ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในงานบริการภาครัฐเพื่อป้องกันการทุจริต
วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในงานบริการภาครัฐ เพื่อป้องกันการทุจริต เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามนัยมาตรา 19 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เสนอ
ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อมาตรการในการป้องกันการทุจริตและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและให้สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงการคลังจัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า ได้นำเสนอถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในงานบริการภาครัฐ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการบูรณาการงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาของระบบบริการภาครัฐในปัจจบัน ให้สามารถเชื่อมโยงระบบงานบริการภาครัฐโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยยกระดับบริการอำนวยความสะดวก ลดภาระประชาชนและภาคธุรกิจ ลดการติดต่อและการใช้ดุลพิจนิจ ซึ่งจะสร้างความโปร่งใสและลดความเสี่ยงการทุจริตได้ โดยมีแผนดำเนินการในงานบริการหลักภายใน 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2560) โดยให้บริการภาครัฐผ่านระบบออนไลน์บนหน้าเว็บไซต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถป้องกัน/ลดความเสี่ยงต่อการทุจริต และการเอื้อประโยชน์ต่าง ๆ เกิดความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ลดต้นทุนและลดขั้นตอนการดำเนินการและสร้างโอกาสในการแข่งขัน เป็นต้น โดยเสนอมาตรการที่รัฐบาลควรดำเนินการ ดังนี้
1. มาตรการเร่งด่วน รัฐบาลควรส่งเสริมโครงการบูรณาการงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพของสำนักงาน ก.พ.ร. และสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้โครงการดังกล่าวบรรลุผล โดยนำร่องในโครงการเกี่ยวกับการนำเข้า – ส่งออก [โดยเฉพาะในสินค้าส่งออกที่ส่งผลกระทบต่อยอดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)ประกอบด้วย ยางพารา ข้าวทั่วไป ข้าวหอมมะลิ อาหารทะเลแช่แข็ง ชิ้นส่วนรถยนต์ และเครื่องทำความเย็นและตู้แช่แข็ง ] เพื่อให้ทันต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนธันวาคม 2558 โดยอาจบรรจุโครงการดังกล่าวเป็นมาตรการเสริมในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 – 2560) ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องบูรณาการการทำงานในการต่อต้านการทุจริตและพัฒนาเครือข่ายในประเทศ
2. มาตรการระยะยาว รัฐบาลควรให้การส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปรับปรุงงานบริการภาครัฐ โดยเฉพาะในระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนที่รับบริการ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางในการติดตามตรวจสอบให้สามารถทำได้ง่ายขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริต