กางแผนแก้ภัยแล้ง“รบ.บิ๊กตู่” ให้ทุกสื่อพีอาร์ประหยัดน้ำ-ดันขายพืชใช้น้ำน้อย
กางแผนแก้ภัยแล้ง “ครม.ประยุทธ์” สั่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปล่อยน้ำจากเขื่อน-รณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด-บริจาคและจัดหาน้ำดื่ม ก่อนกำหนดภัยแล้งเป็น “วาระแห่งชาติ” ชู 3 มาตรการบริหารจัดการน้ำระยะยาวยันปี’69 ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ดันส่งขายในตลาดด้วย
ในห้วงหลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบกับประชาชนมากที่สุด หนีไม่พ้น “ภัยแล้ง”
ด้านคณะรัฐมนตรีรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่างเฟ้นหาแผนบริหารจัดการ และแนวทางแก้ไขปัญหากันจ้าละหวั่น !
กระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ผลักดันให้ภัยแล้งเป็น “วาระแห่งชาติ” แล้ว
ก่อนที่จะร่างแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และแผนบริหารจัดการน้ำออกมา
มีอะไรบ้าง ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
การแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน
1.การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปล่อยน้ำจากเขื่อน
โดยให้มีการชี้แจงให้ประชาชนทราบว่า รัฐบาลพยายามบริหารจัดการด้านชลประทานให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดกับภาคเกษตร โดยเฉพาะการทำนาที่ใกล้ออกรวงและพืชสวนหรือผลไม้ โดยจะต้องพิจารณาจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในขณะนี้ของแต่ละพื้นที่ด้วย มีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบ
2.การรณรงค์เพื่อช่วยกันประหยัดน้ำ
2.1 ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า เช่น การซักล้าง การรดน้ำต้นไม้ และพิจารณานำน้ำที่ใช้แล้วมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก ให้ทุกส่วนราชการ เป็นผู้รับผิดชอบ
2.2 ให้ขอความร่วมมือจากสื่อต่าง ๆ ร่วมกันประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดผ่านสื่อทุกช่องทาง ทั้งโทรทัศน์และสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่องทุกช่วงเวลาด้วย ให้กรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้รับผิดชอบ
3.การบริจาคและจัดหาน้ำดื่ม
3.1 กรณีมีข่าวว่าจะมีการขาดแคลนน้ำดื่ม ให้เตรียมการในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้รัฐบาลประกาศเชิญชวนให้บริจาคน้ำดื่มแก่ผู้ประสบความเดือดร้อน เช่นเดียวกับที่ได้ระดมความช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติไปต่างประเทศ ให้ทุกส่วนราชการ เป็นผู้รับผิดชอบ
3.2 ในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบริจาคน้ำขวดสำหรับดื่มเพื่อเพิ่มเติมไปยังจุดจ่ายน้ำพระราชทานทุกจุด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้รับผิดชอบ
การดำเนินโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำ
1.กำหนดให้ภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติ
ให้กำหนดการแก้ไขภัยแล้งเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยให้มีการบูรณาการการทำงานของทุกกระทรวง ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ
2.การจัดทำแผนงานโครงการระยะที่ 1-3
ให้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการน้ำปี 2557-2569 ให้ชัดเจน ได้แก่ ส่วนทีด่ำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วในปัจจุบัน ส่วนทีต้องดำเนินการในระยะต่อไปในปี 2559-2560, 2561-2564 และ 2565-2569 พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกันด้วย ให้ทุกส่วนราชการที่มีโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำปี 2557-2569 เป็นผู้รับผิดชอบ
3.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก
3.1 ให้นำความรู้จากศูนย์เกษตรจังหวัด ปราชญ์ชาวบ้าน และประสบการณ์จากพื้นที่ซึ่งประสบความสำเร็จในการดูแลและพึ่งตนเองได้เผยแพร่ให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกมาเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตามแนวทางของการจัดพื้นที่ทางการเกษตร (zoning) ในระยะยาว ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้รับผิดชอบ
3.2 ให้จัดจำหน่ายผลผลิตที่ได้จากการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยดังกล่าวข้างต้น เช่น จัดตลาดจำหน่ายในพื้นที่ รวบรวมและขนส่งผลผลิตไปยังตลาดนอกพื้นที่ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความต้องการใช้และความสามารถในการผลิตให้สมดุลกันด้วย ให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รับผิดชอบ
ขณะเดียวกัน เมื่อเร็ว ๆ นี้ “บิ๊กตู่” ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยระบุว่า รัฐบาลกำหนดให้การบริหารจัดการน้ำเป็นวาระแห่งชาติ วางแผนให้ประเทศไทยไม่ขาดน้ำถึงปี 2569 การดำเนินการต่าง ๆ กำหนดไว้เป็นขั้นตอนตามช่วงระยะเวลา
โดยในช่วงแรกปี 2557-2559 ตั้งเป้าดำเนินการ 12 กิจกรรม เช่น หาแหล่งน้ำเพิ่ม ทำระบบส่งน้ำ ขุดลอกคูคลอง ทำแก้มลิง ขยายอ่างเก็บน้ำให้เพิ่มความจุ ทั้งหมดอยู่ในแผนการบริหารจัดการน้ำจนถึงปี 2569 ตามการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี อาจมีงบเงินกู้เล็กน้อยที่เตรียมไว้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากนั้นจะส่งต่อหลังปี 2560 หากสามารถดำเนินการได้ครบ จะทำให้มีพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้น ระบบชลประทานเพิ่มขึ้น วันนี้แม้จะมีปริมาณฝนตกลงมาแต่ไม่มาก เท่าที่ติดตามฝนไปตกลงที่เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ รวมทั้งเขื่อนแควน้อย เขื่อนขุนด่านปราการชล ทำให้มีกำลังใจดีขึ้น แต่การระบายน้ำช่วงไหนจำเป็นต้องลดก็ต้องลด
ส่วนมาตรการความช่วยเหลือนั้น ระยะที่ 1 จะทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว สิ่งแรกคือการจ้างงานเร่งด่วน กระทรวงมหาดไทยจะรับไปดำเนินการในทุกจังหวัด ใช้งบประมาณของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะอนุมัติให้จังหวัดละ 10 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการจ้างงาน หากไม่พอรัฐบาลจะหาเงินอุดหนุนให้
ระยะที่ 2 มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีงบประมาณอยู่แล้วไปดูแลการปลูกพืชทางการเกษตร หรือพืชหมุนเวียน เพื่อทดแทนกรณีที่ปลูกข้าวไม่ได้ รวมกับงบจ้างงานของกรมชลประทาน และระยะต่อไปคือเตรียมดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้น
พร้อมทั้งขอร้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะรัฐบาลจะดูแลทั้งในส่วนที่ปลูกไปแล้วและเกิดความเสียหาย หรือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปลูกว่าเสียโอกาสหรือไม่ ส่วนการบริจาคน้ำดื่มที่มีการรณรงค์กัน ถือเป็นการแสดงน้ำใจกันและกัน รัฐบาลจะเป็นคนกลางและจัดส่งไปยังศูนย์ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์
“ผมเห็นมีคนมาร้องห่มร้องไห้ ผมเห็นแล้วรู้สึกบีบคั้นผมพอสมควร ขอให้รู้ไว้ว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาที่จะทำให้ทุกคนต้องเสียน้ำตา เพราะน้ำมันน้อยอยู่แล้ว ขอให้เก็บน้ำตาไว้เพื่อแสดงความดีใจเมื่อฝนมา อย่าคิดว่าเราต้องช่วยทีเดียวทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้ ต้องจัดลำดับความเร่งด่วน” พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยัน
ทั้งหมดคือแนวทาง-การบริหารจัดการปัญหาภัยแล้ง ที่ถือเป็น “หนามยอกอก” รัฐบาล “ท็อปบู้ต” อยู่ในขณะนี้
ส่วนจะสำเร็จเห็นผลเป็น “รูปธรรม” หรือไม่ เร็ว ๆ นี้ คงรู้กัน ?
อ่านประกอบ : ครม.ชงมาตรการแก้ภัยแล้ง หางานให้ปชช.-สร้างความสามัคคีคนในพื้นที่
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก sanook