คนไทยรวมพลังผุด “นวัตกรรมสู้น้ำ"
กว่า 2 เดือนที่ไทยเผชิญกับวิกฤตอุทกภัย จนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนเป็นอย่างมาก กลายเป็นบททดสอบหนึ่งให้ย้อนนึกถึงการกระทำของมนุษย์ในอดีตอันส่งผลถึงปัจจุบัน ตรงกันข้ามในความเลวร้ายก็แสดงให้เห็นถึงน้ำใจของคนไทยผ่านนวัตกรรมสมัยใหม่ที่คิดค้นขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
จะว่าไปนวัตกรรมที่เกิดพร้อม ๆ กับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในต่างประเทศมีให้เห็นอยู่หลากหลาย โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาโดยบริษัทวิศวกรรม "คอสโม เพาเวอร์" เมืองฮิราสึกะ ในผลงานชื่อ “โนอาห์” ลักษณะคล้ายลูกเทนนิสขนาดยักษ์สีเหลือง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 ฟุต มีคุณสมบัติลอยน้ำได้ ติดตั้งกระจกและท่อรับอากาศจากภายนอก จุคนได้ถึง 4 คน
หันมาทางประเทศไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัยร้ายแรง หลายหน่วยงานต่างพากันคิดค้นนวัตกรรม ใหม่ ๆ ให้สอดรับกับปัญหาอุทกภัยที่กำลังวิกฤต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“บ้านลอยน้ำ” เทรนใหม่กันภัยน้ำท่วม
จากแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระราชทานไว้เรื่อง “บ้านลอยน้ำ” ครั้นเสด็จเยือนกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อทรงเปิดพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ และทอดพระเนตรนิทรรศการแบบบ้านเพื่อประชาชน เมื่อปี 2550
บ้านลอยน้ำตามแนวพระราชดำรินั้น ได้มีการทดลองใช้จริงที่บ้านลอยน้ำท่าขนอน อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานีผ่านการบริหารจัดการของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยยังคงยึดถือวิถีชีวิตดั่งเดิม หากแต่ทันยุคทันเหตุการณ์ในวิถีชนคนปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนแพ ยามถึงฤดูน้ำหลากตัวบ้านก็จะลอยขึ้นสูงตามน้ำ โดยผูกโยงเชือกกับหลักที่มั่นคง เพื่อป้องกันการโคลงตัวหรือลอยไปกับกระแสน้ำ แต่เมื่อใดที่น้ำแล้ง ตัวบ้านก็จะตั้งอยู่บนพื้นดินตามปกติ
บ้านลอยน้ำดังกล่าวมีพื้นที่ใช้สอยราว 60 ตารางเมตร แบ่งออกเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 23 ตารางเมตร และพื้นที่ห้องน้ำและซักล้าง 37 ตารางเมตร ราคาตกอยู่ที่ประมาณ 719,000 – 915,000 บาท ทั้งนี้ระบบการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลภายในบ้านลอยน้ำจะมีการใช้จุลินทรีย์ EM (Effective Microorganisms) เป็นตัวทำปฏิกิริยาดังกล่าวด้วย
“ส้วมกระดาษ” นวัตกรรมปลดทุกข์ผู้ประสบอุทกภัย
สุรนุช ธงศิลา ผู้จัดการมูลนิธิซีเมนต์ไทย เล็งเห็นถึงปัญหาการขับถ่าย ที่มองไปทางไหนก็ไม่มีที่เหมาะสมสำหรับการปลดทุกข์ เนื่องจากที่อยู่อาศัยต่างห้อมล้อมไปด้วยน้ำ จึงมีแนวคิดผลิต “สุขากระดาษ”แจกจ่ายไปยังพื้นที่ผู้ประสบภัย ซึ่งเหมาะกับบ้านเรือนเป็นหลัง ๆ ส่วนผู้อพยพออกนอกพื้นที่อยู่อาศัย ได้ผลิตสุขาลอยน้ำขึ้นทดแทน
ได้รับการออกแบบและผลิตจากเอสซีจีเปเปอร์ ลักษณะเป็นลูกฟูก น้ำหนักเบา ประกอบง่ายภายใน 10 วินาที สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม โดยมีถุงดำเป็นตัวเก็บสิ่งปฏิกูล ซึ่งเมื่อปฏิบัติกิจเสร็จเรียบร้อยควรมัดปากถุงให้แน่นและกำจัดให้ถูกวิธีหลังน้ำลด
ขณะที่ “สุขาลอยน้ำ” แบ่งเป็นสองห้อง คือ ห้องแบบนั่งราบ และห้องแบบนั่งยอง โดยสามารถรองรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 500 กิโลกรัม หรือ 8 คน มีความกว้าง 2.40 เมตร ยาว 3.60 เมตร และสูง 3.20 เมตร ตัวอาคารห้องน้ำมีการเสริมโครงเหล็กอย่างแข็งแรง พร้อมสร้างพื้นที่ยืนด้านหน้าห้อง อีกทั้งยังเสริมด้วยระบบปั๊มน้ำมือที่ดึงน้ำขึ้นมาทำความสะอาดจากด้านล่าง ตลอดจนมีการมุงหลังคาโปร่งแสงที่ส่งผลต่อการให้แสงสว่างและฆ่าเชื้อโรคด้วย
หากผู้ประสบอุทกภัยต้องการความช่วยเหลือด้านสุขาลอยน้ำหรือสุขากระดาษสามารถแฟกต์มาที่หมายเลข 0 2586 3910 พร้อมทั้งระบุจำนวนชื่อผู้ติดต่อและสถานที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อจะได้มีการประสานงานต่อไป ขณะที่หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อโดยตรงสามารถติดต่อได้ที่ 0 2586 5506
“EM BALL” ลูกบอลมหัศจรรย์บำบัดน้ำเสีย
หลายคนคงไม่คุ้นกับลูกสีดำ เล็ก ๆ กลม ๆ ที่ต่างเห็นกันแพร่หลายในหน้าสื่อขณะนี้กับเจ้าลูกที่มีชื่อว่า EM BALL ที่ปั้นขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหาน้ำเน่าเสียอันเกิดจากซากพืชซากสัตว์และสิ่งปฏิกูลที่ตายทับถมกันขณะน้ำท่วม โดยความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต่างพากันผลิต EM BALL ขึ้นมา
EM BALL ถูกค้นพบโดย ศาสตราจารย์ ดร.เทรูโอะ ฮิหงะ แห่งมหาวิทยาลัยริวกิว โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น คำว่า EM ย่อมาจาก Effective Microorganisms หมายถึง กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ
จากข้อมูลสถาบันส่งเสริมเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังกัดมูลนิธิเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สระบุรี ระบุว่า วิธีการทำ EM BALL นั้น ใช้วัสดุดินในทะเลหรือขุดดินในสวน จากนั้นเติม EM ลงไป นำไปผสมกับ รำหยาบ 1 ส่วน รำเนียน 2 ส่วน แล้วปั้นเป็นสองก้อนประกบกัน ซึ่งสูตรการทำ EM BALL นั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว ขอเพียงแต่เมื่อโยนลงน้ำแล้วไม่ลอยก็เพียงพอ
ลอยน้ำกับ “ชูชีพอัจฉริยะ”
นวัตกรรมอัจฉริยะของคนไทยที่ได้สร้างสรรค์เสื้อชูชีพลอยน้ำราคาถูก “เสื้อชูชีพขวดพลาสติก” โดยเริ่มจากการคัดแยกขวดที่ไม่รั่วและมีฝาปิด จากนั้นนำขวดที่ได้มามัดเป็นแพด้วยเชือกแพละ 4 หรือ 5 ชิ้น จากนั้นนำแพมาคล้องรวมกันด้วยเชือก พร้อมกับนำเชือกมาถักเป็นที่คล้องไหล่ เสื้อชูชีพขวดพลาสติกหนึ่งชิ้นขนาดใหญ่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 80 กิโลกรัม ขนาดกลาง 60 กิโลกรัม
นอกจากนี้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค ได้คิดค้น“กระเป๋าชูชีพลอยน้ำ”ขึ้นอีก โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับเสื้อชูชีพขวดพลาสติกมีลักษณะเหมือนกระเป๋านักเรียนทั่วไป โดยทำด้วยผ้า ภายในมีถุงพลาสติกหนาสองใบพับใส่ไว้ สามารถนำถุงลมออกมาเป่าด้วยปากให้ลมเต็มถุง จากนั้นปิดให้สนิท สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัม
เรือท้องแบนจากวัสดุเหลือใช้
ภายใต้การนำของนายทวิช จิตรสมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมด้วยนักศึกษาวิศวกรรมเครื่องกล ชั้นปีที่ 4 ได้ประดิษฐ์คิดค้นเรือท้องแบนจากวัสดุเหลือใช้ โดยมีการใช้วัสดุประกอบเรือ 6 อย่าง ประกอบด้วยเหล็กเส้นความยาว 1.5 เมตร ผ้าใบคลุมสินค้ากว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ลวดขนาดเล็ก ยางในรถจักรยานยนต์ เชือก และ ไม้อัด ซึ่งเรือดังกล่าวสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 4 คน รองรับน้ำหนักสูงถึง 400 ก.ก. ใช้งบประมาณ 2,000 บาท
“ถุงคลุมรถ”กันอุทกภัย ไอเดียเจ๋งสำหรับคนรักรถ
ผลงานการคิดค้นจากนายสันติประชา ดอนชุม อาจารย์ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยการอาชีพวังสะพุง จ.เลย โดยใช้วัสดุจากพลาสติกที่คล้ายกับเรือยาง มีความทนทานมากกว่าพลาสติกทั่วไป ซึ่งสามารถรับมือกับน้ำได้นานถึง 3 เดือน โดยไม่ฉีกขาด ราคาเฉลี่ยประมาณ 1,500 – 3,000 บาท
ล่าสุด กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้นำนวัตกรรมล้ำยุค “กางเกงแก้ว” แจกจ่ายยังผู้ประสบอุทกภัยและหน่วยงานที่ลงพื้นที่เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งผลิตจากพลาสติกน้ำหนักเพียง 100 กรัม ราคาประมาณตัวละ 100 บาท
นับเป็นความภาคภูมิใจไม่น้อยที่คนไทยมีศักยภาพคิดผลิตนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แต่เหนือสิ่งอื่นใดคงไม่ภาคภูมิใจเท่าน้ำใจที่ไม่เคยเลือนหายไปจากสังคมที่ได้ชื่อว่าประเทศไทย.
ที่มาภาพ :http://www.jjhub.com/product-7661, www.prachachat.net