ละติจูดที่ 6 ภาพยนตร์เพื่อเรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้
ต้องยอมรับว่า "ละติจูดที่ 6" กลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่ถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้
สาเหตุไม่ใช่เพราะชื่อเรื่องที่แปลกแหวกแนวเท่านั้น แต่ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระเอกของเรื่อง ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล กำลังมีปัญหาครอบครัวจนกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ด้วย
ทว่านั่นเป็นเพียงประเด็นที่ตกเป็นกระแสวิจารณ์ของสังคม เพราะความน่าสนใจที่แท้จริงของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ การเป็นหนังที่เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศตัวว่าขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจและความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในดินแดนที่ร้อนระอุไปด้วยเสียงปืนและระเบิดมานานกว่า 10 ปี
ขณะที่ "ละติจูดที่ 6" น่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่หน่วยงานด้านความมั่นคงอย่าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เป็นผู้ริเริ่มโครงการ ผลักดัน และสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างการเรียนรู้และเข้าใจในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ ตลอดจนสังคมพหุวัฒนธรรมในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน เพื่อสร้างสันติสุขให้บังเกิดต่อไป
ความน่าสนใจของตัวหนังที่สร้างอย่างรอบคอบ ระมัดระวังบนความอ่อนไหวทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ในตัวนักแสดงนำจะเป็นอย่างไร ไปติดตามประเด็นเหล่านี้ได้จาก พลตรี นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (รองผอ.ศปป.5) กอ.รมน. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ยังเป็นแค่ความคิดในอากาศ กระทั่งคลอดออกมาเป็นแผ่นฟิล์ม
O มีข่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทหารสร้าง กอ.รมน.เป็นผู้อำนวยการสร้าง?
ไม่ใช่ครับ กอ.รมน.เป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่ผู้อำนวยการสร้าง เราแค่ออกไอเดียให้เอกชนทำ บริษัทใจถึง (บริษัท ยูซีไอ มีเดีย จำกัด) ยอมลงทุนให้เรา และเราก็สนับสนุนส่วนหนึ่งให้เขา ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องของทหารสร้างหนัง แต่เป็นยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่งของ กอ.รมน.
O ทำไมถึงใช้ชื่อว่าละติจูดที่6?
โจทย์คือชื่อหนังต้องชวนให้ติดตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้เราทำเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฉะนั้นจะใช้ชื่อตลกๆ แบบ I’m fine thank you คงไม่ได้ เดิมจะใช้ชื่อ @ South แต่ก็เป็นฝรั่งไปหน่อย ก็เลยมาคิดเรื่องเส้นรุ้ง-เส้นแวง ปรากฏว่าจังหวัดปัตตานีนั้น มีเส้นรุ้ง หรือ ละติจูด ลากผ่านพอดี คือละติจูดที่ 6 จึงตัดสินใจใช้ชื่อนี้
O ธีมของหนัง?
เสนอมุมมองวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะถ่ายทำที่ปัตตานีเป็นหลัก แต่ปัตตานีก็คือตัวแทนของยะลาและนราธิวาสด้วย
สิ่งสำคัญที่หนังพยายามสื่อออกมาผ่านการเล่าเรื่องราวความรักและความศรัทธา คือสองสิ่งนี้เป็นปาฏิหาริย์ที่ทำให้คนที่แตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้
O เรื่องราวในหนัง?
จะบอกว่าเป็นหนังรักโรแมนติกก็ได้ แต่เราใช้ความรักเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างชาติพันธุ์และศาสนา เป็นความรักที่ไม่ใช่แบบว่าต้องมาแต่งงานกันชัดๆ เหมือนในละคร แต่หมายถึงคนสองคนบนความแตกต่างจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ในอนาคต ความรักเป็นแรงขับดันให้ทำความดี ทำให้เกิดความสงบและสันติสุข ตอนจบของหนังจะสื่อให้เห็น คือการร่วมแรงร่วมใจกันสร้างมัสยิด เป็นการช่วยกันระหว่างคนในและนอกพื้นที่ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
O ทราบว่าภาพยนตร์ถ่ายทำเสร็จนานแล้ว เหตุใดถึงเพิ่งได้ฤกษ์ฉาย?
การสร้างหนังเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังไปถ่ายทำในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องศาสนาและอัตลักษณ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก บทก็ต้องมีการแก้ไข ทุกอย่างต้องหัด ต้องสอนดารานักแสดง แม้แต่การแต่งกาย การพูดบางอย่าง
เรื่องบทนั้น ดูเหมือนไม่ยาก กอ.รมน.ก็ช่วยดูไม่ให้กระทบความมั่นคง แต่ในเรื่องของทัศนคติผ่านอัตลักษณ์และศาสนา เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เรามีคณะกรรมการอิสลาม มีผู้แทนจากสำนักจุฬาราชมนตรีมาช่วยตรวจ การถ่ายทำยิ่งยาก เพราะไปถ่ายทำในพื้นที่จริง
O ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างให้ใครดู?
คนทั่วไปที่อาจจะไม่รู้จักหรือไม่เคยลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส รู้เรื่องพื้นที่นี้จากหน้าข่าวว่ามีแต่ระเบิด มีแต่ความรุนแรง หนังเรื่องนี้จะมาสื่อความเข้าใจใหม่ให้ชัดเจน
ถามว่าทำไมต้องเป็นหนัง เพราะถ้าเป็นแค่สารคดี หรือโฆษณาสั้นๆ อิมแพค (ผลกระทบในวงกว้าง) มันไม่มี แต่หนังใช้เวลา 1 ชั่วโมง 45 นาที จะชวนให้คนดูได้รู้สึกอินกับเรื่องราว ผลมันกว้างกว่าและลึกกว่าการประชาสัมพันธ์รูปแบบอื่น
สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อออกมา คือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย ข่าวที่ออกทางหนังสือพิมพ์เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เป็นการกระทำจากผู้เห็นต่างบางกลุ่มเท่านั้น
ภาพรวมของหนังจะเน้นความเป็นพหุวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงความดีจากหลากหลายที่ที่มารวมกัน และความหลากหลายนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข การมีหนังเรื่องนี้จะทำให้คนในพื้นที่ภูมิใจในบ้านตัวเอง ได้โชว์สิ่งที่ดีๆ ไม่ใช่แบบที่คนนอกพื้นที่บางส่วนเอาแต่ด่าประณามกันทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร
O นักแสดงที่กำลังเป็นปัญหา?
เรื่องนักแสดงเป็นความยากอย่างหนึ่ง มีการแคสท์ (cast) และคัดเลือกกันนานพอสมควร เรารู้ว่าบุคลิกของนักแสดงแบบไหนที่จะทำให้หนังออกมาดีหรือไม่ดี ก็ให้โจทย์กับเอกชนไป ตัวแสดงหลักต้องมีภาพที่สวยงาม น่ารัก ใครเห็นใครก็ชอบ เหล่านี้เป็นข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
บอกตรงๆ ว่าตอนแรก สเปคที่เราอยากได้ คือ ก้อง สหรัถ สังคปรีชา เพราะบุคลิกหน้าตาของเขา ใครเห็นใครก็ชอบ ถือเป็นหลักการประชาสัมพันธ์ขั้นพื้นฐาน คือภาพลักษณ์ต้องเป็นบวกก่อน คุณก้องมีภาพของความอบอุ่น ใจดี มีความเป็นผู้ใหญ่ แต่มีปัญหาเรื่องการไปถ่ายทำในพื้นที่ ก็เลยไม่ได้เลือกเขา
ส่วนปีเตอร์ ตอนที่เราติดต่อไปเขารับเลย บุคลิกเขาเป็นนักผจญภัยนิดๆ เขาอยากทำงานท้าทาย และอยากเห็นพื้นที่ชายแดนใต้จริงๆ ส่วนนักแสดงนำฝ่ายหญิงอย่างโบว์ลิ่ง (ปริศนา กัมพูสิริ) ก็มีความสวย น่ารัก และมีความสดใหม่ในช่วงนั้น เพิ่งได้รับตำแหน่งนางสาวไทย และน่าจะเล่นหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก
สำหรับปัญหาของปีเตอร์นั้น เป็นเรื่องส่วนตัว ผมเองเพิ่งได้คุยกับเขา ยืนยันว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับหนัง ตอนนี้มีสื่อถามมาเยอะ มีเสียงวิจารณ์ว่า กอ.รมน.พยายามสร้างกระแสหรือเปล่า ยืนยันว่าไม่เกี่ยว เป็นเรื่องส่วนตัวที่ออกมาช่วงนี้พอดี ทำให้กระแสมันแรงนิดหนึ่ง แต่เราเชื่อว่าคนดูแยกแยะได้
คุณปีเตอร์เพิ่งแสดงละครเรื่องแอบรักออนไลน์ เป็นคู่ของ คุณแอน ทองประสม และกระแสที่ออกมาก็ดังกว่าพระเอก ทั้งๆ ที่มีปัญหาส่วนตัวเหมือนกัน
O อยากบอกอะไรกับสังคม?
อยากให้ไปดูหนังเรื่องนี้กันมากๆ จะได้เห็นสิ่งดีๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรในพื้นที่มากนัก เพราะความเข้าใจของคนไปอยู่กับข่าวร้ายๆ ที่ออกมา แต่เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วจะรู้และเข้าใจชายแดนใต้ เข้าถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ละติจูดที่ 6 หนังเรื่องนี้เพื่อชายแดนใต้