เปิดจม."สะมะแอ ท่าน้ำ" ย้อนอดีตเจรจารัฐไทย กับสัญญาณใหม่พูดคุยสันติสุข
หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ หรือ นายมะแอ สะอะ วัย 63 ปี อดีตแกนนำขบวนการพูโล ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันฮารีรายออีฎิ้ลฟิตริ ฮิจเราะห์ศักราช 1436 พอดี นับเป็นจังหวะก้าวอันสำคัญอีกครั้งหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้ทางการจะอ้างเหตุผลเรื่อง "การพักการลงโทษ" แต่เมื่อพลิกดูหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ จะพบว่าหากพิจารณาตามเกณฑ์อายุที่ระบุชัดว่าผู้ต้องขังที่จะได้รับโอกาสพักการลงโทษ ต้องมีอายุเกินกว่า 70 ปี หรือมีอาการป่วยเรื้อรังแล้ว ก็ต้องถือว่า หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ยังไม่เข้าเกณฑ์
แต่หากพิจารณาเงื่อนไขคุณสมบัติอื่นๆ ก็พอไปได้อยู่เหมือนกัน กล่าวคือ เป็นนักโทษเด็ดขาด หมายถึงต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หากเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3 ถ้าเป็นนักโทษชั้นดีมาก ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 4 หากเป็นนักโทษชั้นดี ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 5
หะยีสะมแอ เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม และเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3 เพราะเขาถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีกบฏแบ่งแยกราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปี 2540 ติดคุกมาแล้ว 18 ปี โดยเมื่อปี 2554 ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต แต่ภายหลังได้รับการลดโทษเหลือ 27 ปี 8 เดือน จึงถือว่าเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3 แล้ว
คำว่า "ท่าน้ำ" ไม่ใช่นามสกุลของหะยีสะมะแอ แต่เป็นภูมิลำเนาของเขาที่บ้านท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี โดยแกนนำขบวนการพูโลในยุคของเขาหลายคนก็มาจากบ้านท่าน้ำเช่นเดียวกัน และพื้นที่ปะนาเระก็ยังจัดเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
แม้กรณีของ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางการตัดสินใจปล่อยตัวอดีตแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพราะ หะยีบือโด เบตง ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตเช่นเดียวกับ หะยีสะมะแอ ก็ได้รับการปล่อยตัวไปก่อนแล้วเมื่อปลายปี 2556 ซึ่งเขาอายุได้ 74 ปี
ทว่าการเลือกปล่อยตัวอดีตหัวหน้าขบวนการพูโลจากบ้านท่าน้ำ ในวันฮารีรายอ ก็ต้องยอมรับว่าฝ่ายรัฐเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะเจาะและสร้างสัญลักษณ์แห่งสันติภาพที่ยึดโยงวิถีวัฒนธรรมของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากฮารีรายอนับเป็นวันดีของพี่น้องมุสลิม สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ จึงสร้างความรู้สึก "ดี" เพิ่มเป็น 2 เท่า
ที่สำคัญเป็นการแสดงความจริงใจของรัฐบาลไทยต่อกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่ง หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ก็ต้องจัดว่าเป็นหนึ่งในผู้เห็นต่างที่เลือกเส้นทางต่อสู้โดยใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยมานานหลายสิบปีก่อนถูกจับกุม
หะยีสะมะแอ ถูกจับในห้วงเวลาใกล้เคียงกับแกนนำคนอื่นๆ ในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน ช่วงที่มีการจับกุมมีข่าวว่าหะยีสะมะแอ และแกนนำคนอื่นๆ จะไม่ถูกคุมขัง แต่แล้วเขาและพวกกลับถูกดำเนินคดีในข้อหาฉกรรจ์ โดยเฉพาะตัวเขาต้องติดคุกยาวนานถึง 18 ปี ทำให้กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มอื่นๆ ปลุกกระแสความไม่จริงใจของรัฐไทยที่กระทำต่อผู้เห็นต่าง
ในจดหมายที่ หะยีสะมะแอ เคยเขียนบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตหลังกำแพงคุก ทำให้ทราบว่าเขามีบทบาทในการเจรจากับตัวแทนรัฐบาลไทยหลายครั้ง โดยเฉพาะในห้วงปี 2536-2537 ทั้งยังพยายามเกลี้ยกล่อมกลุ่มเคลื่อนไหวกลุ่มอื่นๆ ที่คัดค้านการเจรจา ให้หันหน้าเข้ามาพูดคุยกับรัฐบาลไทยด้วย
แต่เมื่อเขาถูกจับและถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาหนักซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ทำให้มีการสร้างกระแสว่าเขาถูกหลอก และการพูดคุยเจรจาก็เงียบหายไปนานกระทั่งมาเกิดขึ้นอีกครั้งในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลชุดปัจจุบัน
เนื้อหาบางช่วงบางตอนของจดหมายมีดังนี้...
"เหตุการณ์เมื่อปี 2536 ได้เกิดวิกฤตการณ์ความขัดแย้งกันในกลุ่มผู้นำขบวนการ จนเป็นเหตุให้ขบวนการพูโลถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มขบวนการพูโลเก่า มี ตนกูบีรอ เป็นผู้นำ และกลุ่มขบวนการพูโลใหม่...
ในช่วงนั้นเกิดการเจรจาขึ้นในทางลับระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มขบวนการพูโลจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ครั้งที่ 2 ที่เมืองดัมซิก ประเทศซีเรีย ตัวแทนจากประเทศไทยในขณะนั้น มี พล.ต.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ พ.อ.พิเศษ ชรินทร์ อมรแก้ว พ.อ.อภิไธย สว่างภพ....
ส่วนตัวแทนที่เป็นฝ่ายพูโลมี ตนกูบีรอ กอตอนีลอ, กาบีร์ อับดุลรอห์มาน, ซัมซูดิง ข่าน, อารีเป็ง ข่าน, อะห์หมัด บินฮาเดร์, มะ เปอร์ลิส, ซูเบร์ ฮุสเซ็น หรือ เปาะซูเซ็ง, ฮัจยีศาการียา, ฮัจยีอิสมาแอล โดยมีผมเป็นตัวแทนในการประสานงาน...
การเจรจาในครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2536 ถึง 2537 ในช่วงเวลานี้ผมก็มีโอกาสพูดคุยกับตัวเทนรัฐบาลไทยซึ่งมาจากกองบัญชาการทหารสูงสุด...(ชื่อนายทหาร) จำนวนหลายครั้งที่ประเทศมาเลเซีย เนื้อหาสาระสำคัญที่พูดคุยเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทย ขอให้เข้าร่วมช่วยแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผมเองก็ได้ตอบรับให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ...
ในครั้งแรกของการเจรจาพูดคุยนั้น มีระดับผู้นำขบวนการในมาเลเซียหลายคนคัดค้านต่อต้าน เพราะไม่เชื่อว่ารัฐบาลไทยจะมีความมุ่งมั่นและจริงจังกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จริง...
ตอนนั้นผมก็ได้พยายามชี้แจง อธิบาย จนทำให้หลายคนเข้าใจและเห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลไทย แต่ก็ยังมีบางกลุ่มเช่นเดียวกันที่ไม่เชื่อใจ ในระหว่างนี้เองได้เกิดการรวมกลุ่มเป็นเบอร์ซาตู มี ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน เป็นแกนนำหลัก กลุ่มนี้ได้ตอบรับเจรจากับรัฐบาลไทย หลังจากนั้นผู้นำขบวนกรพูโลและกลุ่มเบอร์ซาตูก็ได้รับเชิญจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิบาลมาเลเซีย เพื่อพบปะพูดคุยกันที่สมาคมตำรวจในกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงนั้น พล.อ.กิตติ รัตนฉายา เป็นแม่ทัพภาคที่ 4...
การพบปะในครั้งนั้น ผู้นำขบวนการพูโลเก่าได้ปฏิเสธการเข้าร่วมกับกลุ่มเบอร์ซาตู โดยให้เหตุผลว่า การเจรจาระหว่างกลุ่มขบวนการกับรัฐบาลไทยมีความคืบหน้าไปมากแล้ว จึงไม่ควรเริ่มต้นใหม่ แต่ขบวนการพูโลเก่าก็ได้สนับสนุนให้กลุ่มเบอร์ซาตูเจรจาอย่างต่อเนื่อง...
ต่อมาปี 2540 ผมก็ถูกจับดำเนินคดีข้อหากบฏในประเทศไทย จนกระทั่ง 18 ปี (อยู฿ในเรือนจำ) ระหว่างนั้นก็ไม่มีผู้นำกลุ่มใดออกมาพูดคุยเจรจากับรัฐบาล ไทยอีก เพราะเขามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผม และในขณะที่อยู่ในเรือนจำก็คิดเสมอว่าการพุดคุยเจรจาระหว่างกลุ่มขบวนการกับรัฐบาลไทยน่าจะเป็นไปได้ยาก...
เรื่องนี้เมื่อปี 2552 ในขณะที่อยู่ในเรือนจำบางขวาง แดน 6 เคยเขียนหนังสือส่งถึงแม่ทัพภาคที่ 4 และช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใหม่ๆ เคยเขียนหนังสือถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพื่อให้มีการพูดคุยเจรจา และทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งตัวแทนไปมาเลเซียเพื่อพบกับผู้นำกลุ่มเบอร์ซาตู แต่กลับถูกปฏิเสธ"
สาระสำคัญในจดหมายสะท้อนว่าความพยายามพูดคุยเจรจามีมาตลอด แต่ติดปัญหาที่ความไม่ต่อเนื่อง และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของกลุ่มขบวนการต่างๆ ที่มีต่อรัฐไทย
ฉะนั้นการปล่อยตัว หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ในวันฮารีรายอ จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์และการส่งสัญญาณถึงการพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบใหม่ระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยที่มี พลเอกอักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้า กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่ใช้ชื่อองค์กรร่วมกันว่า "มารา ปาตานี" โดย 3 ใน 6 คือกลุ่มพูโลที่มีความสัมพันธ์กับหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ด้วย
การปล่อยตัวหะยีสะมะแอ ย่อมเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการพูดคุย อันเป็นหนึ่งในแนวนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หน่วยงานความมั่นคงยึดถือเป็น "คัมภีร์" ในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา
แม้แกนนำระดับอาวุโสอย่าง หะยีบือโด เบตง หรือ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ จะไม่ได้มีอิทธิพลทางตรงต่อสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกต่อไปแล้ว แต่การให้อิสรภาพแก่คนเหล่านี้ ย่อมเป็นสัญญาณแจ่มชัดที่ส่งไปถึงกลุ่มนักต่อสู้ทั้งหลาย รวมทั้งนานาชาติว่า รัฐไทย "ไม่ติดใจ" ใดๆ กับผู้ที่คิดเห็นแตกต่าง หรือแม้กระทั่งเคยจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้ ที่สำคัญรัฐไทยยังพร้อมเจรจาพูดคุยเพื่อหาทางออกกับทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขสืบไป
จุดหักเหของเรื่องนี้จึงอยู่ที่การรักษาความจริงใจให้มั่นคง และเดินหน้านโยบายพูดคุยด้วยความต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนแปลงทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล หากทำได้ก็ยังพอมองเห็นแสงสว่างของสันติภาพที่ปลายอุโมงค์!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ ขณะไปทำบัตรประจำตัวประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี