เครื่องออกกำลังกาย กรมพลฯ 42 ล.ล่องหน! ไม่พบติดตั้ง จ.นนทบุรี?
สำนักข่าวอิศราลงพื้นที่ตามหาเครื่องเล่นออกกำลังกาย กรมพลฯจัดซื้อ 37 รายการ 42 ล้านจาก บ.เพลย์กราวน์ฯ เครือข่ายรายใหญ่ ติดตั้ง 2 แห่ง เทศบาลบางศรีเมือง-อบต.บางรักน้อย เมืองนนท์ จนท.ยันซื้อเองหมด ไม่เคยได้รับจาก ก.ท่องเที่ยวฯ
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยเฉพาะในส่วนของกรมพลศึกษา และ กรมการท่องเที่ยว จากงบแปรญัตติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงปี 2555-2556 มากกว่า 3 พันล้านบาท พบว่า มีเอกชนนับสิบรายเป็นคู่สัญญาและถูกตั้งข้อสังเกตในหลายประการ
กรณีของ บริษัท เพลย์กราวน์ แอนด์ ฟิตเนส มาร์เก็ตติ้ง จำกัด จากการตรวจสอบพบว่าเป็นคู่สัญญาซื้ขายเครื่องเล่นออกกำลังกายกับกรมพลศึกษา เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2555 จำนวน 37 รายการวงเงิน 42.2 ล้านบาท (สัญญาเลขที่ 33/2555) กำหนดให้ติดตั้งในพื้นที่ 37 แห่ง ได้แก่ ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี กำแพงเพชร นครราชสีมา จ.นนทบุรี ต.สุไหงโกลก จ.พิษณุโลก อ.เวียงสระ และ อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี
ในส่วนของ จ.นนทบุรี เอกสารสัญญาจัดซื้อจัดจ้างที่สำนักข่าวอิศราได้รับจากกรมพลศึกษาระบุว่าติดตั้ง 2 แห่ง ๆ ละ 5 รายการ คือ
1. เทศบาลตำบลบางศรีเมือง ต.ศรีเมือง อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี
2. องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักน้อย ต.บางรักน้อย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี
ครุภัณฑ์ที่ตามระบุในสัญญาประกอบด้วย
1.สถานีพัฒนากลไกการทำงานของไหล่ – หลังและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา – สะโพก - น่อง 1 รายการ
2.สถานีพัฒนาความเจริญและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกและขา 1 รายการ
3.สถานีพัฒนาทักษะทางกายเสริมสร้างบุคลิกภาพและการตัดสินใจ 1 รายการ
4.สถานีเสริมสร้างความอบอุ่นและการบ่งปันน้ำใจ 1 รายการ และ
5.สปริงโยกยานอวกาศ (ทะลุพิภพ) 1 รายการ (ดูเอกสารประกอบ)
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 58 ผู้สื่อข่าวเดินทางตรวจสอบข้อเท็จจริงสัญญาดังกล่าว เริ่มจากเทศบาลเมืองบางศรีเมือง เมื่อเดินทางถึง พบว่า ภายในเทศบาลฯมีเครื่องออกกำลังกายติดตั้งอยู่ด้านข้างอาคารสำนักงาน
ต่อมา ติดต่อประชาสัมพันธ์ โดยเจ้าหน้ารายหนึ่ง เผยว่า ให้ไปติดต่อที่สำนักงานปลัดเทศบาล ขณะที่ เจ้าหน้าที่สำนักปลัดฯ เผยว่า ไม่ได้รับเรื่องกับกรมพลฯ ให้ไปติดต่อที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ก่อนที่กองสาธารณะสุขฯจะเผยว่า ไม่มี และให้ไปติดต่อกองการศึกษา
“ไม่มีนะ เราไม่เคยติดต่อขอ หรือร่วมงานกับกรมพลศึกษา เวลาจัดซื้อเครื่องออกกำลัง เราจัดตั้งงบซื้อเอง ที่ตั้งอยู่เราก็ซื้อเอง หลังช่วงน้ำท่วมหนักปี 54 ยืนยันว่า ไม่เคยได้รับจากกรมพลฯ” ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ยืนยัน
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่กองการศึกษา เพื่อสอบถามถึงที่ตั้งของครุภัณฑ์ออกกำลังกายและนันทนาการ โดยผู้อำนวยการกองศึกษา เผยว่า ทางเทศบาลฯจัดซื้อเองเหมือนกัน ไม่เคยขอจากกรมพลศึกษา
ต่อมา ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางต่อไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักน้อย โดยเจ้าหน้าที่กองคลังรายหนึ่งได้ค้นหาข้อมูลพัสดุดังกล่าว แต่ไม่พบ ก่อนเผยต่อว่า ในช่วงปี 56 – 57 ทาง อบต.บางรักน้อย จัดตั้งงบและทำการจัดซื้อจัดจ้างเองทั้งหมด ไม่ได้ขอหรือรับบริจาคจากกรมพลฯ เพราะถ้ามีการจัดส่งมาจริงๆ ต้องมีหนังสือโต้ตอบกันระหว่าง อบต.บางรักน้อยกับกรมพลศึกษา แต่ก็หาแล้วไม่พบข้อมูลจัดซื้อดังกล่าว
ทั้งนี้ ในสัญญาซื้อขายเครื่องออกกำลังกายและนันทนาการกลางแจ้ง จำนวน 37 รายการ จากบริษัทเพลย์กราวน์ฯ ประกอบด้วย
1.สถานีเสริมสร้างความอบอุ่นลารแบ่งปันน้ำใจ จำนวน 17 ชุด วงเงิน 8,874,000 บาท
2.สถานีพัฒนาทักษะทางกายเสริมสร้างบุคลิกภาพและการตัดสินใจ จำนวน 19 ชุด เป็นเงิน 5,662,000 บาท
3.สถานีพัฒนาความสามารถของร่างกาย (B) จำนวน 16 ชุด เป็นเงิน 528,000 บาท
4.สถานีพัฒนาความเจริญและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกและขา จำนวน 17 ชุดเป็นเงิน 986,000 บาท
5. สถานีพัฒนากลการทำงานของไหล่-หลังและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา-สะโพก-น่อง จำนวน 17 ชุด เป็นเงิน 1,037,000 บาท
6.สถานีสร้างเสริมสมรรถภาพกลไกการเคลื่อนไหวและการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจำนวน 17 ชุด เป็นเงิน 748,000 บาท
7.สถานีเสริมสร้างสมรรถภาพการเคลื่อนไหวร่างกาย จำนวน 5 ชุด เป็นเงิน 335,000 บาท
8.สถานีพัฒนาสมรรถภาพทางกลไกของร่างกาย จำนวน 5 ชุด เป็นเงิน 170,000 บาท
9. สถานีเสริมสร้างความอ่อนตัวและข้อ จำนวน 5 ชุด เป็นเงิน 290,000 บาท
10. สถานีสร้างเสริมทักษะการเคลื่อนไหวร่างกาย จำนวน 2 ชุด เป็นเงิน 102,000 บาท
11. สถานีพัฒนาพลังกล้ามเนื้อและผ่อนคลายข้อต่อ จำนวน 5 ชุด เป็นเงิน 160,000 บาท
12. สถานีพัฒนาสมรรถภาพร่างกายและความสมบูรณ์ของร่างกาย จำนวน 4 ชุด เป็นเงิน 176,000 บาท
13. สถานีพัฒนาความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของข้อต่อ จำนวน 1 ชุด เป็นเงิน 45,000 บาท
14. สถานีผ่อนคลายและบำบัดไหล่ – หลัง จำนวน 1 ชุด เป็นเงิน 34,000 บาท
15. สถานีพัฒนาความยืดหยุ่นของข้อต่อและกลไกการเคลื่อนไหว จำนวน 1 ชุดเป็นเงิน 34,000 บาท
16. สถานีพัฒนาความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นของร่างกายจำนวน 1 ชุด เป็นเงิน 53,000 บาท
17. สถานีเสริมสร้างความอ่อนตัวและทรวดทรง (กลุ่มสัมพันธ์) จำนวน 3 ชุด เป็นเงิน 339,000 บาท
18. สถานีผ่อนคลายและบำบัดกล้ามเนื้อหลัง – แขน จำนวน 4 ชุด เป็นเงิน 212,000 บาท
19. สถานีเสริมสร้างความยืดหยุ่นของข้อต่อและประสาทสัมผัส จำนวน 1 ชุด เป็นเงิน 54,000 บาท
20. สถานีสร้างเสริมความพร้อมความทนทานและความแข็งแรงท่อนบน จำนวน 1 ชุด เป็นเงิน 130,00 บาท
21. สปริงโยกรถ (ท้ามฤตยู)จำนวน 19 ชุด เป็นเงิน 893,000 บาท
22. สปริงโยกยานอวกาศ (ทะลุพิภพ)จำนวน 19 ชุด เป็นเงิน 893,000 บาท
23. สถานีเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ – สร้างสีสันและหรรษา จำนวน 4 ชุด เป็นเงิน 1,196,000 บาท
24. สถานีร่วมมือร่วมใจและผ่อนคลายความตึงเครียด จำนวน 23 ชุด เป็นเงิน 10,281,000 บาท
25. สถานีเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์และสร้างสรรค์ความสุขใจ จำนวน 16 ชุด เป็นเงิน 6,680,000 บาท
26. สถานีพัฒนาทักษะการเรียนรู้และส่งเสริมการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ จำนวน 1 ชุด เป็นเงิน
288,000 บาท
27. เครื่องฝึกกล้ามเนื้อ หัวไหล่ และแขนแบบจานล้อหมุนจำนวน 1 เครื่อง เป็นเงิน 116,000 บาท
28. เครื่องบริหารเอว จำนวน 1 เครื่อง เป็นเงิน 186,500 บาท
29. เครื่องบริหารกล้ามเนื้อเอว จำนวน 2 เครื่อง เป็นเงิน 240,000 บาท
30. เครื่องบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องจำนวน 1 เครื่อง เป็นเงิน 120,000 บาท
31. เครื่องนวดและคลายกล้ามเนื้อหน้าท้อง จำนวน 1 เครื่อง เป็นเงิน 171,500 บาท
32. เครื่องบริหารระบบหัวใจและไหลเวียนโลหิต แบบก้าวเดินในอากาศจำนวน 1 เครื่อง เป็นเงิน 118,000
บาท
33. เครื่องบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและขาแบบม้าโยก จำนวน 2 เครื่อง เป็นเงิน 196,000 บาท
34.เครื่องฝึกกล้ามเนื้อขาส่วนล่างจำนวน 1 เครื่อง เป็นเงิน 171,000 บาท
35. เครื่องบริหารระบบหัวใจและไหลเวียนโลหิต แบบก้าวเดินวงรี จำนวน 2 เครื่อง เป็นเงิน 276,000 บาท
36. เครื่องบริหารกล้ามเนื้อหน้าอก หัวไหล่ และหลังจำนวน 1 เครื่อง เป็นเงิน 315,000 บาท
37. เครื่องยืดเหยียดกล้ามเนื้อ แบบกลางแจ้ง จำนวน 1 เครื่อง เป็นเงิน 90,000 บาท
รวม 37 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 42,200,000 บาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 2,760,747.66 บาท ตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้ว กำหนดส่งมอบภายใน 22 วันนับจากวันที่ลงนามในสัญญา
สำหรับที่ตั้ง บริษัท เพลย์กราวน์ แอนด์ฟิตเนส มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือ เลขที่ 458/289 หมู่บ้านธนาภิรมย์ หมู่ที่ 3 ถ.เพชรเกษม 69 แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 58 ที่ผ่านมาผู้สื่อข่าว เดินทางไปตรวจสอบพบว่าเป็นบ้านทาวเฮาส์ 2 ชั้น ขนาด 21 ตร.วา ด้านหน้าติดป้ายชื่อบริษัทฯ และมีป้ายบริการรับซัก อบ รีด (อ่านประกอบ: เผยโฉม"เพลย์กราวน์ฯ"คู่สัญญาจัดซื้อเครื่องเล่น 42 ล. ติดป้ายรับ"ซัก-อบ-รีด")
และจากการตรวจสอบเอกสารการจดทะเบียนบริษัทฯพบว่า มีความเชื่อมโยงกับ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ไลฟ์สตรอง เซอร์วิส คู่สัญญาจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ของหน่วยงานท้องถิ่นจำนวนมาก (อ่านประกอบ: ที่แท้!2 บ.คว้าจัดซื้อเครื่องเล่น ก.ท่องเที่ยว-อปท. 1,400 ล้านเป็น“พวกเดียวกัน”)
อ่านประกอบ:
เปิดหมด!งบแปรญัตติ ก.ท่องเทียว 3.3 พันล.- พบ'ซันสปอร์ต'รายเดียวกวาด 900 ล.
พบอีก 20 แห่งจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย บ.ไลฟ์สตรองฯรวบ-‘หน้าเดิม’คู่เทียบ
6กรณีชัดๆ“อินครีซ”รวบจัดซื้อเครื่องเล่น อบจ.เพชรบูรณ์ 63 ล.“2 บ.คู่หู”คู่เทียบ
ผ่าจัดซื้อเครื่องเล่น อบจ.อุดรฯ-อำนาจเจริญ 125 ล.“ไลฟ์สตรอง”ฟันเรียบ-2 คู่หู“คู่เทียบ”
เปิดตัว"อินครีซ"ผู้ขายเครื่องเล่นให้ อปท.40 แห่ง 240 ล. ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น
เปิด บ.หญิงสาวรายใหม่-คู่เทียบ“ไลฟ์สตรอง”คว้าเครื่องเล่น อปท.40 แห่ง 240 ล.