ม.ธุรกิจบัณฑิตย์เผยผลสำรวจพบครัวเรือน75.1%ชี้ปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น
สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยผลสำรวจการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พบประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 54.6% และ75.1% ชี้ปี 2557 ปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น
สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สำรวจความเห็นของตัวแทนของครัวเรือนจำนวน 3,901 ครัวเรือน จาก 21 จังหวัดทั่วประเทศ เกี่ยวกับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10 เมษายน ถึง 25 มิถุนายน 2558
ผลการสำรวจ ระบุว่า 75.1% ของครัวเรือนทั้งหมดที่สำรวจพบปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้านั้น และ 8.9 % ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจบอกว่า ในปี 2557 ประสบเหตุอาชญากรรมอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
ในกลุ่มครัวเรือนที่ประสบเหตุนี้ 38.7% ระบุว่า เป็นเรื่องการถูกขโมยหรือพยายามขโมยทรัพย์สินในบ้านหรือที่พักอาศัย 12% ถูกขโมยหรือพยายามขโมยทรัพย์สินในพาหนะ 10% ถูกปล้น จี้ ชิงทรัพย์ 6.7% ถูกทำร้ายหรือพยายามทำร้ายร่างกาย 5.3% ถูกวิ่งราวทรัพย์ และอีก 27.3% เป็นเรื่องอื่นๆ เช่น ถูกล้วงกระเป๋า ถูกกรรโชกทรัพย์ แชร์ลูกโซ่ ถูกหลอกลวงให้เข้าใจผิดทางอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
เมื่อสอบถามความเห็นของตัวแทนครัวเรือนว่า ปัญหาอาชญากรรมของประเทศในปี 2557 เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปี 2556 20.8% ระบุว่า เพิ่มขึ้นมาก 54.3% ระบุว่า เพิ่มขึ้น 18.5% ระบุว่า ไม่แตกต่างกัน 1.4% ระบุว่า น้อยลง และ 5% ระบุว่า น้อยลงมาก
และเมื่อรวมผู้ที่ระบุว่าปัญหาเพิ่มขึ้นมาก และเพิ่มขึ้น เข้าด้วยกัน จะคิดเป็น 75.1% ของครัวเรือนทั้งหมดที่ทำการสำรวจ
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อยกระดับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม คือการเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อให้ทราบว่าตนเองมีสิทธิอะไรบ้าง ทราบถึงช่องทางต่างๆ ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมถึงข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและความช่วยเหลือที่หน่วยงานต่างๆ มีให้กับประชาชน
ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย กล่าวด้วยว่า ความรู้เหล่านี้จะช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ที่เคยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในกระบวนการยุติธรรมเพราะความไม่รู้ แม้ว่าการเพิ่มการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยังไม่ใช่สูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาทั้งหมด แต่ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาให้กับผู้เดือดร้อนซึ่งเห็นผลได้ค่อนข้างรวดเร็ว และเป็นการสร้างบรรยากาศซึ่งเอื้อต่อการปรับปรุงในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้กฎหมายที่มีอยู่เป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคนได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้จากตารางจะเห็นว่าภาพรวมคะแนนที่ได้คิดเป็น 54.6% สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนที่ทำการสำรวจ มีความสามารถในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมแค่ในระดับ “พอใช้” โดยมีเพียง 3 ด้านที่ได้ผลการประเมินในระดับค่อนข้างดี ซึ่งเป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับช่องทางในการระงับข้อพิพาทและการติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อจำเป็นต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรม
ประเด็นที่มีคะแนนการประเมินต่ำที่สุด 3 เรื่อง ได้แก่ การทราบถึงช่องทางใช้บริการจากหน่วยงานเพื่อเจรจาตกลงเรียกร้องค่าเสียหายกับฝ่ายกระทำความผิด ความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และการทราบถึงช่องทางในการเข้าถึงกลไกในการเยียวยาความเสียหาย ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่มักปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ อยู่เสมอ