“ไพบูลย์”แนะรัฐโยนงบชุมชนจัดการเอง – ตั้งคลินิกสมานฉันท์ท้องถิ่น
“ไพบูลย์”ชี้แนวชุมชนจัดการตนเอง อย่าจ่ายงบตามท่อ ล่าช้า-สิ้นเปลือง แนะรัฐโยน อปท.ส่งต่อชาวบ้าน เสนอคลินิกสมานฉันท์แทนระบบยุติธรรมเดิม ใช้กลไกจังหวัด-สันติวิธีไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. นายไพบูลย์วัฒนศิริธรรมประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนและสภาผู้นำเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนถึงแนวทางการปฏิรูปโดยชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองว่า เป็นหลักทั่วไปที่ว่าเรื่องของใคร คนนั้นจัดการได้ดีที่สุด สำคัญคือต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนรวมตัวกันและลงมือทำ โดยชุมชนเป็นแกนหลัก และหน่วยอื่นๆ ในสังคมเป็นกลไกเชื่อมประสาน ที่บอกว่าเป็นจินตภาพใหม่นั้น จริงๆ เรื่องนี้พูดกันมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤติทางการเมืองและสังคม ทำให้คิดพ้องกันว่าต้องปฏิรูปสังคม ประเทศ ความคิดและจิตสำนึก จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นทิศทางสำคัญของการปฏิรูปเพื่อให้เกิดการกระทำที่จริงจัง กว้างขวางและต่อเนื่อง
นายไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่า สำคัญคือจวบจนปัจจุบันอำนาจยังรวมศูนย์ การคิดแก้ปัญหาของประชาชนยังคิดจากส่วนกลางเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแผนงานหรือนโยบายใด อาจมีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย ในการจัดสรรงบประมาณก็จัดตามท่อของรัฐบาลนั่นคือกระทรวงต่างๆ มีลงไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบ้างแต่ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ อปท.คือส่วนหนึ่งของท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ดูแลความก้าวหน้า สุขทุกข์ของชาวบ้านในทุกด้าน
“เมื่องบประมาณซึ่งเป็นจุดสำคัญในการสนับสนุนชุมชนกระจายสาย ทำให้การจัดการชักช้า สับสน และสิ้นเปลือง ในขณะที่ถ้ามีการประสานความร่วมมือให้ชุมชนจัดการตนเอง ให้เงินสนับสนุนไปเป็นก้อนแล้วจัดสรร ดูแลกันเอง หน่วยงานต่างๆ ไม่ต้องไปวุ่นวายมาก แต่มีนโยบายสนับสนุนให้สอดคล้องต้องกัน โดยกำหนดแค่ว่าต้องการผลลัพธ์อะไรแล้วให้ชุมชนไปจัดการให้เป็นผลตามนั้น”
สำหรับภารกิจคืนอำนาจอธิปไตยให้ชุมชน ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า ชุมชนสามารถประยุกต์อำนาจทั้ง 3 ซึ่งมีอยู่ในชุมชนให้สอดคล้องกับภารกิจชุมชนจัดการตนเองได้ โดยในส่วนของนิติบัญญัติ ชุมชนมีสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือสภาเทศบาล ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในการเสนอแนะ แก้ไข ข้อบัญญัติต่างๆ อยู่แล้ว ตรงนี้ต้องเปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาไตร่ตรอง ส่วนอำนาจบริหาร ที่มี อปท.เป็นแกนหลักอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการเห็นการบริหารนั้นเป็นการบริหารที่ชาวบ้านมีบทบาทสำคัญในการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมไตร่ตรอง แปลว่าโครงการต่างๆที่ชาวบ้านคือแล้วดี อปท.ก็ทำหน้าที่สนับสนุนพร้อมติดตามผล
สุดท้ายเป็นคือตุลาการ เสนอว่า แม้ไม่มีศาลระดับตำบล แต่สามารถสร้างความยุติธรรมในระดับท้องถิ่นได้ทั้งทางกฎหมายและสังคม โดยทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “คลินิกยุติธรรมสมานฉันท์” ให้เป็นจุดที่ชาวบ้านสามารถไปเสนอเรื่องราวต่างๆที่คิดว่าไม่ยุติธรรม และใช้กลไกระดับอำเภอและจังหวัดช่วยดูแลด้วยกระบวนกานสันติวิธี ไม่ต้องรอพึ่งศาลเพียงอย่างเดียว
“ผลที่ได้คือช่วยให้เกิดความรู้สึกเป็นธรรมและสมานฉันท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการเข้ากระบวนการทางศาล เพราะชาวบ้านจะคลี่คลายความขัดแย้งแบบได้ข้อตกลงร่วมกัน ความรู้สึกเป็นธรรมก็เกิดขึ้น การตกลงสำคัญกว่าคำวินิจฉัยของศาล เพราะไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดหวัง เป็นตุลาการเชิงสังคมที่สามารถทำได้ในระดับท้องถิ่น และยังช่วยลดภารกิจและปริมาณคดีความที่ต้องไปศาลด้วย” นายไพบูลย์ กล่าว