ชุบชีวิตความร้างให้มีสีสัน ‘โรงภาพยนตร์เก่า’ มหรสพบันเทิงบนแผ่นฟิล์ม
ลุ้นสำนักงานทรัพย์สินฯ บูรณะโรงภาพยนตร์นางเลิ้งเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต หวังเป็นแม่แบบโรงภาพยนตร์เก่าทั่วประเทศ ด้าน ‘โดม สุขวงศ์’ เผยเหตุหลายแห่งถูกทุบทิ้ง เพราะคิดว่าเป็นแหล่งบันเทิงชั้นต่ำ ยันต้องฟื้นฟูเป็นแหล่งเรียนรู้ เชื่อเกิดความยั่งยืน
‘โรงภาพยนตร์เก่า’ จากแหล่งมหรสพบันเทิงที่เคยมอบความสุข คอยแต่งแต้มเติมเต็มชีวิตให้มีสีสัน มาวันนี้กลับเงียบเหงา ไร้ชีวิตชีวาเยี่ยงอดีตที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟู ด้วยต้องปราชัยให้กับยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน ผู้คนกระหายเสพความหรูหรามากขึ้น และนำมาสู่การแทนที่ของเทคโนโลยีใหม่ ‘โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์’อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำให้โรงภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นตามแบบโรงละครขนาดใหญ่หลายแห่งถูกทุบทิ้ง บ้างก็ถูกทิ้งร้าง หรือเปลี่ยนใช้ประโยชน์อื่นแทน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะสถาปัตยกรรมของอาคารเหล่านี้ล้วนแต่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์และห้วงอดีตกาลที่ผูกมิตรสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คน ทว่า ใครจะล่วงรู้วันหนึ่งจะเหลือเพียงภาพความทรงจำให้คิดคำนึงถึงเท่านั้น
แต่ก็ใช่ว่า...จะฟื้นคืนความร้างให้กลับมามีสีสันอีกไม่ได้ เพราะโรงภาพยนตร์ชั้นสองทั่วโลกต่างถูกชุบชีวิตใหม่ขึ้นมาแล้วทั้งสิ้น โดยยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมดั้งเดิม แม้วัตถุประสงค์การใช้งานอาจถูกปรับเปลี่ยนไปตามบริบท จากเดิมฉายภาพยนตร์กลายเป็นสถานที่แสดงคอนเสิร์ต ละครเวที หรือกิจกรรมบันเทิงอื่น ๆ แทน คล้ายกับ ‘ศาลาเฉลิมกรุง’ โรงมหรสพหลวงของไทย
50% โรงภาพยนตร์เก่า เหลือเพียงตัวตึก
‘Philip Jablon’ เจ้าของโครงการ The Southeast Asia Movie Theater เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความคลั่งไคล้ในความงดงามของสถาปัตยกรรมโรงภาพยนตร์ชั้นสองในไทยมาก จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อราว 6 ปีก่อน สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการชมภาพยนตร์ในศูนย์การค้า โดยไม่รู้ว่า เมืองมนต์เสน่ห์แห่งนี้มีโรงภาพยนตร์ชั้นสองตั้งอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ตลอดเวลาการดำเนินโครงการ นอกจากการเก็บภาพถ่ายโรงภาพยนตร์เก่าในจังหวัดต่าง ๆ แล้ว เขาเล่าว่า ยังได้สัมภาษณ์คนในชุมชนใกล้เคียง เพราะอยากเข้าใจวิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อนเหมือนในสหรัฐฯ หรือไม่ เนื่องจากเกิดมาก็เห็นโรงภาพยนตร์เปิดให้บริการในศูนย์การค้าแล้ว เลยไม่มีโอกาสสัมผัสโรงภาพยนตร์กลางชุมชนเช่นนี้
“โรงภาพยนตร์ไทยและสหรัฐฯ มีความคล้ายคลึงกัน โดยสมัยก่อนคนจะมีอุปกรณ์สร้างความบันเทิงในบ้านน้อย เช่น โทรทัศน์ วีดิโอ อินเตอร์เน็ต เป็นต้น ทำให้โรงภาพยนตร์ถูกสร้างขึ้นอย่างหรูหรามาก เพราะถือเป็นจุดร่วมของชุมชน” เขากล่าว
พร้อมโยงเข้าสู่ยุคปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาทำให้ถูกลดทอนความสำคัญลง เจ้าของกิจการจึงต้องเปลี่ยนมาทำธุรกิจเพื่ออยู่รอด ด้วยการฉายภาพยนตร์เรท R ฉายภาพยนตร์ควบ หรือทุบทิ้งสร้างตึกใหม่ ลักษณะเช่นเดียวกับวิกฤตในไทยขณะนี้
Philip ขยายความถึงสภาพโรงภาพยนตร์ในไทยว่า ปัจจุบันประมาณ 50% เหลือเพียงตัวตึก ส่วนโรงภาพยนตร์ที่เปิดให้บริการเหลือไม่กี่แห่ง และส่วนใหญ่มีความทรุดโทรมมาก ภายหลังภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ส่งผลให้ไม่มีใครกล้าลงทุน เนื่องจากการรักษาหรือซ่อมแซมโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนใช้งบประมาณสูง ดังนั้นหลายแห่งจึงกลายเป็นสถานที่จอดรถ โกดังเก็บของ หรือรังนกนางแอ่น
โรงภาพยนตร์เเห่งหนึ่งในเมียนมาร์
ผิดกับเพื่อนบ้านประเทศอาเซียนอย่าง ‘เมียนมาร์’ ยังมีโรงภาพยนตร์เก่าเปิดใช้งานอยู่ เพราะคนในประเทศไม่มีโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ต ทำให้โรงมหรสพภาพเคลื่อนไหวยังเป็นแหล่งบันเทิงสำหรับพวกเขา แต่ ‘ลาว’ กลับไม่มีโรงภาพยนตร์ลักษณะนี้ หรือมีก็ไม่กี่แห่ง และไม่ฉายภาพยนตร์หลายปีแล้ว เรียกว่าชะตากรรมก็แตกต่างกันไป
อย่างไรก็ดี ยืนยันได้ว่า โรงภาพยนตร์ไทยมีเอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น ซึ่งหาไม่ได้ในเมียนมาร์ ลาว หรือแม้กระทั่งสหรัฐฯ
ผู้หลงใหลในคุณค่าของโรงภาพยนตร์ชั้นสอง ยังเล่าถึงโรงภาพยนตร์ที่ประทับใจมาก คือ เฉลิมธานี (นางเลิ้ง) ซึ่งวันที่เห็นครั้งแรกแทบไม่เชื่อว่า เป็นโรงภาพยนตร์ ถึงขนาดอุทานกับตัวเอง นี่ต้องหลงมาจากยุคก่อนแน่นอน เพราะอาคารถูกสร้างขึ้นด้วยไม้ทั้งหมด ถือว่ามีไม่กี่แห่งในโลกนี้ ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลย หากจะถูกเสนอชื่อเป็นมรดกโลก เพราะมีอายุเก่าแก่มากที่สุดในเอเชียนั่นเอง
ฟื้น ‘นางเลิ้ง’ สู่โรงมหรสพบันเทิงยุคใหม่
จากความประทับใจของ Philip ที่มีต่อโรงภาพยนตร์แห่งนี้ และเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนคิดเช่นนั้น เพราะโรงภาพยนตร์นางเลิ้งนับเป็นแหล่งบันเทิงยุคเก่าก่อนที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยบริษัทภาพยนตร์พัฒนากร และในปี 2561 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า จะถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ดังนั้นจึงนำมาสู่การผลักดันให้เร่งบูรณะชุบชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้ง
โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี (นางเลิ้ง) ปิดตัวเเล้ว
‘โดม สุขวงศ์’ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ในฐานะผู้ขับเคลื่อนเรื่องการชุบชีวิตโรงภาพยนตร์เก่า โดยเฉพาะที่ ‘นางเลิ้ง’ มุ่งหวังให้เป็นแห่งแรก ระบุถึงสาเหตุโรงภาพยนตร์เก่าถูกทุบทิ้งโดยไม่รู้สึกอะไร เพราะคิดว่าเป็นสถานบันเทิงชั้นต่ำ ราคาถูก มองเป็นสินค้าขายความบันเทิง เต้นกินรำกิน ซึ่งแตกต่างจากโบสถ์วิหารกลับยังยืนอยู่ได้ เพราะเรานับถือเป็นสถาบัน
“ภาพยนตร์เป็นศาสนาอย่างหนึ่ง เพราะสิ่งที่ปรากฏไม่ต่างอะไรจากโบสถ์ เรื่องราวล้วนเกี่ยวกับชีวิต รัก โลภ โกรธ หลง และเมื่อรับชมภาพยนตร์ดี ๆ สักหนึ่งเรื่อง จะเกิดความคิด สติ และปัญญา ไม่ต่างกัน ฉะนั้นถ้าคิดว่าโรงภาพยนตร์คือโบสถ์ก็จะไม่มีการทุบทิ้ง”
แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น เขายืนยันว่า ที่ผ่านมาคนมองโรงภาพยนตร์เป็นเพียงสินค้าขายความบันเทิง เราจึงต้องทำโรงภาพยนตร์ให้กลายเป็นโบสถ์ เพื่อไม่ให้ถูกทุบทิ้ง ง่ายที่สุด ถ้าโรงภาพยนตร์นางเลิ้งกลับมาต้องทำให้เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับนักเรียนในกรุงเทพฯ เหมือนศาลายาปัจจุบันที่มี 70 โรงเรียนเข้าชมอย่างต่อเนื่อง
จึงฝันว่า สักวันหนึ่งจะทำให้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือการศึกษาเรียนรู้ของมนุษย์ตั้งแต่เด็กถึงวัยชรา แล้วลัทธิทำโรงภาพยนตร์เป็นโบสถ์จะขยายไปทั่วประเทศ เชื่อว่าจะเกิดความยั่งยืนในที่สุด
เเปลนบูรณะโรงภาพยนตร์เฉลิมธานี (นางเลิ้ง)
อีกหนึ่งโต้โผอย่าง ‘ดร.รังสิมา กุลพัฒน์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการมรดกสถาปัตยกรรม ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโรงภาพยนตร์นางเลิ้ง และเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เร่งบูรณะชุบชีวิตโรงมหรสพแห่งนี้ทันครบ 100 ปี แต่ต้องไม่ใช่ศูนย์การค้า ทว่า มีวิถีอื่นที่ทำได้ 3 ทางเลือก คือ
1.การพัฒนาเป็นโรงมหรสพหรือโรงภาพยนตร์เต็มรูปแบบ
2.การพัฒนาเป็นโบราณสถานอย่างเดียว
3.การพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต
ส่วนแนวโน้มที่เป็นไปได้ ผู้เชี่ยวชาญฯ บอกว่า ควรจะพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์ นิทรรศการ ห้องสมุด และอื่น ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม ทำอย่างไรให้คงสภาพเดิมไว้มากที่สุด แต่ค่าบูรณะครั้งนี้อาจสูง เพราะตัวอาคารเป็นไม้ ประมาณ 3.5 หมื่นบาท/ตร.ม. ยกเว้นจะหาช่างฝีมือดีราคาถูกได้
“การอนุรักษ์ไม้ถือเป็นการอนุรักษ์เพื่อโลก ทุกสิ่งที่เป็นสถาปัตยกรรมไม้ล้วนเป็นมรดกโลก ดังนั้นทำอย่างไรจะอนุรักษ์ความรู้เทคนิคช่างสมัยก่อนและโครงสร้างทางกายภาพของโรงภาพยนตร์นางเลิ้งไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ยาวหรือเก้าอี้หวาย”
ทั้งนี้ การบูรณะจะมีชีวิตต่อไปได้ต้องขึ้นอยู่กับคนในชุมชนนางเลิ้ง รวมถึงคนไทยทุกคน ซึ่งในต่างประเทศมีกรณีศึกษาเรื่องนี้ โดยริเริ่มตั้งองค์กรเพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียน ดังเช่นโรงภาพยนตร์หลายแห่งในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ลุ้นให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เร่งดำเนินการภายในปีนี้
ความทรุดโทรมภายในโรงภาพยนตร์เก่าหลายเเห่ง
ขณะที่ ‘อิศรีย์ หมอยาก’ ชาวชุมชนนางเลิ้ง เธอเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มาหลายสิบปี มีความหวังเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ในชุมชนว่า ถ้าบูรณะโรงภาพยนตร์นางเลิ้งขึ้นก็ไม่ต้องมาถึงโรงภาพยนตร์ศาลายา จะช่วยแก้ปัญหาสังคมบางอย่างได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งบางครั้งไม่มีที่ไป สำหรับตนเองไม่ได้ชมภาพยนตร์มาหลายปีแล้ว จึงอยากให้ความทรงจำนี้กลับคืนมา และเมื่อมีความสุขจะได้หาหมอน้อยลง
ความกังวลว่า โรงภาพยนตร์เก่าจะตายไปจากสังคมไทย แลดูเหมือนจะมีความหวังขึ้นอีกครั้ง หากโครงการบูรณะ ‘นางเลิ้ง’ สำเร็จ ก็จะเป็นโมเดลต่อยอดไปสู่โรงภาพยนตร์อื่น ๆ ทั่วประเทศ ที่ใกล้ถึงจุดอวสานให้ฟื้นคืนกลับมาได้ อย่างน้อยในรูปแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่เกิดจากคนในชุมชน เพราะการพัฒนาให้คนมีสติปัญญา 1 คน นับว่าเป็น ‘กำไร’ มหาศาลแก่ประเทศเทียว .
ขอบคุณภาพประกอบ:Philip Jablon เจ้าของโครงการ The Southeast Asia Movie Theater