นิเทศฯ จุฬาฯ เปิดเวทีถก Net Neutrality ในยุคผู้บริโภคออนไลน์
นักวิชาการยกตัวอย่างสหรัฐฯ สร้างความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ตด้วยการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เป็นสาธารณูปโภคโดยไม่ให้มีการปิดกั้นเนื้อหา ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมชี้กลไกในการควบคุมต้องปล่อยไปตามกฎกติกาของสังคม
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กร 16 องค์กรจัดงานเวทีระดับชาติว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตของไทย (Internet Governance Forum: IGF) ห้อง 313 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “ความ(จำเป็น)ที่ต้อง "เป็นกลาง" ในยุคผู้บริโภคออนไลน์”
อาจารย์วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะสังคมวิทยาและมานุษวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ต(Net Neutrality) ในสังคมไทยอาจจะยังไม่รู้จักกันเท่าไหร่ แต่ในเรื่องนี้ทางสหรัฐอเมริกากำลังเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกับผู้ใช้บริการทางด้านโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมาเป็นเวลานานแล้ว และในเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communications Commission) หรือ FCC ในสหรัฐอเมริกา ลงมติเห็นชอบข้อบังคับใหม่ของการกำกับกิจการอินเทอร์เน็ต โดยระบุให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เป็นสาธารณูปโภคโดยไม่ให้มีการปิดกั้นเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งห้ามไม่ให้บริษัทอินเทอร์เน็ตและบริษัทสื่อที่มีกำลังจ่ายสูง สามารถจ่ายเงินผู้ให้บริการบรอดแบนด์เพื่อให้บริการของตนเร็วกว่ารายอื่นได้
ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ สำนักงาน กสทช. กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่อง Net Neutrality หรือในเรื่องของความเป็นกลาง ผู้คนอาจจะสับสนคิดว่า หมายถึงการที่สื่อต้องมีความเป็นกลาง แต่ทางนี้หมายถึงความเป็นการของ network หรือเครือข่าย
ทาง FCC มีมติในเรื่องของการคุ้มครองความเป็นกลางของอินเทอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกา 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. ไม่ควรบล็อกเนื้อหาที่มีความถูกกฎหมาย 2.ไม่ควรลดแอพพลิเคชั่นในการทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ไม่เต็มที่ และ 3.ไม่ควรมีสิทธิพิเศษ(Fast Len)สำหรับแอพลิเคชั่นบางราย เพราะอาจมีผลประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน
แต่ประเทศไทยมีการให้ กสทช.มีการกำหนดข้อตกลงเฉพาะตามลักษณะของการประกอบกิจการที่สอดคล้องกับทาง FCC แต่ต้องมีการตกลงระหว่าง กสทช.กับทางอุตสาหกรรม
ขณะที่นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีความพยายามบริหารเครือข่ายให้ดีขึ้นด้วยการยึดหลักสำคัญที่ให้ผู้ใช้บริการสามารถได้รับการเชื่อมต่อ ลดช่องว่างทางสังคมซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ได้อย่างเต็มที่ อันนี้เป็นส่วนที่ทางทีโอทีทำมาโดยตลอด ตอนนี้มีโลกของบรอดแบรนด์อินเทอร์เน็ต ค่าเชื่อมต่อทางโทรศัพท์จะหายไป นี่คือสิ่งที่ทาง FCC ให้ความสำคัญ ซึ่งทางกสทช.เองต้องมีการพิจารณาค่าบริการอย่างเป็นธรรมโดยไม่บวกค่าอะไรเพิ่ม
นายรังสรรค์ กล่าวว่า ทีโอทีปฎิบัติตามกฎหมาย ในแง่ของทางทีโอทีเป็นผู้ให้บริการด้านบรอดแบนด์มานานไม่เคยปิดกั้นผู้ใช้บริการ เช่น บล็อกเว็บ ยอมรับว่าปัจจุบันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการดาวน์โหลดเยอะ การบริหารจัดการเครือข่ายต้องได้รับการดูแล แต่จะไม่ดูถึงลูกค้าเข้าใช้เว็บอะไร ยกเว้นในกรณีที่เข้าใช้เว็บที่ผิดตามกฎหมายพ.ร.บ.คอมฯ ปี 2550 และในแง่ของการปิดเว็บหรือบล็อกเว็บทางทีโอทีไม่ได้เข้าไปกระทำโดยตรง
ทั้งนี้ นายรังสรรค์ กล่าวด้วยว่า อยากให้ทางกสทช.ให้ความเป็นธรรมในร้านค้าโลกของอินเทอร์เน็ตที่เปิด ต้องมีการเสียค่าภาษี ค่าธรรมเนียมเพื่อความเท่าเทียมทางการค้าทั่วไป
ส่วนนายวสุ คุณวาสี บริษัททรู อินเตอร์เน็ต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องของ Net Neutrality ประเด็นที่เห็นได้ชัดคือมีเรื่องของวัฒนธรรมกับสังคมที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเราไม่สามารถสำเร็จได้อย่าง 100% ยังพบว่ามีการบล็อกการจำกัดการใช้อินเทอร์เน็ตกันอยู่เยอะ แต่ทางบริษัทเองไม่มีนโยบายเรื่องการการบล็อก ยกเว้นสิ่งนั้นมีความผิดกฎหมาย ในเรื่องของ Bit-Torrent ต้องยอมรับว่าก ารให้บริการอินเทอร์เน็ตทางบ้านเรา ของทางทรูมีแยกระหว่างบริการทางด้านอุตสาหกรรมองค์กร และประชาชนทั่วไป ส่วนเรื่องของสังคมแห่งการแบ่งปันไฟล์ (Bit-Torrent) ส่วนใหญ่จะมีการมากระทบกับลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ทั่วไป
นายวสุ กล่าวด้วยว่า จากสถิติผู้ใช้บริการเพียง 5-6% เท่านั้นทีใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบทั่วไป อีก50% เป็นสัดส่วนในการใช้Bit-Torrent ถือว่าเป็นการใช้งานในเรื่องที่เป็นธรรม การที่ต้องมีการจัดการในเรื่องของอินเทอร์เน็ตจำเป็นเพื่อผู้ใช้บริการสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียม แต่ในแง่ของอินเทอร์เน็ตตามบ้านมีความเป็นสากล เพราะผู้ให้บริการมีการให้ด้วยหลักการที่ใช้ร่วมกัน ไม่มีการให้ความเร็วบางบ้านที่เร็วพิเศษโดยโครงสร้างทุกอย่างมีความผูกกันหมด จึงไม่สามารถให้ความเร็วทางอินเทอร์เน็ตที่พิเศษได้ ราคาในการใช้บริการของทางบริษัทตั้งแต่หลักร้อยจนถึงพันที่ถูกกำหนดไว้เป็นหลักของความเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ
นายวสุ กล่าวว่า ในส่วนของ DPI เราต้องมีการแบ่งการใช้งานของผู้ใช้งานในกลุ่มนี้ เนื่องจากมีการจ่ายเงินร่วมกัน สิ่งที่เราทำคือการควบคุมการปล่อย ซึ่งอาจจะปล่อยให้ผู้ใช้กลุ่มนี้สามารถใช้งานได้อย่างสบายๆในช่วงตี 2-3 แต่ทางทรูไม่ได้เป็นการเจาะจงตามบ้าน แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีคุณภาพสูงในการควบคุม อีกทั้งการจัดทำการบริการที่มีความรวดเร็วในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว(fast len) ในเชิงของการนำมาบริหารการใช้งานด้านอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ค่อยนิยมและถือว่าไม่คุ้มทุนที่จะทำ ถือว่าเป็นการเอื้อต่อการใช้งานในบริษัทๆหนึ่งมากกว่า
ทั้งนี้นายอนันต์ รัชตมุทธา บริษัท แอดวานซ์ โฟร์ เซอวิสจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของ Net Neutrality ถ้าหมายถึงความเป็นกลาง อยากถามต่อว่าความเป็นกลางหมายถึงความสมดุล ความเหมาะสมด้วยหรือไม่ ตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ที่เข้ามาซึ่งควรทำให้ชัดเจนก่อน
"ความหมายของความเป็นกลางในอินเทอร์เน็ต เปรียบเสมือนการมีทางด่วนเพิ่มขึ้นแล้วดีขึ้น การมีทางด่วนต้องมีการเก็บเงิน ถ้ามองในแง่ของการมีทางด่วนเพิ่มต้องมีการจ่ายเงินเพิ่ม สำหรับผู้ที่มีมากก็พร้อมที่จะจ่าย แต่ในความเป็นกลางการมีเงินมากกว่าแล้วจะดีกว่าเพราะว่า การเก็บภาษีรายได้ของคนการมีเงินมากกว่าก็ต้องจ่ายเงินมากกว่า มีเงินน้อยก็ต้องจ่ายน้อย เป็นไปได้ไหมที่การเสียค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะได้มาด้วยความเหมาะสม" นายอนันต์ กล่าว และว่า ทางเอไอเอสสนับสนุนเรื่องของการให้เกิดการแข่งขันโดยถูกต้องและเป็นไปตามหลักสากล และความเหมาะสมเหล่านี้จะสร้างกลไกของมันเอง