คลังเตรียมออก 'พ.ร.ก.กู้เงิน' - ลงทุนเมกะโปรเจคน้ำ
ครม. ไฟเขียว ออก พ.ร.ก.กู้เงินแก้ปัญหาน้ำแบบบูรณาการ ตั้ง ยงยุทธ พิจารณาโครงการทั่วประเทศ แก้ปัญหาระยะยาว พร้อมอนุมัติงบขาดดุลเพิ่มเป็น 4 แสนล้าน ด้าน รมว.การคลัง สั่ง ธปท. ดูแลแบงก์พาณิชย์หยุดคิดดอกเบี้ยเหยื่อน้ำท่วม
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.การคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังพร้อมจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพิ่มเติม เพื่อนำมาฟื้นฟูประเทศ ซึ่งครม. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มและภัยแล้ง ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เป็นประธาน ไปพิจารณาแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำทั้งหมด
ด้าน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ครม.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ปัญหาอุทกภัยดินโคลนถล่มและภัยแล้ง ที่มีตนเองเป็นประธาน มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองประธาน ไปร่วมกันพิจารณาว่ามีโครงการใดสำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศไทย เพื่อจะบริหารจัดการระบบน้ำในอนาคตเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุทกภัย น้ำแล้ง และดินโคลนถล่มอีก
ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าจะคณะกรรมการชุดนี้จะประชุมวางกรอบ เพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน ก่อนมีการประชุมใหญ่ โดยโครงการที่คณะกรรมการจะพิจารณาจะดูรวมทั้งหมดที่เกี่ยวกับการวางโครงสร้างน้ำ การสร้างเขื่อน สร้างฝาย แก้มลิง และการป้องกันดินโคลนถล่ม การจัดที่อยู่ใหม่ให้แก่ประชาชนที่ถูกน้ำท่วมซ้ำซาก และทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ
ขณะนี้แผนแม่บทป้องกันปัญหาทุกพื้นที่มีหมดแล้วแต่ขาดการบูรณาการซึ่งคณะกรรมการจะนำมาพิจารณาร่วมกับแผนบริหาร 25 ลุ่มน้ำ โครงการพระราชดำริ ซึ่งในปีหน้าน้ำต้องไม่ท่วมหรือถ้ามีต้องไม่มากเท่านี้ ผมจะทำหน้ากลั่นกรองโครงการและงบประมาณของแต่ละโครงการ ส่วนจะใช้เงินเท่าไรถ้าจำเป็นก็ต้องมีเงิน ทำอย่างไรก็ได้ให้มีเงินมาไม่ว่าเงินกู้ในหรือต่างประเทศก็ตาม ซึ่งหลังจากพิจารณาโครงการเสร็จแล้วก็ส่งต่อให้นายกิตติรัตน์และกระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องหาเงินต่อไป นายยงยุทธ กล่าว
สำหรับเหตุผลที่ให้คณะกรรมการชุดนี้รับผิดชอบ เนื่องจากเป็นคณะกรรมการที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ตลอดจนหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องน้ำไว้หมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปตั้งกระทรวงน้ำขึ้นมาซึ่งจะช้าเกินไป
เชิญผู้เชี่ยวชาญร่วมวางแผน
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การพิจารณาโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการจัดการน้ำ คาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษารูปแบบโครงการหลายสัปดาห์ แต่คงมีเวลามากนัก เพราะต้องจัดการให้เสร็จก่อนที่ฝนรอบใหม่จะมาในเดือนพ.ค.-มิ.ย.ในปีหน้า
จะเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมพิจารณาโครงการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และจะให้ภาคธุรกิจเอกชนร่วมให้ความเห็นด้วยว่าให้ความมั่นใจกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศหรือไม่ เพราะประชาชนต้องการความเชื่อมั่น ดังนั้นการดำเนินการจะต้องมีความรอบคอบ
ครม.เห็นชอบขาดดุลเพิ่ม5หมื่นล้าน
นายธีระชัย กล่าวว่า คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้เพิ่มการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 เพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ตั้งงบขาดดุลไว้ 350,000 ล้านบาท เป็น 400,000 ล้านบาท ส่งผลให้วงเงินงบประมาณรายจ่ายในปี 2555 เพิ่มจาก 2.33 ล้านบาท เป็น 2.38 ล้านล้านบาท
สำหรับงบประมาณปี 2555 จำนวน 2.38 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 1.85 ล้านล้านบาท หรือ 78% ของวงเงินงบประมาณรวม และรายจ่ายลงทุน 4.2 แสนล้านบาท หรือ 17.8% ของวงเงินงบประมาณรวม
แม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเป็น 400,000 ล้านบาท ในปี 2555 แต่สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเท (จีดีพี)ลดลงจากปี 2544 ที่ 3.7% ของ จีดีพี เหลือ 3.4% ของ จีดีพี
หั่นงบได้7หมื่นล้านฟื้นน้ำท่วม
นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่ ครม. มีมติให้หน่วยงานราชการปรับลดงบประมาณปี 2555 ลงมา 10% หรือจำนวน 8 หมื่นล้านบาทแล้ว สำนักงบประมาณรายงานให้ ครม. ทราบว่าส่วนราชการ และรับวิสาหกิจได้ปรับลดงบลงมารวม 48,859.8 ล้านบาท สำนักงบประมาณจึงปรับลดงบประมาณเพิ่มเติมอีก 21,140.2 ล้านบาท รวมเป็นการปรับลดทั้งสิ้น 70,000 ล้านบาท
สำหรับการปรับลดงบประมาณจำนวน 7 หมื่นล้านบาทนั้นแบ่งเป็นรายจ่ายประจำขั้นต่ำที่จำเป็น จำนวน 2,862.9 ล้านบาท รายจ่ายตามข้อผูกพันที่ต้องจัดสรร จำนวน 8,422.6 ล้านบาท รายจ่ายตามภารกิจพื้นฐาน จำนวน 31,912.2 ล้านบาท รายจ่ายตามภารกิจยุทธศาสตร์ จำนวน 26,802.3 ล้านบาท
งบประมาณที่ปรับลดได้จำนวน 7 หมื่นล้านบาทครั้งนี้จะนำไปตั้งในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ เมื่อรวมกับงบขาดดุลที่รัฐบาลเพิ่มอีก 50,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมรวม 1.2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติงบประมาณจำนวน 1.5 พันล้านบาท สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรณีเร่งด่วนเพิ่มเติมจากที่ได้อนุมัติไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 2 พันล้านบาท และได้มีการใช้จ่ายไปแล้วจำนวน 1.6 พันล้านบาท ทำให้วงเงินที่เหลืออยู่อาจไม่เพียงพอ สำนักงบจึงเสนอให้ ครม.อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม
สศช.คาดแผนฟื้นฟูดันจีดีพีปีหน้าโต 5-6%
ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แจ้งต่อที่ประชุมว่าน้ำท่วมมีผลต่อตัวเลขการตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่หากรัฐบาลเร่งทำการฟื้นฟูแก้ไขสถานการณ์โดยเฉพาะในส่วนของโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยการสูบน้ำออกเพื่อให้มาเปิดโดยเร็วก็จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ดีขึ้นได้และหากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีก็เชื่อว่าภายในปีหน้าจีดีพี ของประเทศจะกลับมาเติมโตในระดับ 5-6% ได้
นายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนแนวคิดการฟื้นฟูและปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานประเทศไทยในระยะยาวและขอให้มีการนำโครงการพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ และโครงการพระราชดำริมารวมไว้ด้วย และได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับนายกิตติรัตน์ มาหารือรวมกันในการจัดหางบประมาณมาดำเนินการในเรื่องนี้ และขอให้ไปหารือกลับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขข้อกฎหมายบางประการเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินด้วย ซึ่งนายกิตติรัตน์ ก็ยืนยันว่า การลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ส่วนการจัดหาเงินกู้มาใช้ก็จะเน้นกู้เงินในประเทศเป็นหลัก
สื่อนอกชี้ ศก.ไทยเสี่ยงชะงักงัน
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก และสำนักข่าวไต้หวัน นิวส์ รายงานว่า ไทยอาจเจอภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจในอนาคต ผลจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี ประกอบกับการอ่อนตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้กระทบต่อการผลิต และความต้องการในตลาดต่างประเทศลดลง
บลูมเบิร์ก เผยผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 17 คน ที่ส่วนใหญ่มองว่า ไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศที่ต้องกู้เงิน มากอบกู้สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ หรือมีต้นทุนการกู้ยืมสูงกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักของเอเชียรายอื่น โดยเป็นรองแค่อินเดียเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องเรียกร้องให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งจัดหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นมา หลังเหตุน้ำท่วมดังกล่าว ส่อเค้าที่จะดันให้ราคาในประเทศพุ่งสูงขึ้น
ที่ผ่านมา ธปท.พยายามท้วงติงรัฐบาลเรื่องนโยบายประชานิยมว่า จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปรับราคาข้าว ลดภาษีบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก
นายโตรุ นิชิฮามา จากสถาบันวิจัยไดอิจิ ในกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ชี้ว่า ความวิตกว่าสถานการณ์น้ำท่วม จะกระทบเศรษฐกิจไทยกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าธปท. ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก เพราะสถานการณ์น้ำท่วม เศรษฐกิจไทยก็จะยิ่งเจอปัญหาที่ยากเกินกว่าจะต้านทานไหว
จี้ ธปท.สั่งแบงก์หยุดคิดดอกเบี้ย
นายธีระชัย กล่าวอีกว่าจะนัดหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อขอความร่วมมือในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาภัยน้ำท่วมอีกครั้ง หลังจากที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประสานงานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร
ผมรายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ขณะนี้แบงก์รัฐช่วยลูกหนี้น้ำท่วมด้วยการพักชำระหนี้ 3-6 เดือน นายกรัฐมนตรีก็ขอให้แบงก์เอกชนควรมีมาตรการร่วม ผมเลยขอให้ผู้ว่าแบงก์ชาติประสาน แต่ก็ได้ข้อมูลว่า พร้อมจะช่วย โดยให้หยุดพักชำระหนี้ แต่อัตราดอกเบี้ยยังคิดเหมือนเดิม ถือว่า ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ และผมก็ผิดหวังกับความร่วมมือลักษณะนี้นายธีระชัย กล่าว
ธปท.ยันแบงก์ช่วยเต็มที่
นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นไม่น่าจะส่งผลต่อภาพรวมของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มากนัก และเอ็นพีแอลในปัจจุบันก็ยังไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อที่ปล่อยให้กับนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 5 แห่ง คิดเป็นเพียง 0.74% ของมูลค่าสินเชื่อคงค้างทั้งระบบ
หนี้ภาคครัวเรือน หนี้ภาคเกษตรก็ยังโอเค เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันสะดุดแค่ชั่วคราวเท่านั้น นายเกริก กล่าว
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบอุทกภัยของธนาคารพาณิชย์นั้น ธนาคารพาณิชย์ยินดีที่จะช่วยเหลือใน 3 แนวทาง คือ 1.การพักชำระหนี้โดยอาจพักให้ประมาณ 6 เดือน 2.ปรับลดยอดหนี้และยืดชำระหนี้ และ 3.ปล่อยกู้เพิ่มเพื่อให้ลูกค้านำไปกอบกู้กิจการหลังน้ำลด
ส่วน ธปท. ได้เตรียมพร้อมเกี่ยวกับระบบงานทั่วไปของธนาคารพาณิชย์ เตรียมความพร้อมในเรื่องของระบบตลาดการเงิน และเตรียมพร้อมในเรื่องของระบบชำระเงิน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่ายังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาจมีติดขัดบ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อยซึ่งไม่ได้มีปัญหาอะไร