ส่องแสงให้เข้าไปในเงามืด! นักวิชาการ-ขรก.ชงแนวทางปราบโกง คสช.
“…หลักการต่อสู้พวกฉ้อราษฎร์บังหลวง คือบุคคลใดทำหน้าที่สาธารณะ ต้องอยู่ในสายตาของสาธารณชน คือการให้แสงสว่างส่องเข้าไปในกิจกรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง หากบุคคลสาธารณะอยู่ในเงามืด ตรวจสอบไม่ได้ ก็มีโอกาสที่บุคคลเหล่านั้นขาดความยับยั้งชั่งใจ ถูกชักจูงให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่งผลเสียต่อสาธารณชน และอาจเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้…”
“จะใช้แนวทางอย่างไรก็ได้ ขอให้นำคนโกงมาลงโทษ”
เป็นคำยืนยันของ “มานะ นิมิตมงคล” ผอ.องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย ที่ลั่นกลางวงสัมมนา “โต๊ะกลม” เรื่อง มาตรการการใช้การแสดงรายการภาษีเงินได้เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จัดโดยสำนักงานพัฒนาการเมือง
มีผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับสูงในองค์กรอิสระ รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย นอกเหนือจาก “มานะ” ก็มี “ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์” ประธานสภาพัฒนาการเมือง “สมพงษ์ ตัณฑพาทย์” รองอธิบดีกรมสรรพากร “อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล” รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 1 “กิตติศักดิ์ ปรกติ” อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รวมถึงผู้แทนจาก “องค์กรตรวจสอบ” ทั้งหลาย เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และ ป.ป.ช. เป็นต้น
โดยการสัมมนาครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อใช้ใบแสดงรายการภาษีเงินได้ที่พลพรรค “นักการเมือง-ข้าราชการ” จำเป็นต้องยื่นต่อกรมสรรพากร มาเทียบเคียงกับรายได้ที่ปรากฏในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าใกล้เคียงกับ “สารพัดสมบัติ” ที่เก็บไว้หรือไม่
หากไม่ตรงกัน อาจเป็นไปได้ว่ามีการฟอกเงินหรือไม่ ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงการเสวนามาให้สาธารณชนรับรู้กัน ดังนี้
เบื้องต้น “อนุรักษ์” เปิด 3 ปมร้อนที่จำเป็นต้องได้รับการยกระดับอย่างเร่งด่วนให้แก่ที่ประชุมได้รับฟังกัน ได้แก่
หนึ่ง การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินและฐานะความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับสำเนาแสดงรายการภาษีเงินได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช. ไม่ได้นำสำเนาภาษีเงินได้ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาใช้ประโยชน์เลย ป.ป.ช. เพียงแค่ตรวจสอบความถูกต้องและมีอยู่จริงของทรัพย์สินเท่านั้น แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่าทรัพย์สินที่ยื่นมานั้นถูกต้องและมีอยู่จริง
สอง เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯของข้าราชการระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือปลัดกระทรวงต่าง ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจด้วย เพราะถ้าไม่เปิดเผยก็ไม่มีประโยชน์
สาม ประชาชนต้องมีสิทธิ์ในการขอสำเนาแบบภาษีเงินได้ของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง เพื่อใช้ในการตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย
ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดนี้ เตรียมจะนำไปให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาด้วย !
หลังจากนั้นวงสัมมนาได้เปิดโอกาสให้ถกเถียงกันอย่างอิสระ โดย “มานะ” ประเดิมเป็นคนแรก ระบุตอนหนึ่งว่า ในทางวิชาการมีการพูดหลายแนวทาง แต่ท้ายสุดการเอาคนผิดมาลงโทษทางกฎหมาย เป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ว่าจะใช้มาตรการอะไร ก็ล้วนเป็นต้นทุน เช่น มาตรการกับนักธุรกิจ ที่ต้องทำราคากลางยื่นบัญชีโครงการกับกรมสรรพากร เรื่องพวกนี้มีต้นทุน และอาจเป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก
“แต่มาตรการทางภาษี มีต้นทุนต่ำมาก และบุคคลภายนอกแทบจะไม่มีต้นทุน เพราะมันคือสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว แค่ถ่ายสำเนาแล้วนำมาส่งให้กรมสรรพากร ตรงนี้เป็นมาตรการที่มองว่า เป็นอีกหนึ่งกลวิธีที่จะเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะมีต้นทุนต่ำ ด้วยวิธีการนี้จะสามารถเป็นฐานพิสูจน์ หรือสืบทราบข้อมูลให้กับมาตรการอื่น ๆ ที่ได้พูดไว้แล้วในตอนต้น”
ต่อมา ร.ต.อ.หญิง สุวนีย์ แสวงผล รองเลขาธิการ ปปง. เปิดฉากด้วยการซัด ป.ป.ช. ว่า
สาเหตุที่ทำให้ ปปง. อายัดทรัพย์สินของคนทุจริตได้ล่าช้าเป็นเพราะ ป.ป.ช. ไม่ยอมชี้มูลความผิดเสียที !
ร.ต.อ.หญิง สุวนีย์ ระบุว่า ปัญหาส่วนหนึ่งของการทุจริตเกิดจากธุรกรรมทางการเงิน จริง ๆ แล้วกฎหมายที่เรามีอยู่ ถ้าบูรณาการร่วมกันก็คิดว่ายังบังคับใช้ได้ แต่ตอนนี้เราแยกกันทำ เราบูรณาการกันไม่ได้เลย ต้องบอกอย่างนั้น ในเรื่องการยึดทรัพย์ ปปง. ทำไม่ได้เพราะ ป.ป.ช. ไม่เคยชี้มูล และกว่าจะชี้มูลก็ไม่ทราบว่ากี่ปี ดังนั้นถ้าอยากจะให้รวดเร็ว ป.ป.ช. ก็ต้องชี้มูลให้เร็วด้วย เพราะ ปปง. ไม่ได้อายัดแค่บุคคลที่ถูกชี้มูล แต่ ปปง. จะวิเคราะห์และเชื่อมโยงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย
“ปกติคนทำผิดไม่เอาทรัพย์สินไว้ที่ตัวเองอยู่แล้ว พอ ป.ป.ช. ชี้มูลช้า ก็มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไว้ให้กับนอมินี แล้วของท่านเอื้อมไปถึงหรือไม่ ถ้าไม่ถึง มันก็ลำบาก ปปง. ก็ลำบาก”
ร.ต.อ.หญิง สุวนีย์ ยืนยันว่า ปปง. เอาเรื่องภาษีมาคิดเสมอ แม้กฎหมายจะไม่ได้บอกว่าต้องรายงานเรื่องภาษี แต่ ปปง. ก็ดูการทำธุรกรรมหรือวิเคราะห์ทรัพย์สินคือรายได้ รายจ่าย เราขอทุกหน่วยงาน ทุกครั้งที่เราตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลพวกนี้เสียภาษีหรือไม่ ดังนั้นถ้ามีการบูรณาการร่วมมือกัน การแก้ไขปัญหานี้ก็อาจสำเร็จได้ส่วนหนึ่ง
แต่ “ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” ผอ.สถาบันอิศรา มองอีกมุมหนึ่งว่า ปัญหาขณะนี้อยู่ที่ตัวกฎหมาย และวิธีการปฏิบัติ เราเขียนกฎหมายมาเยอะแยะ โดยเฉพาะมาตรา 49 ของประมวลกฎหมายรัษฎากร ที่เคยใช้เมื่อช่วงคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ปี 2534 มีนักการเมืองหลายคนที่โดนสรรพากรไล่เก็บภาษี
“จริง ๆ แล้วปัญหาคือ แม้มีมาตรา 49 ของประมวลรัษฎากร แต่กรมสรรพากรไม่เคยใช้ ไม่กล้าใช้ ตราบใดที่สรรพากรไม่ถูกปฏิรูปให้อิสระ ดังนั้นขั้นแรกกรมสรรพากรต้องไม่ถูกครอบงำไม่ว่าจากอะไรก็ตาม เพราะถ้าถูกครอบงำก็จะไม่มีการตรวจสอบ และไม่ใช่แค่กรมสรรพากร ยังรวมไปถึงกรมศุลกากรอีกด้วย”
“ประสงค์” ชี้ให้เห็นว่า กรมเหล่านี้เป็นหน่วยงานสำคัญเกี่ยวกับภาษี แต่ไม่เคยถูกจัดการให้โปร่งใส ถ้ากรมพวกนี้ไม่ทำก็จบ ดังนั้นเบื้องต้นต้องปฏิรูปโครงสร้างกรมเหล่านี้ก่อน ให้การทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ ถ้าไม่เริ่มตรงนี้ก็ไม่มีความหมาย และมาตรา 49 นี้ก็ครอบคลุมนักการเมืองอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังรวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย เพราะถ้าปล่อย กกต. จัดการเลือกตั้งโดยไม่ตรวจสอบที่มาของเงิน มันก็ยังด้วน ๆ อยู่ ดังนั้น กกต. ไม่จำเป็นต้องไปจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ให้จัดระดับชาติอย่างเดียว และต้องบูรณาการกับหน่วยงานอื่นด้วย ไม่ใช่ต่างคนต่างมัวสร้างอาณาจักรของตัวเอง
อย่างไรก็ดี “สมพงษ์” มองว่า เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่จะดำเนินการตามมาตรา 49 ดังกล่าว และมาตรา 49 นี้ถ้าอ่านผิวเผินมันทำง่าย แต่การประเมินกรณีใด ๆ ต้องอาศัยพยานหลักฐานด้วย ซึ่งเราต้องตรวจสอบตลอด แต่การประชาสัมพันธ์ทำไม่สะดวกอย่างองค์กรอื่น นอกจากนี้ที่ผ่านมาการใช้วิธีปกติมันได้ผลกว่า เช่น การหาข้อมูลจากสถาบันการเงิน และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
“สมพงษ์” ยืนยันว่า ปัจจุบันมีการประสานข้อมูลกับ ป.ป.ช. ปปง. ป.ป.ท. ตลอด บางครั้งต้องยอมรับว่า การประสานงานบางเรื่องยังไม่สอดคล้องกันเท่าไหร่ บางครั้งข้อมูลจากองค์กรตรวจสอบเหล่านี้ก็ไม่ทันเวลา เพราะเกินกำหนดตามกฎหมาย ดังนั้นทุกหน่วยต้องเริ่มดำเนินการของตัวเองก่อน พอบังคับใช้กฎหมายตัวเองไม่ได้ จึงค่อยส่งกรมสรรพากร
“การประเมินภาษีมันใช้เวลานานมาก รวบรวมพยานหลักฐานนาน และช่วงดังกล่าวเราไม่มีอำนาจในการอายัดทรัพย์สินล่วงหน้า ที่จริงในหน่วยงานเราเน้นการบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ และพยายามผลักดันในเรื่องความเป็นอิสระ หน่วยงานเราลำบาก ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะถ้าเราเคร่งกับทุกคน มันก็เกิดต้นทุน ทำให้เจ้าหน้าที่ลดประสิทธิภาพลงไป ถ้ากรณีไหนไม่แน่ใจจะไม่ทำ เกียร์ว่างเยอะ เพราะมีมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา ประกบหลังอยู่”
หลังจากนั้น “กิตติศักดิ์” ตบเข้าประเด็นว่า หลักการต่อสู้พวกฉ้อราษฎร์บังหลวง คือบุคคลใดทำหน้าที่สาธารณะ ต้องอยู่ในสายตาของสาธารณชน คือการให้แสงสว่างส่องเข้าไปในกิจกรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง หากบุคคลสาธารณะอยู่ในเงามืด ตรวจสอบไม่ได้ ก็มีโอกาสที่บุคคลเหล่านั้นขาดความยับยั้งชั่งใจ ถูกชักจูงให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่งผลเสียต่อสาธารณชน และอาจเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้
“กิตติศักดิ์” มองว่า ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นและควรให้ความสนใจคือ ในแง่ที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ก็ทำให้เกิดการระวังอย่างเต็มที่เช่นกัน ดังนั้นสิ่งเดียวทีต้องคิดคือ ทำอย่างไรให้การคุ้มครองแก่ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง สามารถตัดสินใจโดยไม่หวั่นเกรงการตรวจสอบ
“กิตติศักดิ์” แบ่งปัญหาระบบราชการออกเป็น “โรค 3 ก” ได้แก่ ข้าราชการขี้โกง ข้าราชการขี้เกียจ และข้าราชการขี้กลัว ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้สังคมไทยอยู่ในจุดนี้ นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรมบางครั้งก็แพงเกินไป บางครั้งช้าเกินไป ถ้าไม่แพง ไม่ช้า แล้วรวดเร็ว ก็ถูกครหาว่าไม่แน่นอน ขาดคุณภาพ สองมาตรฐานอีก
“ตรงนี้ต้องหาทางแก้ไขว่า ถ้าหากมีมาตรการส่องสว่างอย่างแท้จริง การปฏิรูปอย่างอื่นต้องตามมาด้วย และกระบวนการเหล่านี้ต้องขจัดไปพร้อมกันกับการส่องสว่างในระบบราชการ”
ทั้งหมดคือแนวทางเบื้องต้นในการ “กวาดล้าง” คอร์รัปชั่นให้ “เหี้ยน” จากประเทศไทย ตามมุมมองของบรรดานักวิชาการ-ข้าราชการ ก่อนจะส่งให้ คสช.-กมธ.ยกร่างฯ พิจารณา
แต่จะสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ !
อ่านประกอบ : ชงมาตรการปราบทุจริตจี้ป.ป.ช.สอบภาษีนักการเมือง-โชว์ทรัพย์สินบิ๊กขรก.