สรุป 4 ประเด็นคำพิพากษาคดีเงินโฆษณา 55 ล. ทำไม "อสมท." พลิกชนะ "ไร่ส้ม"
"..หากบริษัทไร่ส้ม เห็นว่ามีสิทธิตามสัญญาที่จะได้รับส่วนลดทางการค้า บริษัทไร่ส้มก็ไม่สมควรต้องชำระเงินดังกล่าว และสมควรต้องโต้แย้งการใช้สิทธิของตนเอง ซึ่งย่อมเป็นหน้าที่ของ อสมท.ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาหรือใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล.."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบกันไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2558 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 1141/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 1525/2556 กรณีบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง ยื่นฟ้อง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ให้ชำระเงินค่าโฆษณาเกินส่วนแบ่งตามเวลาที่ตกลงกันไว้ในสัดส่วน 50/50 และไม่ให้ส่วนลดทางการค้า 30% ตามข้อสัญญา รวมเป็นเงิน 55,523,763 บาท และคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
โดยศาลฯ พิพากษา ให้ อสมท. ไม่ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณา 55 ล้าน คืนให้กับบริษัทไร่ส้ม จำกัด
เพราะปรากฎข้อเท็จจริงว่า บริษัท ไร่ส้ม มิเคยทำหนังสือขอส่วนลดค่าโฆษณากับ อสมท. แต่อย่างใด ส่วนการที่ อสมท. ขายโฆษณาเกินเวลานั้น ถือว่าบริษัทไร่ส้มไม่ได้ผลกระทบ เพราะ อสมท. ใช้เวลาของทางช่องเอง และที่ผ่านมามีการโฆษณาเกินเวลามาโดยตลอด และบริษัทไร่ส้มไม่ได้ทำหนังสือขอส่วนลดให้ถูกต้อง
ดังนั้น การที่บริษัทไร่ส้ม ได้ชำระค่าโฆษณาเมื่อปี 2549 ที่ อสมท. ได้เรียกเก็บ โดยไม่ได้รับส่วนลดทางการค้า 30 % ถือว่าถูกต้องแล้ว
ทั้งนี้ คำพิพากษาที่ออกมา ถือเป็นการแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ที่เคยพิพากษาว่า ทั้ง 2 ฝ่ายมีการโฆษณาเกินเวลาจริง และมีเจ้าหน้าที่ของ อสมท. รู้เห็นในการจัดใบคิวโฆษณาที่บริษัท ไร่ส้ม จะปิดคิวโฆษณาที่เกิน จึงถือว่าเป็นความบกพร่องของ อสมท. ที่ไม่ดำเนินการตรวจสอบ เห็นควรให้ อสมท. คืนเงินค่าโฆษณาส่วนเกินที่ยังไม่ได้หักลด 30% ตามสัญญา รวมเป็นเงินจำนวน 55,523,763 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
เพื่อให้สาธารณชน ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำพิพากษาในคดีนี้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สรุปคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินให้ อสมท. ไม่ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณา 55 ล้าน คืนให้กับบริษัทไร่ส้ม จำกัด มานำเสนอแบบชัดๆ อีกครั้ง
โดยมีประเด็นวินิจฉัยรวม 4 ประเด็น หลักดังนี้
ประเด็นที่หนึ่งศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่
ในประเด็นนี้ อสมท. อ้างในคำให้การและคำอุทธรณ์ว่า อสมท. เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด เป็นหน่วยงานธุรกิจธรรมดา มิใช่เป็นหน่วยงานทางการปกครอง หรือได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครอง หรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง สัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์ระหว่างบริษัท ไร้ส้ม กับ อสมท. เป็นสัญญาทางธุรกิจธรรมดา ไม่ใช่สัญญาทางปกครอง อันเป็นการอ้างว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาขอศาลปกครอง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหารหรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่า คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว
...จากบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ที่จะให้การโต้แย้งอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลที่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ต้องดำเนินการในศาลชั้นต้นเท่านั้น มิใช่ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งการโต้แย้งอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลดังกล่าง จะต้องทำเป็นคำร้องเพื่อให้ศาลที่รับคำฟ้องไว้พิจารณาจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่กรณีร้องว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาต่อไป
คดีนี้ เมื่อศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว อสมท. อ้างในคำให้การว่าสัญญาพิพาทไม่ใช่สัญญาทางปกครอง แต่มิได้ดำเนินการยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจนศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษา อสมท.จึงไม่อาจอุทธรณ์ในประเด็นนี้ได้
อุทธรณ์ของอสมท. ในประเด็นนี้จึงเป็นคำอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระอันสมควรได้รับการวินิจฉัย ตามมาตรา73 วรรคสาม แห่งพรบ.จัดตั้งศาลปกครองเเละวิธีพิจารณาคดีปกครอง
ประเด็นที่สอง การที่ อสมท.ไม่หักส่วนค่าโฆษณาส่วนเกินเวลาในอัตราร้อยละ30 ให้บริษัท ไร่ส้ม เป็นการผิดสัญญาหรือไม่ เเละอสมท. มีหน้าที่ตามสัญญาต้องคืนเงินส่วนลดที่มาเเล้วให้บริษัท ไร่ส้มหรือไม่
พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ตั้งแต่ออกอากาศโฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนดในสัญญาตามที่บริษัทไร่ส้มได้ส่งใบคิวโฆษณา เมื่อเดือนก.พ. 2548 ตลอดมาจนถึงเดือน มิ.ย. 2549 บริษัทไร่ส้มได้มีหนังสือขอซื้อโฆษณาของเดือนมี.ค. 2548 เพียงครั้งเดียว
นอกจากนั้น บริษัทไร่ส้ม ไม่ได้มีหนังสือขอซื้อโฆษณาเกินเวลามายังสำนักงานการตลาดของอสมท.และไม่ได้แสดงความต้องการที่จะชำระค่าโฆษณาให้ อสมท. ทั้งๆ ที่การออกอากาศได้ผ่านพ้นมาเป็นเวลานานแล้ว
อีกทั้งบริษัท ไร่ส้ม และ อสมท. มิได้ตกลงกันให้หักส่วนลดทางการค้าในอัตราร้อยละ 30 ของค่าโฆษณาส่วนที่เกินกว่าส่วนแบ่งเวลาที่กำหนดในสัญญา บริษัทไร่ส้มจึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนลดทางการค้า
การที่ บริษัทไร่ส้มได้ชำระค่าโฆษณาเกินเวลาเต็มจำนวนไปถึง 2 ครั้งนั้น (20ต.ค.2549 ชำระค่าโฆษณาส่วนเกินเพิ่มเติมเป็นเงิน 41 ล้าน และชำระค่าโฆษณาส่วนเกินของวันที่ 14 ก.ค.2549ที่ตกหล่นอีก 60,000บาท) โดยไม่ได้โต้เเย้งใดๆ ทั้งที่ อสมท. ระบุในหนังสือ 20 ต.ค.2549 ไว้ชัดเจนว่า ไม่อาจพิจารณาส่วนลดได้ เพราะบริษัทไร่ส้ม มิได้ปฏิบัติตามสัญญาย่อมแสดงว่าบริษัทไร่ส้ม ไม่ติดใจในส่วนลดทางการค้าดังกล่าว
หากบริษัทไร่ส้ม เห็นว่ามีสิทธิตามสัญญาที่จะได้รับส่วนลดทางการค้า บริษัทไร่ส้มก็ไม่สมควรต้องชำระเงินดังกล่าว และสมควรต้องโต้แย้งการใช้สิทธิของตนเอง ซึ่งย่อมเป็นหน้าที่ของอสมท.ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาหรือใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล และกรณีดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าบริษัทไร้ส้ม ได้ชำระเงินเพื่อป้องกันข้อครหาของสาธารณชนเพื่อมิให้มีข่าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตซึ่งจะมีผลกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของบริษัทไร่ส้ม ที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัย เนื่องจากบริษัทไร่ส้มอาจชำระเฉพาะค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลาโดยไม่ชำระในส่วนที่เป็นส่วนลดทางการค้าที่บริษัทไร่ส้ม เห็นว่ายังมีข้อต่อสู้อยู่ได้ ซึ่งยอมไม่มีผลต่อความเชื่อถือของประชาชน
ดังนั้น การที่ อสมท. ไม่หักส่วนลดค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลาให้บริษัทไร่ส้ม จึงไม่เป็นการผิดสัญญา และอสมท.ไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินส่วนลดให้บริษัทไร่ส้มเเต่อย่างใด
ประเด็นที่สาม อสมท.มีหน้าที่ตามสัญญาต้องชำระค่าโฆษณาส่วนที่เกินส่วนเเบ่งเวลาตามสัญญาให้บริษัทไร่ส้ม หรือไม่
พิเคราะห์แล้วว่า อสมท. และบริษัท ไร่ส้ม ทำสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์อย่างเท่าเทียมแบบ Time Sharing 50:50 ตามสัญญาไม่ได้ห้ามคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายที่จะจำหน่ายโฆษณาเกินเวลาที่กำหนด มีเพียงแต่สัญญาข้อที่ 6 ระบุไว้ว่าหาก บริษัทไร่ส้มโฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนดในสัญญา ยินยอมที่จะชำระเงินให้กับ อสมท. ในอัตราที่เท่ากับเวลาจำหน่ายโฆษณา
ส่วน อสมท. ไม่มีการกำหนดในสัญญาว่าให้ชำระเงินค่าโฆษณาให้กับบริษัทไร่ส้มแต่อย่างใด ทำให้เข้าใจได้ว่า เมื่อมีการใช้เวลาโฆษณาเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา ผู้ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นย่อมเป็นอสมท. ซึ่งเป็นเจ้าของสถานีและเจ้าของเวลาออกอากาศ การที่บริษัทไร่ส้มจำหน่ายเวลาโฆษณาเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา จึงเหมือน กับบริษัทไร่ส้มซื้อเวลาในการออกอากาศของอสมท. เพื่อใช้โฆษณาเพิ่มขึ้นจากสัญญา บริษัทไร่ส้ม จึงต้องชำระเงินค่าเวลาโฆษณาตามที่กำหนดในสัญญา
ส่วนอสมท. จำหน่ายเวลาโฆษณาเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา ก็เป็นการใช้เวลาออกอากาศของอสมท.เอง อสมท.จะดำเนินการอย่างไรย่อมมีผลกระทบเฉพาะการบริการจัดการเวลาออกอากาศของอสมท.เอง ไม่ได้มีผลกระทบต่อการออกอากาศโฆษณาของบริษัทไร่ส้มที่จำหน่ายเวลาไปแล้ว
กรณีนี้จึงไม่ใช่การใช้สิทธิของอสมท. ที่เหนือกว่าเพื่อเอาเปรียบคู่สัญญา แต่เป็นไปตามเจตนาของทั้งสองฝ่ายที่ปรากฏในสัญญาไว้อย่างชัดเจน
ดังนั้น อสมท. จึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินตามสัญญาให้แก่บริษัท ไร่ส้ม
ประเด็นที่สี่ บริษัทไร่ส้ม มีหน้าที่ตามสัญญาต้องชำระเงินส่วนลดทางการค้าของค่าโฆษณาส่วนที่เกินเวลาในเดือนกรกฎาคม 2549 ให้ อสมท. หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงของบริษัทไร่ส้ม มิได้แจ้งกรณีโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญาไปยังสำนักการตลาดของอสมท. ตามที่กำหนดในสัญญา แต่ปรากฏรายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงลงวันที่ 29 ส.ค. 2550 และสัญญาท้ายคำให้การว่า บริษัทไร่ส้ม และอสมท.ได้ทำสัญญาโฆษณาของเดือนกรกฎาคม 2549 ตามสัญญาลงวันที่ 26 ก.ค.2549 จำนวน2 ฉบับ จึงเป็นกรณีอสมท.ยินยอมให้ส่วนลดทางการค้าแก่บริษัทไร่ส้มตามข้อกำหนดในสัญญา ข้อตกลงนั้นเป็นอันใช้ได้
แม้จะพบว่าการทำสัญญาเกิดจากการที่ นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด เจ้าหน้าที่ อสมท.เสนอให้หักส่วนลดทางการค้าแก่ บริษัทไร่ส้ม ขัดต่อระเบียบ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ไม่มีผลทำให้สัญญาโฆษณาหรือข้อตกลงให้ส่วนลดแก่บริษัทไร่ส้มเป็นโมฆะ ไม่สามารถนำกรณีดังกล่าวมาลบล้างสิทธิในการได้ส่วนลด อสมท.ได้ฟ้องศาลแพ่งกรณีส่วนลดทางการค้า อสมท.ได้เรียก นางสาวบุณฑณิก บูลย์สิน เจ้าหน้าที่ของอสมท.รับผิดชดใช้เงินเรื่องการให้ส่วนลดแก่บริษัทไร่ส้มโดยประมาทเลินเล่อ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขดำที่ 5221/2551 หมายเลขแดงที่ 2510/2553 เมื่อ 18 มิ.ย.53 ให้นางสาวบุณฑณิกชำระเงินแก่อสมท.แล้ว
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษา ให้อสมท. ชำระเงินจำนวน 55,777,019.14 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.7 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่บริษัทไร่ส้ม โดยให้ชำระแล้วเสร็จภายใน90วัน นับตั้งแต่วันที่คดีสิ้นสุด และให้ยกฟ้องแย้งของ อสมท. คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนของการชนะคดีแก่บริษัทไร่ส้มนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน
พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นยกฟ้องของบริษัทไร่ส้มและยกฟ้องแย้งของอสมท. คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทรณ์แก่ อสมท.ตามส่วนของการชนะคดี
อ่านคำพิพากษา ฉบับเต็มที่นี่
ทั้งนี้ ในการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินให้ อสมท. ไม่ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณา 55 ล้าน คืนให้กับบริษัทไร่ส้ม จำกัด ครั้งนี้
นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ไม่ได้เดินทางมาร่วมรับฟังคำพิพากษาด้วยแต่อย่างใด
ขณะที่ทีมทนายความ ของนายสรยุทธ ยังมองว่า ผลคดีที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่น่าจะมีผลกับคดีกรณียักยอกเงินค่าโฆษณาบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เสียหายกว่า 138 ล้านบาท ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอยู่ในขณะนี้
(กดคลิกติดตามข่าวสาร ได้ใน แฟนเพจ "I love isranews ")
อ่านประกอบ :
“สรยุทธ”ขอเบิกพยาน 25 ปากสู้คดีไร่ส้ม -“บิ๊ก กรมสรรพากร-อสมท”ติดโผ
ศาลอาญาไฟเขียว“สรยุทธ”เลื่อนถกคดีไร่ส้ม8มิ.ย.-หอบหลักฐานแจงเพียบ
อสส.ฟ้อง“พิชชาภา”คดีไร่ส้มตามหลัง"สรยุทธ"เกือบเดือน-อ้างไม่ได้รับหมาย
“สรยุทธ” ได้ประกันตัว! วางเงินสด 2 แสน ศาลนัดใหม่พร้อมคู่ความ 27 เม.ย.
ฟังชัด ๆ “สรยุทธ”ขอพิสูจน์ต่อศาล"อสมท"ไม่เคยเสียหายแต่ได้ประโยชน์
ย้อนคดี“ไร่ส้ม-สรยุทธ”ยืดเยื้อ 2 ปี ก่อน อสส.เห็นพ้องป.ป.ช.ขยับฟ้องศาล