คืนสิทธิบัตรทองอุบัติเหตุไม่ฉุกเฉิน ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย-รพ.เบิกจาก สปสช.แทน
ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อบังคับคณะกรรมการ สปสช. คืนสิทธิบัตรทอง อุบัติเหตุ-เจ็บป่วยไม่รุนแรงถึงวิกฤต เข้ารับบริการสาธารณสุขจากสถานบริการอื่นที่อยู่ใกล้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย ให้รพ.เบิกจ่ายกับ สปสช.แทน
สืบเนื่องจากมีนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ส่งผลให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองไม่สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 7 ได้ เพราะมีการจำกัดไว้เฉพาะกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ กรณีเดินทางไปต่างจังหวัด แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น และเมื่อเข้ารักษาที่สถานพยาบาลต่าง ๆ หากไม่เข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติตามนโยบาย ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ ๒)
ระบุว่าเป็นการสมควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การรับบริการสาธารณสุข กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เข้ารับบริการสาธารณสุขจากสถานบริการอื่นได้ ตามหลักเกณฑ์เดิม โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ประกอบกับมติการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ จึงออกข้อบังคับไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วย การใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๕๘”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๕/๑ ของข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๕
“ข้อ ๕/๑ ให้ผู้มีสิทธิที่ได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ไม่รุนแรงถึงระดับฉุกเฉินเร่งด่วน หรือฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิเข้ารับบริการสาธารณสุขจากสถานบริการอื่นที่อยู่ใกล้ หรือสามารถเข้ารับบริการได้อย่างรวดเร็วได้ และให้สถานบริการที่ให้บริการนั้น มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากสํานักงานตามข้อ ๖/๑”
ข้อ ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๖/๑ ของข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๕
“ข้อ ๖/๑ สถานบริการที่ให้บริการแก่ผู้มีสิทธิ กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินตามข้อ ๕/๑ มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากสานักงาน ดังนี้
(๑) ประเภทผู้ป่วยนอก มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่าย ตามจํานวนเท่าที่จ่ายจริง แต่รวมแล้วไม่เกิน ๗๐๐ บาทต่อครั้ง
(๒) ประเภทผู้ป่วยใน มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่าย ดังต่อไปนี้
(ก) ค่ารักษาพยาบาล ค่าห้องและค่าอาหาร ตามจํานวนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินรายละ ๔,๕๐๐ บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยแต่ละครั้ง หรือ
(ข) กรณีมีความจําเป็นต้องผ่าตัดใหญ่และใช้เวลาในการผ่าตัดไม่เกินสองชั่วโมง ให้ได้รับตามจํานวนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินรายละ ๘,๐๐๐ บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยแต่ละครั้งหรือ
(ค) กรณีมีความจําเป็นต้องผ่าตัดใหญ่และใช้เวลาในการผ่าตัดเกินกว่าสองชั่วโมง หรือกรณีต้องมีการรักษาพยาบาลในห้องผู้ป่วยหนัก (Intensive Care Unit : ICU) ให้ได้รับตามจํานวนเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินรายละ ๑๔,๐๐๐ บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยแต่ละครั้ง
(๓) ค่ารถพยาบาล หรือเรือพยาบาลนําส่งผู้มีสิทธิที่ประสงค์จะย้ายไปรับบริการสาธารณสุขที่หน่วยบริการประจําของตน หน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย หรือหน่วยบริการอื่นที่หน่วยบริการประจําเห็นชอบ ให้ได้รับตามจํานวนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ๕๐๐ บาทต่อครั้ง
ข้อ ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๖/๒ ของข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๕
“ข้อ ๖/๒ ให้สถานบริการที่ให้บริการผู้มีสิทธิกรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินตามข้อ ๕/๑ มีหน้าที่แจ้งการเข้ารับบริการครั้งนั้นต่อสํานักงาน ทันทีหรือโดยเร็วภายใน ๒๔ ชั่วโมงแรกรับผู้ป่วยเพื่อประสานหน่วยบริการประจําหรือหน่วยบริการอื่น ให้พิจารณารับย้ายผู้มีสิทธิและให้สถานบริการอื่นอํานวยความสะดวกในการนําส่งผู้มีสิทธิด้วย
กรณีที่หน่วยบริการประจําหรือหน่วยบริการอื่นไม่สามารถรับย้ายผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่งได้ ให้หน่วยบริการประจําหรือสํานักงาน รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หลังการแจ้งขอย้ายครบ ๒๔ ชั่วโมง เป็นต้นไป ให้แก่สถานบริการ ทั้งนี้ตามประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์การดําเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจําปีงบประมาณนั้น”
ข้อ ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๖/๓ ของข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๕
“ข้อ ๖/๓ การเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงรายการหรืออัตราค่าใช้จ่ายหรือระยะเวลาตามข้อ ๖/๑ หรือข้อ ๖/๒ หรือข้อ ๖/๓ หรือที่กําหนดไว้แล้ว ในข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๕ ให้สํานักงานประกาศกําหนดเพิ่มเติมได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ”
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘
ศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ