รายอเศร้าของมูซา...ต้องไปเยี่ยมบิดาที่กุโบร์
เทศกาลฮารีรายอ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง หลังจากที่มุสลิมถือศีลอด (ปอซอ) มาแล้วเป็นเวลา 1 เดือนในเดือนรอมฎอน
วันรายอปอซอปีนี้ ตรงกับวันที่ 17 กรกฏาคม 2558 หรือ ฮิจเราะห์ศักราช 1436 ตั้งแต่เช้ามุสลิมทั้งชายและหญิงสวมใส่เสื้อผ้าสะอาดและดีที่สุด มุ่งหน้าสู่มัสยิดหรือลานกว้างเพื่อร่วมละหมาดพร้อมกัน เสร็จแล้วก็สวมกอด สลาม และมาอัฟ (ขอโทษ) กับทุกคนต่อความผิดทั้งที่รู้และไม่รู้ ทั้งทางกาย วาจา และใจ ความบาดหมางที่เคยมีระหว่างกันต้องลบเลือนหายไป ลูกหลานไปเยี่ยมกุโบร์ (สุสาน) และอ่านดุอา (ขอพร) ให้แก่บรรพบุรุษ
แต่ละบ้านจัดเตรียมอาหารคาวหวานไว้ต้อนรับผู้มาเยือน ทั้งเพื่อน ญาติพี่น้อง ที่มาเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่กัน อาหารพื้นเมืองและเมนูหลากหลายมีให้เลือกชิม ทั้งตูป๊ะ (ข้าวเหนียวนึ่งรูปสามเหลี่ยมห่อด้วยใบกะพ้อ) ปูโล๊ะตาแป (ข้าวหมาก) ข้าวหมกอาหรับ ขนมจีน ก๋วยจั๊บ ส้มตำ ข้าวเหนียวสารพัดหน้า เรียกว่าไปบ้านไหนก็อิ่มกันทุกบ้าน
จากนั้นก็จะเข้าสู่รายการเที่ยว โดยสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนชายแดนใต้ โดยมากมักเป็นทะเล เช่น หาดตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี หาดนราทัศน์ อำเภอเมืองนราธิวาส หลายครอบครัวนำข้าวปลาอาหารไปนั่งรับประทานร่วมกันริมชายหาดอย่างมีความสุข
แต่อะไรๆ ในโลกนี้ล้วนมี 2 ด้านเสมอ ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุข สนุกสนาน ก็มีความเศร้าเสียใจแทรกอยู่เช่นกัน...
ที่บ้านชั้นเดียวใกล้กับสี่แยก แต่ไม่ไกลจากโรงเรียนบ้านจะเฆ้ ตำบลละหาร อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี หากใครได้ผ่านไปเยือนจะพบว่าภายในบ้านโปร่งโล่งสบาย หน้าต่างทรงสูงเปิดรับลม ใครเห็นใครก็ชมเป็นเสียงเดียวกันว่าน่าอยู่ หากสมาชิกในบ้านอยู่พร้อมหน้ากันคงมีความสุขมาก
ทว่าสมาชิกในบ้านนี้มีเพียงสามแม่ลูก อยู่กันตามลำพัง ขาดหัวหน้าครอบครัวอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ
บ้านหลังนี้เป็นของ ซอบรียา สะมะแอ เธออยู่กับลูกชายคนโตวัยสามขวบกว่าชื่อ มูซา กับลูกสาวคนเล็กวัย 4 เดือนชื่อ มาเนีย ขณะที่ มะนูซี สะมะแอ ผู้เป็นสามีของเธอและพ่อของเด็กๆ ถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556
ก่อนเกิดเหตุร้ายในคืนนั้น มะนูซีขี่จักรยานยนต์ไปรับลูกชาย ซึ่งก็คือ มูซา ที่โรงเรียนในหมู่บ้าน พร้อมด้วยน้องสาวของภรรยา โดยให้ลูกชายนั่งด้านหน้า น้องสาวภรรยานั่งด้านหลัง ระหว่างทางมีคนร้าย 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบและใช้อาวุธปืนยิงใส่มะนูซีหลายนัดโดยไม่สนใจว่ามีเด็กนั่งมาด้วย ก่อนจะเร่งเครื่องรถหลบหนีไป
มะนูซีถูกยิงเข้าที่ต้นคอ 1 นัด ไหล่ 2 นัด ขาขวา 2 นัด ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะที่ มูซา ขณะนั้นอายุได้ 2 ขวบ ถูกยิงเข้าที่ท้องจนไส้ทะลุออกมา ส่วนน้องสาวภรรยาถลอกเล็กน้อยจากรถล้ม
ซอบรียา แต่งงานกับ มะนูซี เมื่อปลายปี 2553 มีลูกด้วยกัน 1 คน คือ มูซา เมื่อปลายปี 2554 ชีวิตที่ผ่านมาของเธอและมะนูซีมีเวลาอยู่ด้วยกันน้อยมาก ด้วยอาชีพทหารพรานของเขาที่ได้ลาพักกลับบ้านเพียงเดือนละครั้ง ครั้งละแค่ 6-7 วัน ทำให้ซอบรียาใกล้ชิดกับลูกมากเป็นพิเศษ เพราะต้องอยู่ด้วยกันสองคนเกือบตลอด จนกระทั่ง 3 เดือนก่อนเกิดเหตุร้าย มะนูซีตัดสินใจลาออกจากการเป็นทหารพราน กลับมาอยู่บ้านกับลูกเมีย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ซอบรียาบอกว่าดีที่สุดในชีวิต
"เขาตัดสินใจลาออกหลังจากที่ขอร้องให้ลาออกมานาน ให้กลับมาอยู่บ้านกับลูกเมีย เขาทำงานบ้านได้ทุกอย่าง ส่วนฉันเป็นครู ไปสอนหนังสือทุกวัน กลับมาจากทำงาน สามีจะทำของกินรอไว้ เป็นช่วงเวลาที่เราได้อยู่ด้วยกันอย่างเต็มที่หลังจากแต่งงานกันมา มูซาก็เริ่มปรับตัว ติดพ่อ เวลาพ่อจะไปละหมาดที่มัสยิดเขาจะร้องตามไปด้วย พ่อก็พาไปโน่นไปนี่ ชีวิตกำลังจะลงตัว ตอนนั้นบ้านของเรากำลังจะสร้างเสร็จ แต่เขาก็มาจากไปเสียก่อน"
ซอบรียา เล่าต่อว่า คืนเกิดเหตุ สามีกำลังพาลูกกลับบ้าน ก่อนถึงบ้านไม่กี่สิบเมตรก็ถูกคนร้ายยิง
"ตอนนั้นฉันอยู่ที่บ้านนี้คนเดียว น้องสาวที่นั่งซ้อนท้ายมาแต่ไม่โดนยิง วิ่งกระหืดกระหอบมาบอกว่า อาแบ (สามี)โดนยิง น้องจมน้ำอยู่ ฉันรีบวิ่งไปที่เกิดเหตุ เมื่อเห็นลูกก็แทบใจสลาย เห็นแผลที่โดนยิง ส่วนอาแบเลือดเต็มตัวไปหมด อาการสาหัสทั้งสองคน อาแบจากไปในคืนนั้น ส่วนมูซาต้องอยู่ในห้องไอซียูและพักฟื้นอีกหลายวัน"
เมื่อหัวหน้าครอบครัวจากไป ซอบรียาต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวเอง และคิดว่าหากมีใครสักคนเคียงข้างร่วมทางกันไปก็คงจะดี เธอจึงตัดสินใจแต่งงานใหม่อีกครั้ง และมี มาเนีย มาเติมเต็มชีวิตอีกคน
"หลังเกิดเรื่องราวสักพักก็แต่งงานใหม่ ตอนนั้นคิดว่าอยู่คนเดียวลำบาก คงอยู่ไม่ได้ แต่งงานแล้วอาจทำให้รู้สึกดีขึ้นเพราะมีใครสักคนอยู่ด้วยกัน แต่ตอนนี้ยอมรับว่าเป็นวิธีคิดที่ผิด เมื่อแต่งงานได้สักพักก็รู้สึกว่าไม่ใช่ ก็เลยขออยู่คนเดียว จนมีมาเนียมาเติมเต็ม สงสารสามีใหม่เหมือนกัน ตอนนี้เขาก็ช่วยส่งเสียมาเนีย มูซาก็รักเขาเพราะความทรงจำกับอาบะห์ (เป็นคำเรียกว่าพ่อ - มะนูซี) ยังไม่มาก ตอนที่พ่อจากไปเขายังเด็ก ส่วนฉันเองก็ต้องไปหาจิตแพทย์ กินยา พอไปทำงานก็จะหลับ จึงต้องปรับใหม่หลายอย่าง ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้ว"
ซอบรียา บอกว่า หากมะนูซียังอยู่ ทุกอย่างต้องดีกว่านี้ สิ่งที่ท้าทายในปัจจุบันคือเรื่องเงินเยียวยา เนื่องจากช่วงแรกทางอำเภอตัดสินว่าสามีค้ายาเสพติด มีเงินสร้างบ้านจากการค้ายา ทำให้เธอและมูซาไม่ได้รับเงินเยียวยาแม้แต่บาทเดียว
"ตำรวจบอกให้ยอมรับ แต่เราไม่ได้ทำจะยอมรับทำไม ให้เขาหาหลักฐานมาว่าสามีทำจริงไหม เพราะเราไม่ได้มีเงินอะไร สร้างบ้านหลังนี้ก็มาจากการกู้เงินข้าราชการที่ยังผ่อนอยู่ ทางตำรวจบอกจะไปหาข้อมูลมาใหม่ จึงได้ความว่าสามีไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่ได้ค้า เพียงแต่ช่วงวัยรุ่นมีประวัติร่วมกันเสพ พบฉี่สีม่วงเท่านั้น ฉันจึงไปร้องเรียนที่อำเภอใหม่ เขารับเรื่องใหม่ พอไปตามเรื่อง เขายังไม่ยอมเอาเข้าที่ประชุมโดยไม่ทราบสาเหตุ ไปตามหลายครั้ง เขาก็ผัดไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ยังไม่ได้คำตอบว่าผลเป็นอย่างไร เรื่องยังไม่จบ ยังคาใจ ไม่รู้จะจบอย่างไร เสียงานเสียการ เพราะต้องลางานไปนั่งเฝ้า"
"ได้ข่าวว่านายอำเภอคนใหม่เป็นคนที่เข้าถึงพื้นที่ คิดจะไปหาเขา แต่ไม่รู้จะเข้าถึงเขาได้อย่างไร เพราะคดีค้ายาก็พ้นแล้ว เพียงแต่เขาเคยเป็นทหารพรานเท่านั้น ทางทหารก็เคยไปตาม เขาบอกว่าทางเขาไม่มีปัญหา ให้ไปคุยกับทางตำรวจ พอไปทางตำรวจ ก็บอกให้ไปหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม" ซอบรียาเล่าอย่างอัดอั้น
เธอบอกอีกว่า กระทั่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซอบรียาพามูซาไปเยี่ยมปู่ที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ทำให้ทราบว่า สามีเคยบอกกับทางบ้านก่อนเสียชีวิตช่วงที่เขาไปเยี่ยมบ้านว่า มีคนที่เป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบตามอยู่ สิ่งไหนที่เคยทำผิดกับใครก็ขอโทษด้วย เมื่อกลับมาสายบุรีเธอได้ไปบอกตำรวจ แต่ก็ถูกถามกลับมาว่าทำไมเพิ่งมาบอก แต่งเรื่องขึ้นมาหรือเปล่า
"ฉันก็เพิ่งรู้เรื่องนี้เหมือนกัน จึงตั้งใจว่าต่อแต่นี้จะไม่ไปตามเรื่องแล้ว มันจบตรงนั้นแล้ว แต่เด็กคนนี้ (มูซา) เขาเจ็บ อาการเขาแย่ ฉันเองก็ไม่รู้จะอยู่ดูแลเขาได้แค่ไหน ถ้าเกิดฉันตายไปใครจะดูแลเขา อยากให้เขามีทุนการศึกษา รู้สึกเหนื่อย เขาบอกจะให้ค่าเยียวยาที่บาดเจ็บสาหัส แต่ก็ยังไม่ได้ ช่วงเจ็บอยู่โรงพยาบาลมีคนบริจาคช่วยมาก็เก็บไว้เป็นทุนการศึกษาให้เขาได้บ้าง"
สำหรับอาการของมูซา ยังน่าเป็นห่วงในความรู้สึกของผู้เป็นแม่
"ช่วงที่มูซากลับมาจากโรงพยาบาลใหม่ๆ เขาจะเอาทุกอย่างมาล้อมรอบตัว เป็นกรอบ เป็นรั้ว ใช้เวลานานกว่าจะเป็นปกติ คิดว่าคงเป็นความกลัวที่เขาจำจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นมูซาไปหาหมออีก 2-3 รอบด้วยอาการปวดท้อง ได้รับคำแนะนำเรื่องอาหารว่าอาการที่เจ็บอยู่มาจากการกินอาหารที่มีผงชูรส หากหลีกเลี่ยงได้ก็จะดี มูซาจึงจำว่าการที่เจ็บแล้วต้องไปโรงพยาบาลเพราะกินขนมกรุบกรอบ พยายามอดใจไม่กิน ไม่ซื้อ หลังจากปรับเรื่องอาหาร มูซาก็ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลอีก หมอบอกว่าถ้าโชคดีก็ไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ ถ้าปวดอีกใน 5-10 ปีก็ต้องผ่า"
ซอบรียาจึงได้แต่ขอดุอาอฺว่าอย่าต้องผ่าตอนเด็กๆ เพราะสงสารลูก
เมื่อถามว่าเหนื่อยมั้ย ซอบรียาก็พรุ่งพรู...
"เหนื่อยมาก ต้องตัดสินใจเองทุกอย่าง แต่ถึงเราจะเหนื่อย แต่ลูกมอบความสุขคืนมาให้ วันทำงาน ตื่นเช้า อาบน้ำให้มูซา จัดแจงมาเนียและตัวเอง เอาขึ้นรถพามาเนียไปฝากบ้านยาย ส่วนมูซาเรียนชั้นอนุบาล 1 ที่โรงเรียนบ้านจะเฆ้ ตรงข้ามบ้านยาย เพราะเผื่อเขาปวดท้อง ยายก็สามารถช่วยเหลือได้ พอวันหยุดจะให้เวลาอยู่กับลูกทั้งสองคนทั้งวัน ไม่ไปไหน ตอนเย็นๆ จึงพาไปบ้านยาย"
"มาเนียเป็นเด็กอารมณ์ดี มูซาหวงน้องสาวมาก มูซาถนัดซ้าย มีโลกส่วนตัว เขาหัวไว ฉลาด จำเก่ง ชอบเล่นนอกบ้านมากกว่าอยู่ในบ้าน บางครั้งไปเล่นกับเพื่อนในหมู่บ้านเพื่อให้เขาได้อารมณ์ดีและมีเพื่อน เมื่อผ่านกุโบร์เขาจะรู้และบอกว่าอาบะห์ (คำเรียกพ่อ) อยู่ในกุโบร์ จะให้สลามทุกครั้ง เวลารายอก็จะไปเยี่ยมอาบะห์" ซอบรียาบอก
ตั้งแต่เกิดเรื่องร้ายๆ ผ่านมา 2 รายอแล้วที่มูซาไม่มีพ่อ ตอนนี้เขาเกือบสี่ขวบ...ส่วนรายอปีนี้ของมูซา เขาทำได้เพียงสลามและเยี่ยมอาบะห์ที่กุโบร์...