ศิลปินร่วมใจต้านภัยคอร์รัปชัน ใช้ ‘ผู้ใหญ่มา’ กับ ‘จ่อย ’กระตุ้นพลังสะอาดสังคม
องค์กรต่อต้านการทุจริตฯ มธ. จัดนิทรรศการ-ประมูลผลงานศิลปะ สมทบทุนดำเนินกิจกรรมต้านโกง พบกับประติมากรรม ‘ผู้ใหญ่มา’ กับ ‘จ่อย’ ตำนานผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน ศิลปินฝีมือระดับอาจารย์คับคั่ง ณ หอศิลป์ฯ กทม.
“บ้านเมืองเราเซซวนล้วนพรุนโพรง
มอดแมลงแมงโกงมันกัดกร่อน
ให้เห็นดีกับริยำที่ตำบอน
สวมอาภรณ์อำพรางไม่ระคางเคือง
ตราบที่ยังเอาเงินขึ้นเป็นใหญ่
มันก็โกงกันไปได้ทุกเรื่อง
ทั้งการงานการบ้านจนการเมือง
กระทั่งเรื่องเลือกตั้งก็ยังโกง...”
บทกวีตอนหนึ่ง ‘แมงโกง’ ประพันธ์โดยศิลปินแห่งชาติ ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ ถูกขับกล่อมเคล้าเสียงดนตรีจากวงคันนายาว และเป็นหนึ่งในผลงานร่วมประมูลจิตรกรรมและประติมากรรมจากเครือข่ายศิลปิน รวมทั้งจัดแสดงผลงาน เพื่อหารายได้สมทบทุนดำเนินกิจกรรมสถาบันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแห่ง ม.ธรรมศาสตร์ ในงานศิลปินร่วมใจ ต้านภัยคอร์รัปชัน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 22-31 กรกฎาคม 2558
โดยในวันเปิดตัวมี ‘อรนิศวร์ เพชรวงศ์ศิริ’ ผู้ประกาศข่าว รับหน้าที่เป็นพิธีกร เธอถือเป็นโต้โผคนสำคัญในการผลักดันโครงการ ร่วมกับ ‘วสันต์ ภัยหลีกลี้’ ผอ.สถาบันต่อต้านการทุจริตฯ ม.ธรรมศาสตร์ และศิลปินคนอื่น ๆ และหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยเกิดความตระหนักและสร้างเครือข่ายป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเปรียบดังมะเร็งร้ายกัดกินประเทศทุกขณะ
ทั้งนี้ ได้รับความสนใจจากบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมากร่วมประมูลและรับชมงาน อาทิ มานิจ สุขสมจิตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยและ สปช. อภิรักษ์ โกษะโยธิน สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผอ.บริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
'ชวน หลีกภัย' อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองที่ได้ชื่อเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต กล่าวถึงการป้องกันทุจริตคอร์รัปชันว่า ไม่ได้เกิดจากตาสีตาสา ไอ้เท่ง ไอ้ทอง หรือหนูนุ้ย แต่คนทุจริตส่วนใหญ่ล้วนจบการศึกษามาจากสถาบันใหญ่ ๆ ตั้งแต่ตำรวจขูดรีดทุกวันนี้มาจากสถาบันเดียวกันกับตำรวจที่เสี่ยงชีวิต หรือคนทุจริตโกงบ้านโกงเมืองก็จบจากมหาวิทยาลัยมาทั้งนั้น
"เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสปาฐกถา เรื่อง ธรรมาภิบาลกับการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยคุนหมิง ประเทศจีน เพราะประเทศดังกล่าวมีกรณีทุจริตคอร์รัปชันมาก ซึ่งมิได้มาจากชาวบ้าน แต่มาจากผู้สำเร็จการศึกษา ดังนั้นสถาบันการศึกษาและครอบครัวจึงมีความสำคัญ"
อดีตนายกฯ แนะการปรับหลักสูตรในมหาวิทยาลัย จะเป็นเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันวิกฤตคอร์รัปชั่น ดังเช่น ม.ธรรมศาสตร์ ที่มีวิชาหน้าที่พลเมือง
“ทุกคนตระหนักดีว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาบ้านเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘นายดุสิต นนทนาคร’ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน ริเริ่มทำเรื่องนี้ ผมชื่นชม ถึงขั้นเขียนจดหมายสนับสนุนและแนะนำวิธีทำให้ได้ผล คือ 'ต้องเอาจริง' ซึ่งในฐานะนักธุรกิจย่อมทราบดีว่า นักการเมืองคนไหนโกง ขอเพียงรายเดียว ในจำนวนหลายร้อยราย รับรองรายอื่นจะกลัว ในที่สุดท่านก็เสียชีวิตก่อน เลยทำไม่ได้”
อดีตนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของไทยแก้ไม่สำเร็จ สาเหตุสำคัญมาจากภาคปฏิบัติ ทั้งที่ทุกคนทราบการทุจริตโกงกินเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง นักการเมืองทราบการเมืองที่โกงคือที่มาของการโกง แต่ผู้พูดจะต่อต้านการทุจริต นำไปสู่การปฏิรูป บางครั้งก็มาจากการซื้อเสียง นั่นคือ ผู้มาจากความ ‘สกปรก’ แล้วจะต่อต้านความ ‘สกปรก’ ได้อย่างไร
ปัญหาจึงขึ้นอยู่กับภาคปฏิบัติและผู้รณรงค์ นักการเมืองทราบ แต่ใช่ว่าจะค้านได้ทุกเรื่อง ธุรกิจตัวเองใหญ่โต อาจประมูลสู้คนอื่นไม่ได้ จึงไม่กล้าพูด
ฉะนั้นใครทำอะไรอย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่ของง่าย แต่ก็ขอเป็นกำลังใจ เพราะทราบดีว่า แม้มีความแน่วแน่ในการทำงาน แต่เจออามิสสินจ้างหรือสิ่งยั่วยวนก็เริ่มลังเลใจ ในที่สุด คนดีไม่น้อยถูกกลืนไปกับ ‘พระก็ได้ โจรก็ได้’ ขอให้มีฐานะก็พอ นี่คือความจริงของสังคม
“ผมไม่กังวลว่าสถาบันต่อต้านการทุจริตฯ ม.ธรรมศาสตร์ จะใหญ่หรือเล็ก เท่ากับกังวลว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร เพราะถึงที่สุด ทุก คนท่องธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม หลักความชอบธรรม ได้หมด จำไม่ได้เรื่องเดียว คือ ‘ความเกรงใจ’ รู้ว่าอะไรผิดถูก แต่เกรงใจ ทำให้เรามีปลัดกระทรวงถูกไล่ออก เลขาธิการ กพ.ถูกประณาม ประพฤติชั่วร้ายแรง ทั้งที่เป็นคนดีและนักเรียนทุนรัฐบาล แต่เกิดความเกรงใจ ไม่หนักแน่น การเมืองมั่นใจจะอยู่ถึง 20 ปี หากไม่ทำจะไม่ก้าวหน้า ทำให้เกิดความหวั่นไหวระหว่างความอยู่รอดกับความถูกต้อง คนแน่วแน่และปลูกฝังคนรุ่นต่อไปให้ยืนหยัดสิ่งที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญ”
(ป่าสนริมหาดทะเลตรัง)
(กลุ่มยางนาริมฝั่งเเม่น้ำตรัง)
สำหรับผลงานทางศิลปะของอดีตนายกฯ ชวน ที่นำมาร่วมประมูลมีอยู่ 2 ภาพ เพื่อหารายได้สมทบทุนองค์กรต่อต้านการทุจริตฯ ม.ธรรมศาสตร์ นายชวน บอกเล่าที่มาของแต่ละภาพด้วยว่า ตั้งใจเขียนขึ้นเมื่อครั้นกลับบ้าน จ.ตรัง หวังเก็บออกซิเจนมาใช้ที่บ้านซอยหมอเหล็ง กรุงเทพฯ
ภาพแรก ชื่อว่า ‘ป่าสนริมหาดทะเลตรัง’ นับเป็นชายทะเลที่สวยงามมาก อยู่ที่ปากเมง อ.สิเกา จ.ตรัง นำพู่กันญี่ปุ่นกับกระดาษไป วาดโดยไม่มีการร่างใด ๆ ทั้งสิ้น
อีกภาพหนึ่งชื่อว่า ‘กลุ่มยางนาริมฝั่งแม่น้ำตรัง’ ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาสและบันทึกไว้ว่า บรรดาแม่น้ำทั้งหลายจะให้เหมือนตรังไม่มี นั่นหมายถึง เป็นแม่น้ำที่สวยงามและบริสุทธิ์ ถือว่าน้ำประปาที่ผลิตมาจากแม่น้ำตรังบริสุทธิ์อันดับ 2 ของไทย
นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญสุดพิเศษของโครงการ คือ การได้รับอนุญาตจาก ‘ชัย ราชวัตร’ คอลัมน์การ์ตูนชื่อดัง นำตัวละครเด่นที่อยู่คู่สังคมไทยมา 4 ทศวรรษ อย่าง ‘ผู้ใหญ่มา’ กับ ‘จ่อย’ ในคอลัมน์การ์ตูนล้อการเมือง นสพ.ไทยรัฐ ชุดผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน ผลิตเป็นผลงานประติมากรรมให้จองและร่วมประมูลกันด้วย มีศิลปินรุ่นใหม่ ‘กิ๊บ’ วิษณุพงษ์ หนูนันท์ เป็นผู้ปั้น
(ผู้ใหญ่! นั่นเงินอะไร บอกมาดี ๆ นะ)
‘กิ๊บ’ วิษณุพงษ์ หนูนันท์ เป็นผู้ปั้น จบการศึกษาปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้หลงใหลในตัวละครเรื่องนี้มาก โดยยอมรับว่า ฝึกเขียนการ์ตูนครั้งแรกก็มาจากผู้ใหญ่มาและจ่อย ซึ่งเขาได้รับการทาบทามจากอรนิศวร์ เพชรวงศ์ศิริ เสนอผลงานประติมากรรมกับสถาบันต่อต้านการทุจริตฯ มธ.
“ผลงานที่เสนอตอนนั้นคือประติมากรรมชุด ฮก ลก ซิ่ว ซึ่งปั้นไว้บูชาเอง ประกอบด้วย 3 ศิลปินแห่งชาติ ‘ถวัลย์ ดัชนี-ศ.ชลูด นิ่มเสมอ-ประเทือง เอมเจริญ’ ซึ่งแต่ละคนเป็นตัวแทนของอำนาจ เงินตรา และอายุ”
เขายังบอกว่า ครั้งแรกที่ได้พบกับคุณชัย ดีใจมาก และส่วนใหญ่จะพูดคุยกันเรื่องทัศนคติ เพื่อสานสัมพันธ์ก่อนเริ่มงาน เพราะการทำงานร่วมกันนั้นต้องเข้าใจอุปนิสัยของอีกคนหนึ่งจะทำงานได้ดี โดยใช้เวลาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบพอสมควร
"จำได้ว่า ต้องขึ้นโครงงานให้ได้ทั้งสองตัวละครภายใน 1 อาทิตย์ ก่อนเสนอเพื่อปรับแก้ให้สมบูรณ์ จากนั้นก็เริ่มลงรายละเอียดของงาน ซึ่งคุณชัยได้อธิบายไว้หลาย ๆ อย่าง เช่น ถุงโชคดีที่จ่อยถือ ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ก็ต้องกลับไปหาข้อมูลว่ามีลักษณะอย่างไร มีกี่แบบ ใครเป็นผู้ผลิต
ที่น่าสนใจ คือ ทรงผมของผู้ใหญ่มา ได้จำลองมาจากประธานาธิบดี เหมา เจ๋อ ตุง ของจีน แสดงถึงอำนาจของข้าราชการ ส่วนจ่อยให้บุคลิกชาวบ้านสบาย ๆ ใส่ผ้าขาวม้าอยู่บ้าน และสนใจการเมือง"
(วิษณุพงษ์ หนูนันท์ กับประติมากรรม ผู้ใหญ่มา-จ่อย)
ส่วนมุมมองปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของไทยนั้น ผู้ปั้นผู้ใหญ่มา-จ่อย แสดงความไม่เห็นด้วย และอยากให้ทุกคนตื่นตัว เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ เปรียบได้กับการถูกปล้น ถ้ายังไม่ตื่นตัวก็จะถูกปล้นไปเรื่อย ๆ ดังนั้นประติมากรรมผู้ใหญ่มากับจ่อย จึงสื่อถึงการพยายามตรวจสอบข้าราชการ เพียงแค่สงสัย ตรวจสอบ และสอบถาม ก็สามารถลดปัญหาได้แล้ว แต่ทุกคนต้องร่วมมือกัน โดยเริ่มต้นจากคนในชุมชนอย่างจ่อย
เมื่อเราให้‘กิ๊บ’ วิษณุพงษ์ หนูนันท์ เปรียบตัวเองเป็นตัวละครในผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน เขาบอกว่า อยากเป็น‘ศาลเจ้า’ เพราะจะได้รับรู้เรื่องราวของผู้คนที่มาบนบานไว้ สังเกตในการ์ตูนเรื่องดังกล่าว ทุกครั้งที่จะสื่อถึงการเมือง พูดลอย ๆ ไม่ต้องการกระทบใคร มักจะพูดกับศาลเจ้า
อย่างไรก็ตาม วันหนึ่งควรจะเปลี่ยนความเชื่อบ้านๆ จากศาลเจ้า เป็นศาล เชื่อว่าประเทศไทยจะดีขึ้น
ด้าน ‘ชัย ราชวัตร’ หรือสมชัย กตัญญุตานันท์ ดีใจที่ประติมากรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ พร้อมมองว่า การทุจริตคอร์รัปชันกำลังถึงจุดวิกฤต จากอดีตข้าราชการหรือนักการเมืองกินค่าคอมมิสชัน 5% ถือว่ามากแล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านมากลับพบว่า กินค่าคอมมิสชันถึง 35-40% งบประมาณ 1 แสนล้านบาท หายไปแล้วเกือบ 5 หมื่นล้านบาท
"รัฐบาลทหาร มีอำนาจเผด็จการสามารถแก้ปัญหาได้ โดยใช้มาตรา 44 จัดการรวดเร็ว เด็ดขาด ไม่ต้องรอคำตัดสินของศาล"คอลัมน์การ์ตูนชื่อดัง แสดงความเห็น พร้อมฝากความหวังไว้ว่า องค์กรต่อต้านการทุจริต ม.ธรรมศาสตร์ จะเป็นส่วนเสริมและช่วยกันแก้ปัญหาได้มาก ซึ่งหวังว่าจะดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แม้อาจารย์รุ่นปัจจุบันจะออกไปแล้ว ก็น่าจะมีรุ่นใหม่มาทำต่อไป และรัฐบาลจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยไม่พูดเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเฉพาะช่วยหาเสียง ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเท่านั้น
(สมภพ บุตราช กับผลงาน ปทุมวดี)
‘สมภพ บุตราช’ เป็นอีกหนึ่งศิลปินชั้นนำของไทย ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเรื่องภาพนางฟ้า เทวดา ที่สื่อสารออกมาในบริบทแตกต่างกัน และมีส่วนสำคัญในการชักชวนเพื่อนศิลปินให้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ เพราะรู้อยู่แล้วว่า การที่บ้านเมืองเดินต่อไปไม่ได้ เพราะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่สะสมมานาน และดูเหมือนจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ หลายโครงการพัฒนาถูกเบี่ยงเบนวัตถุประสงค์ เพื่อหวังกอบโกยผลประโยชน์ ฉะนั้นเมื่อใดที่สามารถกำจัดปัญหาเหล่านี้ได้ ประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้ดี
ทั้งนี้ นิทรรศการผลงานเกิดขึ้นเร็วเกินไป ทำให้ศิลปินหลายท่านไม่สามารถสร้างผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ได้ อย่างไรก็ตาม ได้พยายามเลือกผลงานดีที่สุดมานำเสนอ
ดังเช่นภาพ ‘ปทุมวดี’ ซึ่งผมต้องการสื่อให้เห็นถึงความงามของสตรีในวรรณคดีไทย ที่เป็นอุดมคติและความงามอันสมบูรณ์ บ่งบอกถึงความอิ่มเอิบ ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและความจริง ซึ่งจะร่วมประมูลด้วย และหวังว่ากิจกรรมจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างกระแสให้สังคมร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันต่อไป
เป็นเครื่องยืนยันว่า ‘ศิลปะ’ สามารถแก้ปัญหาสังคมไทยได้ ซึ่ง ‘อ.ปัญญา วิจินธนสาร’ ศิลปินแห่งชาติ สะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า งานศิลปะเริ่มมีบทบาทอย่างสูงในสังคมยุคใหม่ ซึ่งมักมีศิลปินแสดงออกอย่างชัดเจนจะพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้า กลายเป็นสังคมที่มีวิสัยทัศน์ ฉะนั้นทุกคนที่ร่วมงานจึงมีพื้นฐานต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมาอย่างยาวนาน ดังเช่น อาจารย์ทวี รัชนีกร ซึ่งผลิตชิ้นงานเกี่ยวเนื่องกับวิกฤตการณ์ทางการเมือง หรือความขัดแย้งในสังคม และอ.วสันต์ สิทธิเขตต์ ทำงานเพื่อสังคมและการเมืองอย่างตรงไปตรงมา
(จากซ้าย: นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นายชวน หลีกภัย นายประมนต์ สุธีวงศ์ ชัย ราชวัตร)
หากสังคมไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้จะมองว่า ‘ศิลปินหัวรุนแรง’ ซึ่งไม่เป็นความจริง ศิลปินจะใช้สื่อหรือทัศนคติทางศิลปะพูดถึงสังคมตลอดเวลา เพราะงานศิลปะสามารถทำให้คนขัดแย้งกันในสังคมหันหน้าเจรจากันได้ คนที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนกัน เมื่อมาชมภาพเดียวกัน สามารถเห็นหรือมองอะไรด้วยความประนีประนอม
“ไม่ว่าศิลปินทำงานสะท้อนการเมืองหรือความไม่เป็นธรรมในสังคม แต่ศิลปินมีเจตนารมณ์และความปรารถนาดีจะทำให้งานศิลปะนั้นให้แง่คุณประโยชน์หรือดีงามกับสังคม ฉะนั้นทุกครั้งที่มองงานศิลปะประเภทนี้ต้องมองอีกชั้นหนึ่ง ให้มากกว่าเนื้อหาที่ถูกสะท้อนออกมา” ศิลปินแห่งชาติ กล่าว และว่า ปัจจุบันมีคนเห็นคุณค่ามากนอกเหนือจากความสวยงามแล้ว โดยมองถึงเนื้อหาสาระประวัติศาสตร์ที่ศิลปินบันทึกไว้ สิ่งเหล่านี้ได้ส่งต่อถึงเยาวชนในอนาคตจะช่วยเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้จากงานศิลปะ ไม่จำเป็นต้องอ่านในหนังสือสังคมเลย
แม้รายได้จากการประมูลผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมครั้งนี้จะไม่มากมายนัก แต่ไม่สำคัญเท่ากับการตัดสินใจลงหลักปักหมุดของเครือข่ายศิลปินว่า จะร่วมใจต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านลวดลาย เส้นสี ที่พวกเขารักและผูกพันตลอดชั่วชีวิต และมุ่งหวังอนาคตจะขยายขอบเขตไปยังทุกพื้นถิ่นของไทย เพื่อลบรอยด่างมลทินให้หมดสิ้นจากแผ่นดินสุวรรณภูมิ .
............................................................................
หมายเหตุ:สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการผลงานจิตรกรรมและประติมากรรม ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 22-31 กรกฎาคม 2558 โดยจะได้พบกับผลงานของศิลปินชื่อดังมากมาย อาทิ อาจารย์ปรีชา เถาทอง, อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อาจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์, รศ.ธีรยุทธ บุญมี, อลงกรณ์ หล่อวัฒนา, เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล, เอกชัย ลวดสูงเนิน, ชลิต นาคพะวัน, สุวิทย์ ใจป้อม, ดินหิน รักพงษ์อโศก, นำชัย แสงสุภา ห้ามพลาด!
(Untitled โดย วิษณุพงษ์ หนูนันท์)
(พระพิฆเนศ โดยอ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์)
(เณรน้อย โดยนายดี ช่างหม้อ)
(วงคันนายาวบรรเลงเพลงขับกล่อมผู้เข้าชมนิทรรศการ)