จัดการทรัพยากรน้ำ ตั้ง “กนช.” ทางออกภัยแล้ง สู่การปฏิรูปที่เน้นพลเมืองเป็นใหญ่และยั่งยืน
ไม่น่าเชื่อว่าประเทศถูกตั้งสมญาว่าเป็น ”อู่ข้าวอู่น้ำของโลก” อย่างประเทศไทย จะต้องมาเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งที่รุนแรงมากที่สุดในรอบศตวรรษ
ตัวเลขระดับน้ำในเขื่อนหลักลดลงอย่างน่าใจหาย เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 17,746 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือน้ำที่สามารถใช้ได้อยู่เพียง 1,763 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนภูมิพล เหลือน้ำติดเขื่อนเพียง 130 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของความจุเขื่อนเท่านั้น
จนรัฐบาลต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรงดสูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร เพราะจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ที่สำคัญภัยแล้งนี้ยังจะอยู่กับประเทศไทยไปจนถึงเมษายนปีหน้า นั่นหมายความว่าพื้นที่การเกษตรในที่ลุ่มภาคกลางจะไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ตามเดิม
ปัญหาดังกล่าวได้ถูกคาดการณ์มาล่วงหน้า เพราะปัจจัยสำคัญอย่างสภาพภูมิอากาศของโลก รวมไปถึงการขยายตัวของประชากร และเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนทำให้ความต้องการใช้น้ำมีมากขึ้น ในขณะที่การทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำไม่ได้ลดลง ประกอบกับการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขินไม่สามารถเก็บกักน้ำได้
ในขณะเดียวกันยังขาดกฎหมายแม่บทด้านการบริหารจัดการน้ำ ที่แม้ว่าจะมีความพยายามในการผลักดันถึง 5 ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องบางฉบับล้าหลัง เพราะบังคับใช้มานานถึง 60 ปี รวมไปถึงการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่การกำหนดแผนและนโยบายที่ถูกกำหนดจากบนลงล่าง
สถานการณ์น้ำของไทยจะไม่ดีขึ้นและอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาแล้งซ้ำซากตลอดไป หากไม่มีการ “จัดการทรัพยากรน้ำที่ดี” ซึ่งแนวทางนี้สอดรับกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีนายปราโมทย์ ไม้กลัด เป็นประธาน
ระบบการบริหารจัดการทรัพยากร เรื่อง การปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ....ที่ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 6 ด้าน ประกอบด้วย
1.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ ระดับลุ่มน้ำสาขา และระดับพื้นที่ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของภาคีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้ร่วมคิดร่วมทำ
2.สร้างกลไกให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
3. การผลักดันกฎหมายแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
4. การปรับปรุงกฎ ระเบียบ ที่มีอยู่แล้ว และที่จะต้องมีเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
5. การจัดทำยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อการแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคและเชิงพื้นที่ในมิติต่างๆ
และ 6 การบริหารจัดการข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาคประชาชน
พร้อมนำเสนอร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทสำหรับการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศในภาพรวมและกำหนดอำนาจหน้าที่องค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้ทับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกัน
ที่สำคัญร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความเชื่อมโยงกับภาคประชาชน เพราะได้พิจารณาโดยยึดร่างกฎหมายที่ประชาชนเคยเข้าชื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วในอดีต รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ที่ ”สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่” ด้วยการกำหนดกลไกให้อำนาจพลเมืองชาวไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางต่างๆได้
โดยให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้ปลัดกระทรวงที่มีความเกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ เป็นกรรมการ ที่สำคัญเปิดให้มีผู้แทนผู้ใช้น้ำจากลุ่มแม่น้ำ จำนวนไม่เกิน 6 คน ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการลุ่มน้ำ มาเป็นกรรมการด้วย ซึ่งคณะกรรมการลุ่มน้ำให้ตราขึ้นเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยคำนึงถึง สภาพภูมิศาสตร์ ระบบนิเวศ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของประชาชน
สำหรับอำนาจหน้าที่ของกนช. คือ การกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชาติ โดยคำนึงถึงแผนยุทธศาสตร์ระดับลุ่มน้ำทั้งในภาวะปกติ และในภาวะวิกฤต แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และกำกับติดตามตรวจสอบการดำเนินการ และการใช้งบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีอำนาจควบคุมและตรวจตราทรัพยากรน้ำ ความรับผิดชอบทางแพ่ง สามารถกำหนดให้ผู้ที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำโดยผิดกฎหมายทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรน้ำ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมไปถึงบทกำหนดโทษปรับทางปกครอง และทางอาญาด้วย
นี่คือทางออก นำพาประเทศให้พ้นจากวิกฤตภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน
ที่สำคัญยังคำนึงถึงวิถีชีวิตของประชาชนปัจจุบันวางหลักเกณฑ์และมาตรการในการรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงน้ำตามสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปได้บัญญัติไว้
อนาคตลูกหลานไทยจะได้ไม่ต้องภาวนาให้ฝนตกเพื่อลดปัญหาจากภัยแล้ง แต่สามารถวางแผนและบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้