รู้ยัง! ข้อกฎหมาย ว่าด้วยความผิดติดตัว จากการไม่ต่ออายุ "บัตรประชาชน"
"...เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการขอมีบัตรตามมาตรา ๖ ผู้ซึ่งต้องมีบัตรตามมาตรา ๕ ซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป หรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ ยื่นคำขอมีบัตรแทนตามมาตรา ๖ ฉ แล้วแต่กรณี ไม่ยื่นขอมีบัตร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท นั้นย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า ตราบใดที่บุคคลซึ่งต้องมีบัตรตามมาตรา ๕ หรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ยื่นคำขอมีบัตรแทนตามมาตรา ๖ ฉ แล้วแต่กรณี ยังไม่ยื่นขอมีบัตร ความผิดนั้นก็ยังมีอยู่เรื่อยไปจนกว่าจะมายื่นขอมีบัตร.."
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ความผิดเกี่ยวกับการไม่ยื่นขอมีบัตรประจำตัวประชาชน
โดย คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นทางกฎหมายว่า ตราบใดที่บุคคลซึ่งต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนตามมาตรา ๕ หรือ บุคคลซึ่งมีหน้าที่ยื่นคำขอมีบัตรแทนตามมาตรา ๖ ฉ แล้วแต่กรณี ยังไม่ยื่นขอมีบัตร ความผิดนั้นก็ยังมีอยู่เรื่อยไปจนกว่าจะมายื่นขอมีบัตรเพียงแต่ผู้ที่ต้องมีบัตรนั้น จะมีโทษต่อเมื่อมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปแล้วเท่านั้น
ทั้งนี้ ความเห็นทางกฎหมายเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากการที่กรมการปกครองได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท ๐๓๐๙.๒/๑๑๑๒ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า
กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ได้แจ้งแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน กรณีผู้ถือบัตรประสงค์จะขอมีบัตรใหม่ เนื่องจากมีการแก้ไขรายการในทะเบียนบ้าน เช่น คำนำหน้านาม ปรับปรุงแก้ไขรายการ และการเปรียบเทียบปรับของพนักงานเจ้าหน้าที่
กรณีผู้ซึ่งต้องมีบัตรตามมาตรา ๕ หรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ยื่นคำขอมีบัตรแทนตามมาตรา ๖ ฉ ไม่ยื่นขอมีบัตรภายในกำหนดระยะเวลาหกสิบวันตามมาตรา ๖ มาตรา ๖ ตรี วรรคหนึ่ง ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าว
จึงมีความผิดตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งจะต้องเริ่มนับอายุความนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม กรมการปกครอง ได้รับแจ้งจากกรุงเทพมหานคร ขอให้พิจารณากรณีดังกล่าวว่า การเปรียบเทียบปรับของพนักงานเจ้าหน้าที่ กรณีผู้ซึ่งต้องมีบัตรตามมาตรา ๕ หรือบุคคลมีหน้าที่ ยื่นคำขอมีบัตรแทนตามมาตรา ๖ ฉ ไม่ยื่นคำขอมีบัตรภายในกำหนดระยะเวลาหกสิบวัน ตามมาตรา ๖ มาตรา ๖ ตรี วรรคหนึ่ง และมาตรา ๖ จัตวา วรรคหนึ่ง ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
จึงมีความผิดตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ นั้น มิใช่เป็นความผิดสำเร็จ แต่เป็นความผิดต่อเนื่อง
เพราะปัจจุบันพระราชบัญญัติดังกล่าว การใช้ถ้อยคำของมาตรา ๕ และมาตรา ๖ ยังคงใช้คำว่า ต้องมีบัตรหรือมีบัตรใหม่เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒
มีเพียงมาตรา ๑๑ ที่มีถ้อยคำในตัวบทที่ใช้คำว่า ต้องมีบัตรและยื่นคำขอมีบัตรซึ่งแตกต่างจากมาตรา ๑๑ เดิม การวินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดที่ไม่ขอมีบัตรในเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงไม่น่าจะเปลี่ยนไปจากเดิม ต้องถือว่าเป็นความผิดต่อเนื่อง เนื่องจากมาตราหลักที่กฎหมายบังคับคือมาตรา ๕ และมาตรา ๖ ยังคงใช้ถ้อยคำว่า ต้องมีบัตรหรือมีบัตรใหม่
ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีบัตรก็ถือว่าเป็นความผิดจนกว่าจะมีบัตร ส่วนมาตรา ๑๑ เป็นเพียงบทกำหนดโทษ ซึ่งสาระสำคัญของพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ คือ ต้องการแก้ไขอายุผู้ขอมีบัตรครั้งแรกจากสิบห้าปีบริบูรณ์เป็นเจ็ดปีบริบูรณ์ มิได้มีเจตนาแก้ไขลักษณะความผิดให้เป็นไปตามความผิดสำเร็จแต่อย่างใด และมาตรา ๑๑ วรรคสอง ยังระบุระวางโทษแก่ผู้ขอมีบัตรครั้งแรกเกินกำหนดสำหรับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป
หากกฎหมายมีเจตนารมณ์ให้เป็นความผิดสำเร็จจริง ความดังกล่าวก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะการทำบัตรครั้งแรกเริ่มแต่อายุเจ็ดปีบริบูรณ์ เมื่อเด็กอายุครบแปดปีหกสิบเอ็ดวัน คดีก็ขาดอายุความแล้ว เหตุใดกฎหมายจึงต้องบัญญัติให้เอาผิดกับเด็กอายุสิบห้าปีที่ไม่ขอมีบัตรใหม่ในกำหนดเวลาอีก
การที่กฎหมายต้องบัญญัติเช่นนี้ย่อมได้แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า ความผิดที่ไม่ขอมีบัตรในกำหนดเวลาเป็นความผิดต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) เห็นว่ามาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ กำหนดว่า เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการขอมีบัตรใหม่ตามมาตรา ๖ ตรี วรรคหนึ่ง หรือการขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรตามมาตรา ๖ จัตวา วรรคหนึ่ง ผู้ถือบัตรมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปหรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ยื่นคำขอมีบัตรแทนตามมาตรา ๖ ฉ แล้วแต่กรณี ไม่ยื่นขอมีบัตรใหม่ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท
ดังนั้น ผู้ถือบัตรหรือผู้ซึ่งต้องมีบัตร หรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ยื่นคำขอมีบัตรแทนไม่ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๖ มาตรา ๖ ตรี วรรคหนึ่ง และมาตรา ๖ จัตวา วรรคหนึ่ง ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงมีความผิดตามมาตรา ๑๑ และเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ นร ๐๖๐๑/๑๑๖ ลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๓๖ และหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๓๐๔/ว ๘๑๖ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๖ เรื่อง การนับอายุความคดีอาญา ซึ่งจะต้องเริ่มนับอายุความนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และเนื่องจากพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ไม่ได้กำหนดอายุความกรณีดังกล่าวไว้ จึงต้องนับอายุความตามมาตรา ๙๕ (๕) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่กำหนดว่า
ในคดีอาญาถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันกระทำผิดเป็นอันขาดอายุความ สำหรับความผิดที่ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น ดังนั้น หากพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิดตามมาตรา ๑๑ คดีย่อมขาดอายุความทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา ๓๙ (๖) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กรมการปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า การตีความในข้อกฎหมายที่แตกต่างกันดังกล่าวจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความสับสน
จึงขอหารือว่า การไม่ยื่นคำขอมีบัตรใหม่ภายในกำหนด มาตรา ๑๑ เป็นความผิดสำเร็จหรือเป็นความผิดต่อเนื่อง เพื่อถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมการปกครอง โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) และผู้แทนสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า กรณีตามที่ขอหารือนี้เป็นเรื่องความผิดเมื่อไม่ยื่นขอมีบัตรไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับความผิดสำเร็จหรือความผิดต่อเนื่อง เพราะมาตรา ๕ มาตรา ๖ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้เปลี่ยนแปลงหลักการของมาตรา ๕ มาตรา ๗ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ไปเป็นการบังคับให้ต้องมีบัตร ไม่ใช่เรื่องการยื่นขอมีบัตร
ดังนั้น จึงไม่สามารถนำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๒) ที่ได้เคยให้ความเห็นไว้ ในเรื่องเสร็จที่ ๔๓/๒๕๓๖ มาปรับใช้กับข้อหารือนี้ได้ สำหรับกรณีตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้บัญญัติว่า
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการขอมีบัตรตามมาตรา ๖ ผู้ซึ่งต้องมีบัตรตามมาตรา ๕ ซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป หรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ ยื่นคำขอมีบัตรแทนตามมาตรา ๖ ฉ แล้วแต่กรณี ไม่ยื่นขอมีบัตร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท นั้นย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า ตราบใดที่บุคคลซึ่งต้องมีบัตรตามมาตรา ๕ หรือบุคคลซึ่งมีหน้าที่ยื่นคำขอมีบัตรแทนตามมาตรา ๖ ฉ แล้วแต่กรณี ยังไม่ยื่นขอมีบัตร ความผิดนั้นก็ยังมีอยู่เรื่อยไปจนกว่าจะมายื่นขอมีบัตร
เพียงแต่ผู้ที่ต้องมีบัตรนั้น จะมีโทษต่อเมื่อมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไปแล้วเท่านั้น!
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก blog.janthai.com