ถึงเวลาหนุนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต สร้างความเท่าเทียมเยี่ยง ช.-ญ.
กลุ่มหลากหลายทางเพศหนุน พ.ร.บ.คู่ชีวิต หวังสร้างความเท่าเทียมเหมือนคู่รักชายหญิง ยกระดับรับรองสถานะตาม กม. เชื่อผลักดันจริงไม่เกิน 3 เดือน สำเร็จ ขึ้นอยู่กับระดับนโยบายให้ความสำคัญ
ปลายเดือนมิถุนายน 2558 ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำพิพากษารับรองสิทธิในการสมรสและการปกป้องที่เท่าเทียมกันสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน ทำให้สามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมายทั้ง 50 รัฐทั่วประเทศ นับเป็นชัยชนะราวกับสายฟ้าแลบตามที่ ‘บารัค โอบามา’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวไว้ ณ สวนกุหลาบ ภายในทำเนียบขาว
“คำพิพากษาครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของกระบวนการยุติธรรม และเป็นการยืนยันสิทธิของชาวอเมริกันหลายคน ซึ่งต่างมีความเชื่อในใจว่า เมื่อพลเมืองทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคแล้ว พวกเราจะกลายเป็นสังคมที่มีเสรีภาพมากขึ้น” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุ
จากเหตุการณ์นำมาสู่การเฉลิมฉลอง เดินสายรณรงค์ ของหลายประเทศทั่วโลก ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้รับสิทธิสมรสของบุคคลเพศเดียวกันบ้าง ส่วน ‘ไทย’ แดนสวรรค์ของชาวสีรุ้ง มีการขับเคลื่อนเช่นกัน ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ อินเดีย ออสเตรเลีย กลับค่อนข้างเงียบเหงา ไม่เกิดความต่อเนื่อง หรือความคืบหน้ามากนัก
แม้การขับเคลื่อนจะขาดตอน แต่ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง ‘สังคมไทยคิดอย่างไรกับเพศที่สาม’ พบว่า ร้อยละ 59.20 เห็นด้วยกับการออกกฎหมายยอมรับการจดทะเบียนคู่ชีวิต (สมรส) ของบุคคลเพศเดียวกัน เพราะความรักของคนสองคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกันเหมือนกับชายหญิงทั่วไป
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเดียวกัน ปี 2556 มีเพียงร้อยละ 52.96 เห็นด้วยกับการออกกฎหมายยอมรับการจดทะเบียนคู่ชีวิต (สมรส) ของบุคคลเพศเดียวกัน นั่นชี้ให้เห็นว่า 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างยอมรับมากขึ้น อันแสดงถึงพัฒนาการและการเปิดกว้างของสังคม ดังนั้นหมากเกมนี้จึงตกอยู่กับผู้ขับเคลื่อนนโยบายจะเห็นความสำคัญและจริงจังเพียงใดกับเรื่องนี้
โดยปัจจุบันไทยมีการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คู่ชีวิต 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับร่างโดยคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม (ฉบับกรมคุ้มครองสิทธิฯ) มี 15 มาตรา และฉบับร่างโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือ คปก. (ฉบับประชาชน) มี 51 มาตรา
‘ณัฐวุฒิ ชัยสายัณห์’ กรรมาธิการ (กมธ.)ทีมร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต อธิบายถึงความแตกต่างของร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับมีหลายจุด ยกตัวอย่างการกำหนดเกณฑ์อายุการจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งร่างฉบับกรมคุ้มครองสิทธิฯ กำหนดให้ผู้มีสิทธิต้องมีอายุครบ 20 ปี เนื่องจากมีอำนาจในการตัดสินใจในการเลือกจดทะเบียนคู่ชีวิตกับใครคนใดคนหนึ่งได้ ขณะที่ร่างฉบับประชาชนกำหนดให้มีอายุครบ 17 ปี และ 20 ปีขึ้นไป เหมือนกฎหมายครอบครัว ซึ่งเป็นที่พอใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ
นอกจากนี้กรณีรับบุตรบุญธรรม ร่างฉบับกรมคุ้มครองสิทธิฯ ไม่ให้สิทธิคู่ชีวิตรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน แต่ร่างฉบับประชาชนให้สิทธิคู่ชีวิตร่วมกันรับบุตรบุญธรรมได้ อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดจะแตกต่างกัน ร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับ ก็ต่างผลักดันเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการรับรองสถานะตามกฎหมายของกลุ่มเพศเดียวกัน และล้วนผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว
ส่วนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับใด ดีมากกว่ากัน กมธ.ทีมร่างฯ ยืนยันว่า ร่างฉบับประชาชนดีกว่า เพราะให้สิทธิเสรีภาพมากกว่า แต่ร่างฉบับกรมคุ้มครองสิทธิฯ กลับมีโอกาสถูกผลักดันสำเร็จมากกว่า เพราะผู้อยู่เบื้องหลัง คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นย่อมมีการนำรายละเอียดทั้ง 2 ร่างมาถกเถียงถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับแน่นอน
“ไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือจากการเลือกตั้งควรส่งเสริมให้กลุ่มหลากหลายทางเพศมีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งจะสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเห็นความสำคัญมากน้อยเพียงใด แต่ก็ไม่ควรดูถูกรัฐบาลทหาร ด้วยอาจมองเป็นเรื่องไกลตัวหรือไม่ได้รับประโยชน์ และไม่ควรดูถูกรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ด้วยอาจต้องคำนึงถึงการกระทบฐานเสียงหรือไม่”
เขายังกล่าวว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะเกิดขึ้นในรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่เห็นด้วยเท่าที่ควร จึงไม่มีการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ หากผลักดันเต็มที่เชื่อว่าไม่เกิน 3 เดือนจะสำเร็จ หรือรัฐบาลทหาร หากมองจะเกิดประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ก็ควรทำ เพราะท่านไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงฐานเสียงอยู่แล้ว เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
‘ฉัตรชัย เอมราช’ หัวหน้าสำนักงานกฎหมายฉัตรชัย เอมราช เป็นอีกคนหนึ่งที่ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขามองพัฒนาการยอมรับกลุ่มหลากหลายทางเพศในสังคมไทยดีขึ้น วัดได้จากการจัดเวทีเสวนาภาคประชาชนได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างมาก แม้กระทั่งกลุ่มมุสลิมก็ยอมรับในร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่กลับพบกลุ่มภาคอีสานไม่ค่อยยอมรับค่อนข้างมากที่สุด สาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค อย่างไรก็ดี จะต้องศึกษาต่อไปถึงสาเหตุที่แท้จริงของการไม่ยอมรับดังกล่าว
ทั้งนี้ กระแสตื่นตัวเรื่องการสมรสกลุ่มหลากหลายทางเพศมากขึ้น เขาระบุว่า อิทธิพลจากคนในวงการบันเทิงมีส่วนสำคัญ ยกตัวอย่าง นาธาน โอมาน ประกาศแต่งงานกับคู่รักเพศเดียวกัน ทำให้กลายเป็นโมเดล และเชื่อว่าหลักจากนี้จะเกิดการยอมรับกันมากขึ้น ซึ่งผลดีก็จะตกกับกลุ่มหลากหลายทางเพศได้ใช้สิทธิประโยชน์ที่กฎหมายมอบให้อย่างเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิง
ขณะที่ ‘อั้ม’ พัสวีร์ ธนวีระเกียรติ สาวประเภทสอง ดีกรีนักจัดรายการวิทยุ คลื่นเอฟเอ็ม Boom 91.25 MHz จ.ชลบุรี เห็นด้วยกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องมรดกหรือการทำธุรกรรมร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาเราไม่สามารถมีส่วนร่วมในจุดนี้ เนื่องจากขาดกฎหมายรองรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่ผ่านมาจึงต้องต่อสู้กันตามลำพังกับกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่สังคมไม่เปิดใจยอมรับอย่างแท้จริง
“แอบคิดว่าหากผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตสำเร็จ จะเป็นการสนับสนุนเล็ก ๆ ให้คนยอมเปิดตัวว่าเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้มองในแง่ลบ แต่มองในความเป็นจริงที่ว่า แม้จะมีความสุข แต่กว่าจะเติบโตผ่านทุกช่วงวัยมาได้ก็ลำบาก” ดีเจอั้ม กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อจะขับเคลื่อนอย่างจริงจังแล้วก็ควรครอบคลุมสิทธิประโยชน์ครบถ้วน ทั้งในแง่การสมัครงาน การทำประกันชีวิต เพื่อได้รับสิทธิเท่าเทียมชายจริงหญิงแท้ในสังคม แม้กฎหมายให้สิทธิแต่งงานได้ ถ้าสังคมส่วนอื่นไม่รองรับก็แค่นั้น
สุดท้ายแล้ว ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศมีชีวิตที่สมบูรณ์สมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย สังคมถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว โดยการเปิดใจยอมรับในความแตกต่าง และนำไปสู่การเรียกร้องอย่างต่อเนื่องและคึกคักมากขึ้น เพื่อวันหนึ่งพวกเขาและเธอ ซึ่งเปรียบดัง ‘พระจันทร์ครึ่งเสี้ยว’ จะได้เต็มดวงส่องแสงสุกสกาวทัดเทียมชายจริงหญิงแท้เสียที .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:นักวิชาการไม่คาดหวังดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต สำเร็จในรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’
ภาพประกอบ:เว็บไซต์Change.org