัดการประชุม “คุณภาพสังคมกับคุณภาพประชาธิปไตยไทย” ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยมีการอภิปราย “คุณภาพสังคมไทย สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโมในอนาคต” ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนคุณภาพสังคมหน่วยที่สำคัญที่สุดคือครัวเรือนและชุมชน เพราะเข้าถึงกว่าองค์กรปกครองท้องถิ่น ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าครัวเรือนไทยมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 20,000 บาท รายจ่าย 16,000 บาท แต่มีหนี้สินเฉลี่ย 134,000 บาท ซึ่ง 30% ของครัวเรือนทั้งประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่วนข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2549 ครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยตอนต้นฤดูการผลิตสูงถึง 47,672 บาท
“ถ้าเกษตรกรชักหน้าไม่ถึงหลัง ประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไร มีข้อสังเกตว่าคุณภาพสังคมขึ้นอยู่กับคุณภาพพลเมือง วิถีสังคมไทยมีลักษณะเป็นฝูง คือมีผู้นำ ซึ่งวัฒนธรรมนี้ทำให้คนชนบทเชื่อผู้ใหญ่บ้านมากกว่านายก อบต.”
รอง ผอ. สกว. กล่าวอีกว่า ระบบประชาธิปไตยไทยขาดระบบคัดกรองผู้นำ ทางออกต้องสร้างคุณภาพคนและปรับระบบโครงสร้าง โดยจัดการให้คนคิดเป็น รู้เท่าทัน ใช้เหตุผล รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม ให้มีโครงสร้างเป็นตัวชี้วัดประสิทธิผลและธรรมาภิบาลพรรคการเมือง การตรวจสอบพรรคการเมืองโดยภาคประชาสังคม การทำงานของรัฐต้องสามารถใช้กลไกราชการทำงานห้เกิดผลลัพธ์ตามนโยบายได้
รศ.ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประเทศไทยใช้จีดีพีเป็นตัววัด ทำให้ไม่เห็นความแตกต่างในเชิงคุณภาพ ทีดีอาร์ไอทำข้อมูลเพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตครัวเรือนไทยพบว่าการปล่อยให้เด็กเล็กอยู่กับผู้สูงอายุในชนบทมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคเหนือและอีสานประมาณ 1.4 ล้านครัวเรือน และคนที่มีโอกาสเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นคือคนที่มีฐานะดีเท่านั้น ขณะที่ตลาดแรงงานต้องการคนจบปริญญามากขึ้น ส่งผลให้มีช่องว่างของรายได้ถึง 60%
“เด็กในชนบทมีโอกาสอยู่กับพ่อแม่น้อยกว่าเด็กเมือง เพราะพ่อแม่ต้องมารับจ้างทำงานในเมืองจึงทิ้งบุตรหลานไว้ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป คนยากจนคงไม่มีโอกาสเรียนต่อ การผลักดันให้เกิดสวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตายอาจช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เรื่องระบบสิทธิการบริการที่ต่างกันระหว่างเมืองกับชนบท ต้องแก้ไขด้วยเช่นกัน”
นายเกียรติชัย พงศ์พานิชย์ กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยส่งผลให้เกิดความแตกแยกอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันสังคมเริ่มเข้าทำนองเอาตัวรอดเป็นยอดดี ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาต่างๆควรเข้าสู่ระบบธรรมาภิบาลเพื่อให้สังคมสามารถตรวจสอบเรื่องต่างๆได้ ที่สำคัญคือต้องปรับทัศนคติเพื่อให้เกิดสังคมประชาธิปไตย
“ต้องมีสื่อที่หล่อหลอมสร้างทัศนคติที่สร้างสันติสุข สร้างความเสมอภาค ยุติธรรม เกิดสำนึกสาธารณะประณีประนอมจนได้ข้อยุติร่วมกัน จะเป็นองค์ประกอบสำคัญให้เกิดสังคมประชาธิปไตยต่อไป”
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า นำเสนอตัวชี้วัดคุณภาพสังคมซึ่งจัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้าเรื่อง “เศรษฐกิจสังคม ฐานะการเงิน” พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของชีวิต บางคนต้องหาที่อยู่ใหม่เพราะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าเช่าได้ แต่ปัญหาที่พบมากที่สุดคือการให้บริการผ่านสวัสดิการสังคมต่างๆที่ไม่ได้รับความสะดวก เกิดคำถามเชื่อมโยงกับ รศ.ดร.นิพนธ์ ว่าทำไมเด็กต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย เพราะไม่มีสวัสดิการดูแลเด็ก ฉะนั้นสิ่งที่ต้องการคือเห็นในอนาคตคือการดูแลเอาใจใส่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้นการสร้างคุณภาพประชาธิปไตยทำได้ไม่ยากแต่ต้องสร้างคุณภาพทางสังคมควบคู่กันไปและต้องทำทั้งระบบทั้งในเมืองและท้องถิ่น
ทั้งนี้ในงานดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังปาฐกถาเรื่อง "คุณภาพสังคมกับคุณภาพประชาธิปไตยไทย” ว่าถึงแม้ประเทศไทยจะพัฒนาในหลายด้าน แต่คุณภาพการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยยังเป็นปัญหา จึงยังต้องพัฒนาในหลายด้าน ความขัดแย้งจะหมดไปจากโครงสร้างสังคม การศึกษา เศรษฐกิจที่เป็นธรรม รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการเป็นพลเมืองประชาธิปไตย และหัวใจสำคัญของการปฏิรูปยังมีการสร้างความปรองดอง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปรับโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันขับเคลื่อน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ด้วยการจัดสวัสดิการให้ดีขึ้น จะเป็นการวางรากฐานสังคม เพราะคุณภาพสังคมจะเกิดได้ต้องให้ทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม เช่น ให้สิทธิให้ความเป็นธรรมกับคนชายขอบ คนอพยพพลัดถิ่น
“ใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า รัฐบาลจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น พ่อค้าแม่ค้าหาบแร่แผงลอย มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ลูกจ้างสถานประกอบการเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนปกติ ต้องพึ่งเงินนอกระบบ ทำงานในสภาวะแวดล้อมที่ไม่มีการดูแลอนามัย ตกเป็นเหยื่อการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลจะแก้ปัญหาให้คนกลุ่มนี้ทั้งเรื่องเงินทุน สภาวะแวดล้อม มีหลักประกันทั้งความเป็นอยู่และไม่ถูกรังแก”.