กาง ม.228 รธน.ใหม่เทียบคำแปรญัตติ 2 สปช.“มนูญ-สมศักดิ์”ยันอัยการต้องอิสระ
“…“มนูญ” ได้ตัดทิ้งวรรคสองเดิม ทิ้งจนหมด ! และเพิ่มเติมองค์ประกอบขององค์กรอัยการ และเขียนความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการเพิ่มเติมเข้าไปด้วย … “สมศักดิ์” ได้เพิ่มเติมความเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเพิ่มความมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีของอัยการเข้าไปด้วย…”
นับว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการ “ลุกฮือ” ขึ้นของ “อัยการ” ค้านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับ “บวรศักดิ์”
ชูธง “อัยการ” ต้องเป็น “อิสระ” ปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง !
อย่างไรก็ดีนอกเหนือไปจากประเด็นสำคัญคือให้คนนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) สัดส่วน 1 ใน 3 และให้ประธาน ก.อ. มาจากบุคคลภายนอกได้แล้วนั้น
อีกประการหนึ่งคือ ในมาตรา 228 ระบุไม่ชัดเจนว่า ถึงที่สุดแล้ว “อัยการ” มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริงหรือไม่ ?
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วรรคแรก และวรรคสอง ถือเป็นปัญหาที่ควรต้องปรับให้ชัดเจน
ที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่อัยการเท่านั้นที่เห็นถึงข้อบกพร่องดังกล่าว แต่มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ “มนูญ ศิริวรรณ” นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน และ “สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ” อดีต ส.ว. ปี 2543 แปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวด้วย
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กางร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 228 เทียบคำแปรญัตติของ 2 สปช. ดังกล่าว มาให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
สำหรับมาตรา 228 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วรรคแรก ระบุว่า องค์กรอัยการมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ซึ่งในวรรคแรกนี้ อัยการหลายคน มองว่า คำว่า “องค์กรอัยการ” หมายความว่าอย่างไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และจะแน่ใจได้อย่างไรว่า องค์กรอัยการ จะครอบคลุมความอิสระถึง พนักงานอัยการ และ ก.อ. เช่นกัน ?
ส่วนวรรคสอง ระบุว่า พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการ และพนักงานอัยการ และกฎหมายอื่น
ซึ่งในวรรคสอง อัยการบางส่วน มองว่า ข้าราชการเวลาจะทำอะไรต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้น บัญญัติไว้ให้เปลืองกระดาษทำไม
นอกจากนี้ ถ้าเขียนว่าต้องทำตามหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ หมายความว่า จะไม่สามารถใช้ดุลยพินิจคดีด้วยความอิสระได้ รวมถึงถ้าเขียนในลักษณะนี้ มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ที่ระบุว่า พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี ก็อาจขัดกับรัฐธรรมนูญอีกด้วย
อย่างไรก็ดีนอกเหนือจากคำคัดค้านของ “อัยการ” ข้างต้นแล้ว ยังพบว่ามี สปช. อย่างน้อย 2 ราย ที่แปรญัตติในมาตรา 228 ด้วย !
หนึ่ง “มนูญ ศิริวรรณ” แปรญัตติไว้ ดังนี้
มาตรา 228 องค์กรอัยการ ประกอบด้วย คณะกรรมการอัยการสูงสุด และพนักงานอัยการ
องค์กรอัยการมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
เท่ากับว่า “มนูญ” ได้ตัดทิ้งวรรคสองเดิม ทิ้งจนหมด ! และเพิ่มเติมองค์ประกอบขององค์กรอัยการ และเขียนความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการเพิ่มเติมเข้าไปด้วย
สอง “สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ” แปรญัตติไว้ ดังนี้
มาตรา 228 องค์กรอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
พนักงานอัยการ มีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีดำเนินคดีในศาล มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ และกฎหมายอื่น
เท่ากับว่า “สมศักดิ์” ได้เพิ่มเติมความเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และเพิ่มความมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีของอัยการเข้าไปด้วย
อย่างไรก็ดี ล่าสุด มีรายงานข่าวแจ้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ กมธ.ยกร่างฯ กำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ ยังไม่มีการแก้ไขในมาตรา 228 ในส่วนของวรรคแรก และวรรคสอง แต่อย่างใด
ดังนั้น น่าจับตาว่า “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ในฐานะประธาน กมธ.ยกร่างฯ จะปรับแก้ตามคำแปรญัตติของ สปช. 2 รายนี้ หรือไม่ ?
และถ้าไม่ปรับแก้ เป็นเพราะ “ซ่อน” นัยยะอะไรบางอย่างไว้ ตามที่ “อัยการ” หลายคนตั้งข้อสังเกตจริงหรือไม่ !
อ่านประกอบ :
บี้กมธ.ยกร่างฯเขียนความเป็นอิสระอัยการให้ชัด!-ถาม“บวรศักดิ์”ทำไมไม่แก้
ดร.วิชช์ จีระแพทย์ : พนักงานอัยการ ต้องอิสระ
โกวิท ศรีไพโรจน์ :ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อสถานะของพนักงานและองค์กรอัยการ
รูปแบบองค์กรอัยการที่ป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง