คปร.-คสป. เคาะยุทธศาสตร์สามขาเคลื่อน ปท. สมัชชา 15 มค. ยกโทษชาวบ้านโดนคดี
"ณรงค์- เตือนใจ" เผยใช้ยุทธศาสตร์สามขา วิชาการ-สื่อ-สมัชชา ขับเคลื่อน 14 คณะทำงาน เน้นพูดเรื่องดี เตรียมจัดสมัชชาเชิงประเด็น 15 มค. เสนอนิรโทษกรรมชาวบ้านโดนคดีป่าไม้ที่ดิน ผลักแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหายั่งยืน
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนการทำงานของคณะกรรมการทั้ง 14 คณะ โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ขา ว่า จะต้องดำเนินการทั้งในด้านวิชาการ สื่อสารสังคม และคณะสมัชชา เพื่อให้การทำงานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะคณะกรรมการเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน เพื่อการปฏิรูป ได้มีการใช้ยุทธศาสตร์ทั้งด้านวิชาการ และสื่อการประชาสัมพันธ์อยู่บ้างแล้ว จึงสามารถปรับใช้และประสานกับเครือข่ายอื่นๆ ได้ง่าย
“แนวทางในการทำงานต่อไปจะเน้นเสริมในส่วนที่ยังขาด โดยโจทย์หลักๆ คือการเร่งปรับให้ข่าวสารของการปฏิรูปฯ ได้รับการยอมรับจากกระแสสังคม ซึ่งจะใช้วิธีเพิ่มช่องทางในการสื่อสารให้มากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรให้สื่อในสังคมไทยให้ความสนใจกับข่าวสารของการปฏิรูปฯ ที่ไม่ใช่ข่าวร้าย ตามธรรมเนียมของสื่อในสังคมไทยที่เน้น‘ข่าวร้าย ขายได้’ เพราะการปรับในส่วนนี้จะสามารถทำให้การทำงานของคณะปฏิรูปดำเนินไปได้ง่ายยิ่งขึ้น”
ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ 3 ขา ประกอบไปด้วย 1.คณะทำงานด้านวิชาการ ซึ่งจะมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นประธาน 2.ด้านสื่อสารมวลชนเพื่อการปฏิรูป มี รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ เป็นประธาน 3.คณะกรรมการจัดสมัชชา ซึ่งคณะทำงานด้านวิชาการ จะนำประเด็นจาก 14 คณะย่อยไปจัดสมัชชา อาจเป็นสมัชชาเชิงประเด็น หรือสมัชชาเชิงพื้นที่ โดยคณะวิชาการจะช่วยสังเคราะห์ให้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ขณะที่ด้านสื่อสารมวลชนเพื่อการปฏิรูป จะทำหน้าที่เชื่อมโยงกับสื่อทุกระดับ ทุกประเภท ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะไปจัดสัมมนากับสื่อมวลชนในทั้ง 4 ภาคของประเทศ เพื่อให้สื่อระดับท้องถิ่น ระดับประเทศร่วมกันทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับการปฏิรูป เพื่อให้สื่อต่าง ๆ นำไปขยายผลและสื่อสารกับประชาชน ส่วนคณะกรรมการจัดสมัชชา จะช่วยวางแผนว่าการจัดสมัชชาเชิงประเด็น หรือสมัชชาเชิงพื้นที่ควรจะใช้วิธีการอย่างไร เพื่อที่จะให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายได้
นางเตือนใจ กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์ 3 ขา จะช่วยสนับสนุนคณะกรรมการย่อย แต่หากเรื่องใดที่คณะกรรรมการย่อยมีความสามารถอยู่แล้วก็อาจไม่ต้องช่วย เช่น คณะกรรมการเครือข่ายผู้เสียโอกาส คนที่มีปัญหาทางกฎหมาย ทางคณะมีนักวิชาการด้านกฎหมายอยู่แล้ว อาจไม่ต้องขอให้คณะวิชาการ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ 3 ขาช่วยสนับสนุนด้านนี้ แต่ขณะที่ด้านสื่อสารมวลชนเพื่อการปฏิรูป จะต้องช่วยสนับสนุนในทุกคณะแน่นอน เนื่องจากทุกคณะต้องการให้มีการสื่อสารออกไปสู่ประชาชน
ส่วนจะมีหลักเกณฑ์ในการวัดผลยุทธศาสตร์ 3 ขาอย่างไร นางเตือนใจ กล่าวว่า ได้มีการจัดตั้งคณะติดตามและประเมินผล ซึ่งมีนายจาดุร อภิชาตบุตร เป็นประธาน โดยทำหน้าที่ติดตามการทำงาน การสื่อสารของทั้ง 14 คณะ รวมทั้งยุทธศาสตร์ 3 ขาด้วย
เมื่อถามว่า การจัดสมัชชาจะมีรูปแบบอย่างไรนั้น นางเตือนใจ กล่าวว่า คณะกรรมการจัดสมัชชาจะต้องรับเรื่องจากคณะกรรมการย่อย 14 คณะก่อน แต่ในขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการสมัชชามีข้อเสนอว่าประชาชนมีการคาดหวังต่อผลงานของคณะกรรมการชุดนี้ และต้องการสื่อสารให้สังคมเห็นคุณค่าและประโยชน์ของคณะกรรมการสมัชชา ฉะนั้นที่ประชุมจะดำเนินการจัดสมัชชาเชิงประเด็น ภายในวันที่ 15 มกราคม 2554 โดยประเด็นแรกที่จะนำเสนอคือ ‘การนิรโทษกรรมประชาชน ผู้ไม่มีความผิด’ กรณีข้อพิพาทของชาวบ้านซึ่งมีปัญหาที่ดินทำกิน ในพื้นที่ที่ปู่ยาตายายบุกเบิก แต่ต่อมาถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตป่าสงวน ซึ่งต่อมาถูกจับกุมและรับโทษทางกฎหมาย
“การนิรโทษกรรมประชาชน ผู้ไม่มีความผิด เป็นประเด็นสาธารณะเรื่องแรกที่หยิบยกขึ้นมา เพื่อที่จะได้รับการแก้ไขในเชิงนโยบาย หรือเชิงกฎหมาย ทั้งนี้ ปัญหาของประชาชนอาจจะแก้ไขได้ในหลายระดับ แต่การแก้โดยกฎหมายจะเป็นการแก้ไขที่ยั่งยืน เพราะไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งต้องมีนโยบายแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านขึ้นมา นอกจากนี้ ยังมีการหวังผลว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า จะมีพรรคการเมืองนำข้อเสนอของประชาชน ไปเป็นนโยบายของพรรค ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปที่แท้จริง เพื่อว่าได้รับการนำเสนอเป็นนโยบายโดยพรรคการเมืองต่างๆ”