ค้นคำตอบ...ทำไมคนไทยห่างไกลวัด
“สังคมไทยปัจจุบันเป็นวัตถุนิยม เด็กวัยรุ่นอยู่กับวัตถุและเงิน ไม่ค่อยเชื่อเรื่องบาปบุญ ไม่กลัวบาป ไม่อายที่จะทำบาป เป็นสังคมที่เอาตัวรอดเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตนเอง ใครดีใครได้ คนที่บวชก็ทำตามประเพณีเท่านั้นเป็นธุรกิจ”
หลังจากเปิดตัวโครงการ “วัดบันดาลใจ” ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่วัดให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับวัดและชุมชนทั่วประเทศ รวมถึงการพลิกฟื้นความสัมพันธ์ของวัดกับชุมชนให้กลับมาเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในสังคม โดยโครงการมีวัดนำร่อง 9 แห่ง ดังนี้ 1.วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ 2.วัดนางชีโชติการาม กรุงเทพฯ 3.วัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรี 4.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา 5.วัดภูเขาทอง อยุธยา 6.วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่ 7.วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นครพนม 8.วัดป่าโนนกุดหล่ม ศรีสะเกษ และ 9.วัดศรีทวี นครศรีธรรมราช
สำนักข่าวอิศรา ได้ลงพื้นที่สัมผัสบรรยากาศวัด 2 แห่งในกรุงเทพฯ ในวันธรรมดา ช่างเงียบเหงา มีเพียงชาวต่างชาติที่มาชื่นชมสิ่งสวยงามของพระพุทธรูปปรางค์ต่างๆ รวมถึงโบราณวัตถุภายในวัด
หากไม่ใช่วันหยุด เสาร์ อาทิตย์ หรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว จะมีคนไทยสักกี่คนที่ยังเข้าวัด เพื่อฟังเทศน์ ฟังธรรม ทำบุญ
"ไม่มีอีกแล้วที่เด็กสมัยนี้จะรู้จักพิธีอะไรแบบนี้ รวมถึงผู้ใหญ่บางคนหลงลืมสิ่งเหล่านี้ไปแล้วด้วย ไม่มีแล้วที่วัดกับชุมชนสามารถเข้ากันอย่างกลมกลืน" คำพูดของทองยศ สุขสายัณห์ วัย 86 ปี ที่เอ่ยขึ้นในช่วงเริ่มต้นของการสนทนา
ลุงทองยศ อาศัยอยู่ใกล้ๆ วัดสุทธิวราราม มองว่า คนสมัยใหม่ไม่รู้จักการเข้าวัด อดีตเมื่อถึงวันพระ คนแก่คนเฒ่าจะพากันไปฟังเทศน์ เพราะวัดในสมัยก่อนจะมีการเทศน์ทุกวัน หรือตามเทศกาลต่างๆ ถ้ามีชุมชนที่อยู่แถวย่านนั้น ชาวบ้านจะจัดเอาข้าวของไปทำบุญ
อย่างเช่นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา สมัยก่อนจะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นงานใหญ่มากๆ ที่ทั้งวัดและชาวบ้านจะร่วมกันจัด บรรยากาศในงานมีแต่ความสนุกสนาน ต่างกับปัจจุบันอาจจะยังมีการเทศน์มหาชาติเหลืออยู่ แต่คงไม่ดีเท่าสมัยก่อน
ลุงทองยศ บอกอีกว่า สังคมไทยปัจจุบันมีความห่างกับวัดมาก รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ก็หายไปด้วย บางคนไม่รู้จักวัด บางคนเห็นวัดก็เดินผ่านไปเฉยๆ แต่เมื่อถึงคราวเดือดร้อนกลับเริ่มนึกถึง
"การเข้าวัดสมัยนี้ผู้คนส่วนมากไม่รู้ขนบธรรมเนียมทั้งการใช้คำพูด หรือการปฏิบัติ สิ่งที่สะท้อนภาพความเปลี่ยนไปของวิถีชาวพุทธได้ดีที่สุด คือ การเดินสวนกับพระสงฆ์ สมัยนี้ไม่เห็นภาพเมื่อพระสงฆ์เดินผ่านและมีคนยกมือไหว้หรือหยุดให้ท่านเดินก่อน ต่างจากในสมัยก่อนต้องนั่งยกมือไหว้และรอจนท่านเดินผ่านไป เป็นเรื่องของประเพณีและวัฒนธรรมที่คนสมัยก่อนทำกันมาโดยไม่ต้องมีใครสอน"
เมื่อถามว่า การที่จะดึงคนในชุมชนหรือคนในสังคมกลับมาเข้าวัด ลุงทองยศ บอกว่า เป็นเรื่องยากเพราะสังคมกับวัดต่างไปกันคนละทาง
อีกหนึ่งเสียงของคนรุ่นใหม่ที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของวัดและสังคมไทยในปัจจุบัน นายสันติ สุภัทรสารกุล อาชีพธุรกิจส่วนตัว บอกว่า ตอนนี้วัดมีสถานะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในสังคมเมือง คนเราจะเข้าวัดน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากสังคมเองที่บีบให้เราต้องใช้ชีวิตที่เร่งรีบไม่มีเวลาไปเข้าวัด อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเรื่องของความเชื่อความศรัทธาที่ลดลง อันเนื่องมาจากการกระทำของคนบางกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับศาสนา และพระบางรูปก็มีพฤติกรรมที่ไม่น่านับถืออย่างที่เป็นข่าวออกไปจึงทำให้ไม่อยากเข้าวัด
แต่ส่วนตัวความรู้สึกที่มีต่อวัด เขาอธิบายต่อว่า ที่ไม่ค่อยได้เข้า เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลา ด้วยอาชีพการงาน ยิ่งทำให้วัดกับคนไทย ถอยห่างกันมากยิ่งขึ้น
"ถ้าเป็นสังคมเมือง ไม่ได้ใกล้ชิดวัดอยู่แล้ว ทำงานก็ใช้เวลาหมดไปเป็นวันๆ แต่ถ้าในชนบทยังเห็นคนสูงอายุเข้าวัดอยู่บ้าง"
เช่นเดียวกันกับครูสิรินันท์ สะหิ ครูโรงเรียนเปรมฤดีศึกษา ที่สะท้อนภาพสังคมไทยให้ฟังว่า สังคมไทยปัจจุบันเป็นวัตถุนิยมเด็กวัยรุ่นอยู่กับวัตถุและเงิน ไม่ค่อยเชื่อเรื่องบาปบุญไม่กลัวบาป ไม่อายที่จะทำบาป สังคมที่เอาตัวรอดเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตนเอง ใครดีใครได้ คนที่จะบวชก็ทำตามประเพณีเท่านั้นเป็นธุรกิจ
การที่คนเมืองไม่มีเวลาแม้แต่จะใส่บาตร รวมถึงปัจจุบันการใส่บาตรแต่ละครั้งต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 30 บาทต่อพระ 1 รูปนั้น ครูโรงเรียนเปรมฤดีศึกษา สะท้อนให้เห็นว่า ไปวัดก็ต้องใช้เงิน หลายแหล่งกลายเป็นธุรกิจไปหมด นี่หรือไม่ที่ทำให้คนไทยห่างไกลวัดมากขึ้น ยังไม่รวมพระปฏิบัติไม่ดีทำให้คนเบื่อ เบื่อทำบุญ เพราะดูไม่น่าเลื่อมใส
ขณะที่มุมมองจากเยาวชนนายศุภโชค พัฒนะพรหมมาส นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่า วัดยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคนไทยอยู่ เพราะสถานที่ที่ เรียกว่า "วัด"ความหมายคือ สิ่งที่สงบและเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตให้กับชาวพุทธ หรือศาสนาใดในโลกก็ได้ รวมถึงวัดยังเป็นสิ่งที่สวยงาม
"แต่ในสังคมไทยปัจจุบันเหมารวมหมดว่า พระสงฆ์ไม่ดี วัดนี้ไม่ดี ทั้งๆที่บางคนที่ปล่อยข่าวไม่รู้ด้วยซ้ำว่า สาเหตุคืออะไร" ศุภโชค ระบุ พร้อมสะท้อนมุมมองต่อว่า วัดกับสังคมไทยมีความห่างกัน เพราะคนในปัจจุบันติดโลกโซเชียล ติดหรูชอบเดินห้างแอร์เย็นสบาย น้อยคนนักที่จะนัดกันไปไหว้พระ
ส่วนนิสิตสาวจากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ "จุฑามาศ สำรวยแสง" ให้เหตุผลของความห่างไกลวัด ไม่ใช่เพราะบ้านอยู่ห่างไกล หากแต่หมายถึงใจต่างหากที่ห่างวัด
เธอบอกว่า ปัจจุบันนี้พบข่าวเกือบทุกวันในเรื่องของพระสงฆ์ที่กระทำเรื่องที่ผิดวินัย ชาวบ้านจึงเกิดความไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์ รวมถึงการทำบุญในสมัยนี้มีความง่ายขึ้น ไม่ต้องไปถึงวัดเพราะตามสถานที่บางแห่งสามารถทำบุญได้ อย่าง ห้างสรรพสินค้า ตู้ ATM จึงมองว่าคนส่วนใหญ่เข้าวัดน้อยลงด้วยสาเหตุเหล่านี้หรือไม่
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ถึงคนรุ่นปัจจุบัน ล้วนสะท้อนมุมมองของความห่างไกลระหว่างจิตใจของผู้คนกับวัดให้พอเข้าใจได้ จากปัจจัยต่างๆส่งผลให้ อาจารย์ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจ และประธานสาขาวิชาสถาปัตยกรรม สถาบันอาศรมศิลป์ ริเริ่มโครงการวัดบันดาลใจเพื่อหวังจะให้คนในชุมชนแต่ละแห่งมีปฏิสัมพันธ์เฉกเช่นเดียวกับในอดีต
อ.ประยงค์ บอกว่า วางแผนดำเนินการไว้ 3 ปี ปีแรกจะเริ่มต้นจากการออกแบบอาคารในวัดให้มีความสวยงามสะอาดตา พัฒนาทัศนียภาพภายในวัดให้มีความร่มรื่น และในปีถัดไปจะจัดประชุมและเชิญวัดอื่นเข้าเพิ่มอีก 100 วัดเพื่อเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน
พร้อมกับตั้งความหวังว่า โครงการนี้จะประสบความสำเร็จในวงกว้าง เพื่อการพัฒนาวัดให้กลับมาเป็นศูนย์กลางของคนในชุมชนและสังคมมากขึ้น รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เป็นวัดที่มีความร่มรื่นและที่สำคัญมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน และสามารถสานต่อโครงการนี้ไปยังวัดอื่นๆ ได้
(ภาพวัดสุทธิวรารามในอดีต)
ขณะที่พระมหาสุทิตย์ อากากโร เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม1 ใน 9 วัดบันดาลใจ นำร่อง ชี้ว่า การปฏิรูปที่ทางวัดวางไว้นั้น จะต้องเริ่มจากภายใน "เหมือนไข่ถ้าแตกจากข้างนอก ชีวิตของลูกเจี๊ยบคือตาย แต่ถ้าไข่แตกจากข้างใน ชีวิตก็คือการเริ่มต้น"
พระมหาสุทิตย์ บอกถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อหวังจะให้วัดกับชุมชนมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่หากจะให้วัดกลับกลายมาเป็นศูนย์รวมจิตใจเหมือนเดิมทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ จากเดิมเสาร์-อาทิตย์ให้คนกลับมาใส่บาตรแต่งชุดไทยคงเป็นเรื่องยาก ถ้าจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัดต้องจัดกิจกรรมให้มากขึ้น จึงจะทำให้คนในชุมชน รวมทั้งคนในสังคมเองเห็นวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจได้อีกครั้ง
“สังคมไทยมีความห่างออกจากวัดส่วนหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด ยังสังเกตว่า มีกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานที่พบปัญหาชีวิตยังเข้าวัดอยู่ แต่การเข้าวัดของคนเหล่านี้ขาดผู้ชี้ทางให้อย่างแท้จริง โดยวัดส่วนมากเน้นในเรื่องของการสะเดาะเคราะห์มากกว่าใช้การเทศน์หรือธรรมะเข้าช่วยแก้ปัญหา ในความเป็นจริงถ้าเรามองปัญหาที่เกิดดีๆ เราก็จะรู้ว่า ควรแก้ไขอย่างไร"
(โบสถ์วัดสุทธิวราราม)
อีกประการหนึ่งที่คนในสังคมไทยห่างวัดมากขึ้น พระมหาสุทิตย์ มองว่า เป็นเรื่องของสิ่งยั่วยุภายนอกเช่น ห้างสรรพสินค้า รวมถึงคนในปัจจุบันเองที่ไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมะ เทคโนโลยีใหม่ๆในโลกอย่างมือถือที่สามารถเข้าไปติดตามสามารถรู้เรื่องที่อยากรู้ได้ทุกเรื่อง บางทีเขาอาจจะอ่านธรรมะในนั้นจนลืมเข้าวัดก็เป็นได้
ส่วนวัดนางชีโชติการาม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดนางชี" เป็นอีกวัดนำร่องโครงการวัดบันดาลใจ ต้องใช้การเดินทางด้วยมอเตอร์ไซต์ เรือ หรือการเดินเท้าเข้ามา
วัดนางชี มีความแตกต่างที่สัมผัสได้ คือ ความสงบ ร่มรื่น พื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยต้นไม้ ท่ามกลางสถาปัตยกรรม โบสถ์ อันเก่าแก่ หากใครเดินผ่านไปผ่านมา คงไม่รู้ว่า มีวัดเก่าแก่วัดหนึ่งตั้งอยู่ที่นี่ ท่ามกลางชุมชน
(บริเวณในวัดนางชี)
พระมหาวิทยา อัคคธัมโม วัดนางชี บอกเล่าประวัติวัดนางชีว่า ถือเป็นวัดเล็กๆ ที่คนไม่ค่อยรู้จัก สิ่งต่างๆภายในวัดดูเก่าแก่ เนื่องจากเป็นวัดที่มีมานาน จึงทำได้เพียงบูรณะของเก่าให้ดีขึ้น ประเพณีที่สืบต่อกันมาจนถึงในปัจจุบันคือ ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุ และในการเข้าร่วมโครงการ "วัดบันดาลใจ" เป็นสิ่งที่ทางวัดอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ให้มีเนื้อที่เพื่อให้ชาวบ้านเข้ามาทำบุญได้
"ไม่หวังให้มีศาลา หรือการมีตู้หยอดเงินเพื่อทำบุญเหมือนกับวัดอื่นๆ เพราะดูเหมือนเป็นสิ่งที่เรี่ยไรเงิน จากผู้คนมากกว่าการทำบุญ"
และถ้าจะปรับทัศนียภาพภายในวัด พระมหาวิทยา อัคคธัมโม แห่งวัดนางชี อยากให้มีต้นไม้เยอะๆ เหมือนเดิม เพื่อคนที่เข้ามาในวัดพบแต่ความสงบร่มเย็น มากกว่าการเข้ามาดูอะไรสวยๆ งามๆ
ความห่างของวัดกับสังคมไทย พระมหาวิทยา มองว่า ถือว่าห่างจากเดิม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะยังมีคนสูงอายุพากันมาทำบุญ แม้ทุกวันนี้จะน้อยลงไป แต่กลับมองว่าสิ่งที่ทำให้คนไทยวันนี้ห่างจากวัดคือ
"เรื่องของวัฒนธรรมที่เข้ามา รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางโลก ซึ่งถ้ามองไปรอบวัดจะเห็นแต่ตึกสูงๆ บดบังวัดเข้าไปทุกที รวมถึงความเป็นพระสงฆ์สมัยนี้ต่างไม่เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน เพราะมีพระจากประเทศอื่นเข้ามาบวช การวางตัว รวมถึงพระสมัยนี้ไม่สามารถเรียนรู้ธรรมะเพื่อนำไปสอนแก่พุทธศาสนิกชนได้"