ใครมีสิทธิ-ไม่มีสิทธิสมัคร 'กองทุนเงินออมแห่งชาติ' ดีเดย์เปิดรับ 20 สิงหาฯ นี้
มาตรา 4 ของพ.ร.บ. ให้สิทธิ์โอนย้ายฯ เคลียร์ชัด ปีแรกเท่านั้น เปิดโอกาสให้คนอายุเกิน 60 ปี สมัครสมาชิก กอช.ได้
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ถือเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบแล้ว ซึ่งคาดว่ามีอยู่กว่า 25 ล้านคน สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกอช. ได้
ปัจจุบันกอช.เปิดกว้างให้บุคคลตั้งแต่ช่วงอายุ 15-60 ปี ประกอบอาชีพอิสระ ทั้งเกษตรกร ค้าขาย รับจ้างทั่วไป คนขับรถแท็กซี่ แม่บ้าน สถาปนิก แพทย์ ทนายความ ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างชั่วคราว นักการเมือง (ส.ส.) นักการเมืองท้องถิ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ฯลฯ สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้
และก่อนวันที่ 20 สิงหาคม ที่กอช. ดีเดย์เปิดรับสมัครสมาชิกรายแรก "สำนักข่าวอิศรา" พาไปดูความคืบหน้ากฎหมาย กฎกระทรวงที่ออกมา เพื่อให้คลายข้อไขข้อสงสัย อย่างเช่น ใครมีสิทธิ หรือไม่มีสิทธิสมัครสมาชิก กอช. และคนอายุเกิน 60 ปี ได้สิทธิสมัครสมาชิก กอช.หรือไม่
ผู้ประกัน ม.40 รอกฎหมายการโอนย้าย ประกาศใช้
เพื่อความกระจ่างเรื่องดังกล่าว หากเปิดดู "กฎหมายการโอนย้ายจากผู้ประกันตนมาตรา 40 มายังกองทุน กอช." หรือชื่อเต็มๆ ว่า พระราชบัญญัติการให้สิทธิ์แก่ผู้สมัคร เป็นสมาชิกกองทุนเงินออมแห่งชาติ บางกรณี และการโอนเงินจากกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ไปยังกองทุนเงินออม นั้น สถานะปัจจุบันผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. วาระ 3 เรียบร้อยรอเพียงการประกาศใช้เป็นกฎหมาย
สาระสำคัญ นอกจาก โอนย้ายผู้ประกันตนมาตรา 40 มาถูกที่ถูกทาง ยังกองทุน กอช. แล้ว
ในมาตรา 4 ของพ.ร.บ. ให้สิทธิ์โอนย้ายนี้ ก็ยังเคลียร์ชัด คนอายุ เกิน 60 ปี ยังสามารถสมัครสมาชิก กอช.ได้ !!!
มาตรา 4 ระบุว่า ภายใน 1 ปี นับจากวันที่พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้ หากวันที่สมัครเป็นสมาชิก ผู้สมัครผู้ใด มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป ให้ผู้นั้นมีสิทธืเป็นสมาชิกต่อไปได้อีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่สมัคร
ฉะนั้น ปีแรกนี้จึงเป็นปีทองของคนอายุเกิน 60 ปี
ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 (5 ทางเลือก) ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ การจะโอนย้ายมากอช.นั้น กฎหมายการโอนย้ายจากผู้ประกันตนมาตรา 40 มายังกองทุน กอช. ในมาตรา 5 ระบุ ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ ผู้ประกันตมีสิทธิแสดงความจำนง โอนมาเป็นสมาชิก และให้โอนเงินของผู้ประกันตนที่แสดงความจำนงทั้งจำนวนจากองทุนประกันสังคม มาเป็นเงินสะสมในบัญชีรายบุคคลของสมาชิกรายนั้น ที่มีอยู่กับกองทุน แต่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน (อ่านประกอบ:กฤษฎีกา ชี้ชัด รัฐอุดหนุนร่วมจ่ายช่วยผู้ประกัน ม.40 มิใช่เงินสมทบ)
ขั้นตอน ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 สามารถสมัครเป็นสมาชิกกอช.ได้เลย ,ผู้ประกันตน มาตรา 40 ทางเลือกที่ 2 (มีบำเหน็จ) นั้นต้องย้ายไปอยู่ทางเลือกที่ 1 ก่อน จึงจะมีสิทธิสมัครสมาชิก กอช.ได้ ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 4 5 มีสิทธิโอนมาเป็นสมาชิก กอช.ได้ตามความสมัครใจ
กฎหมายลูกออกแล้ว 3 ฉบับ
นอกจากนี้ ขุนคลัง นายสมหมาย ภาษี ยังผลักดันจนกระทั่งมีการออกกฎกระทรวงมาอีก 3 ฉบับ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558
กฎกระทรวง ซึ่งถือเป็นกฎหมายลูกของพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ถูกดองและไม่ถูกขับเคลื่อนต่อมาเกือบ 4 ปีเต็มนั้น วันนี้บุคคลใดบ้างมีสิทธิสมัครสมาชิกกอช. อัตราการจ่ายเงินสะสมเท่าไหร่ ต้องส่งเท่ากันทุกเดือนหรือไม่ รวมไปถึงจำนวนเงินสมทบจากรัฐบาล หลักเกณฑ์การคำนวณบำนาญ และจำนวนเงินบำนาญขั้นต่ำ เริ่มกระจ่างชัดขึ้นตามลำดับ
กฎหมายกระทรวง ฉบับแรก ได้กำหนดกองทุน หรือระบบบำนาญอื่น ที่สมาชิกไม่มีสิทธิสมัคร สมาชิก กอช. มีถึง 24 หน่วยงาน ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน กกต. กสทช. เนติบัณฑิตยสภา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ฯลฯ
24 หน่วยงานที่สมาชิกไม่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิก กอช. นั้น ได้เกิดคำถามว่า การไม่มีชื่อ "สำนักงานประกันสังคม" สามารถแปลความได้ว่า ผู้ประกันตน 33 (มีนายจ้าง) และผู้ประกันตนมาตรา 39 (เคยทำงานในระบบ ต่อมาลาออก และยังส่งเงินประกันสังคมเอง) สามารถสมัครได้หรือไม่ หรือหากสมัครได้ แต่รัฐจะไม่ส่งเงินสมทบให้ (เพราะผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 ได้เงินสมทบจากรัฐบาล) ใช่หรือไม่
ต่อคำถามดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา สอบถามไปยัง สายด่วนประกันสังคม 1506 เจ้าหน้าที่ ระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ว่า ผู้ประกันตน มาตรา 33 กับ 39 สมัครสมาชิก กอช. ได้หรือไม่
ขณะที่ เว็บไซต์กองทุนการออมแห่งชาติ ระบุว่า ผู้ที่สมัครสมาชิก กอช. ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปี บริบูรณ์ และไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือสมาชิกกองทุนหรืออยู่ในระบบบำนาญอื่นที่มีการจ่ายเงินสมทบโดยรัฐบาล หรือนายจ้าง
ดังนั้น ผู้ประกันมาตรา 33 และ ผู้ประกันตนมาตรา 39 ถือเป็น ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ จึงหมดสิทธิ์!!
สำหรับ กฎหมายกระทรวง ฉบับสอง กำหนดอัตรา การจ่ายเงินสะสม และเงินสมทบ ซึ่งการส่งเงินของสมาชิก กอช.ต้องไม่น้อยกว่า 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่เกินกว่า 13,200 บาทต่อปี
สรุป สมาชิกกอช. สามารถส่งเงินสมทบ ต่ำสุด 50 บาท ถึงสูงสุดไม่เกิน 1,100 บาทต่อเดือน
ข้อดีของผู้ที่ออมเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย ออมในอัตราสูง ก็จะได้บำนาญมากขึ้นตามสัดส่วน เช่น
เริ่มออมอายุ 20 ปี ออมเดือนละ 1,000 บาทเท่ากัน เมื่อเกษียณจะได้รับเงินบำนาญ พร้อมดอกเบี้ยประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน
เริ่มออมอายุ 30 ปี ได้เงินบำนาญ ประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน
หรือเริ่มออมอายุ 40 ปี จะได้ประมาณ 2,ุ600 บาทต่อเดือน
เป็นต้น
ทั้งนี้ สมาชิกกอช.ไม่จำเป็นต้องส่งเงินสดสมทุกเดือน และไม่จำเป็นต้องส่งเงินจำนวนเท่ากันทุกเดือนก็ได้ หากปีใดไม่สามารถนำส่งเงินสะสมได้ กอช.ยังคงสิทธิ์ความเป็นสมาชิก และคงบัญชีรายบุคคลไว้ แต่ข้อเสียของการขาดส่งเงินสมทบ ส่งไม่ต่อเนื่อง รัฐก็จะไม่ส่งเงินสมทบให้ ดังนั้น เมื่อใดสมาชิก กอช.มีรายได้ ก็ควรส่งเงินสมทบชดเชยส่วนที่ขาดส่งไปเพื่อรักษาวินัยการออม มิเช่นนั้น อาจมีเงินออมน้อยทำให้ได้รับเงินบำนาญในอนาคตน้อยตามไปด้วย
สุดท้าย กฎหมายกระทรวง ฉบับสาม กำหนดหลักเกณฑ์ การคำนวณเงินบำนาญ(รายเดือน) และจำนวนเงินบำนาญขั้นต่ำ (600 บาท) เอาไว้ด้วย
เหตุที่จำเป็นต้องกำหนดเงินบำนาญขั้นต่ำ 600 บาทเอาไว้ เนื่องจากจะมีสมาชิกกอช.ที่มีระยะเวลา หรือจำนวนเงินออมน้อย เมื่อคิดแล้วก็จะได้เพียงเดือนหนึ่งไม่ถึง 500บาท จึงมีการกำหนดไว้ ให้ 600 ขั้นต่ำ และหากรวมกับเบี้ยยังชีพคนชรา เดือนละ 600 บาท ก็เป็น 1,200 บาท
ตัวเลขดังกล่าว ถือว่า ใกล้เคียงกับเส้นความยากจนด้านอาหาร (1,300 บาท) รายได้ผู้สูงอายุไทยที่จะใช้ดำรงชีพได้อย่างไม่ยากลำบาก
กอช.จึงถือเป็นระบบการออกภาคสมัครใจ สวัสดิการภาครัฐที่เกิดขึ้นมาอีกเถาหนึ่ง ของปิ่นโต "ระบบบำนาญ" บ้านเรา โดยผู้สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกกองทุนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีประมาณ 3,500 สาขาทั่วประเทศ ใช้หลักฐานเพียงโชว์ บัตรประชาชน ใบเดียว เท่านั้น
หมายเหตุ:รัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนสมาชิกกอช.ทุกคน คิดคำนวณอัตราผลประโยชน์ให้ไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ยของธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารพาณิชย์ใหญ่ อีก 5 แห่ง ทั้งนี้จะมีการทบทวนเพดานเงินสะสมหรือเงินสมทบทุก 5 ปี ตามความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก:http://www.nsf.or.th/index.php