นำร่อง “วัดบันดาลใจ” ๙ แห่งต้นแบบพลิกฟื้นบทบาทวัด
เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฏาคม ๒๕๕๘ สถาบันอาศรมศิลป์ แถลงข่าวโครงการ “วัดบันดาลใจ” ร่วมกับ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และภาคีเครือข่ายภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หวังพลิกฟื้นวัดสู่ความหมายที่แท้จริงของการเป็น “วัด” ทั้งด้านกายภาพ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจกรรมทางด้านศาสนา และจิตวิญญาณของชุมชน เป็นการพัฒนาพื้นที่ 9 แห่ง ให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับวัดและชุมชนทั่วประเทศ หันมาฟื้นฟูและสร้าง “วัดบันดาลใจ” ของตนเองขึ้นมา โดยมีวัดนำร่องในระยะแรก ประกอบด้วย วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ , วัดนางชีโชติการาม กรุงเทพฯ , วัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรี, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อยุธยา, วัดภูเขาทอง อยุธยา, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่, วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นครพนม, วัดป่าโนนกุดหล่ม ศรีสะเกษ และ วัดศรีทวี นครศรีธรรมราช เพื่อถวายพระราชกุศลใน ๓ โอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา และทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ๘๔พรรษา
อาจารย์ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการวัดบันดาลใจและประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรม สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้น โครงการ “วัดบันดาลใจ” ได้ตระหนักถึงความสำคัญ บทบาทของวัดกับสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราพบว่า วัดมีบทบาทเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจและเป็นศูนย์ร่วมกิจกรรมทางสังคมในหลากหลายระดับ วัดเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณ ในขณะเดียวกันพื้นที่วัดก็เป็นพื้นที่สาธารณะที่สังคมใช้เพื่อการพบปะสังสรรค์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในแง่จิตวิญญาณ การบ่มเพาะจริยธรรม คุณธรรมให้กับสังคม ร่วมถึงการถ่ายทอดวิชาการและฝึกอาชีพให้กับสังคมมาโดยตลอด แต่จากปัจจัยความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันทำให้วัดลดบทบาทลด จำกัดเฉพาะเรื่องศรัทธาและพฤติกรรมเท่านั้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนค่อยๆ ลดน้อยลง สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร (nonprofit organization) ได้ทำงานกับชุมชนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมมาโดยตลอด เห็นความสำคัญของการพลิกฟื้น “วัด” ในบทบาทของความเป็นศูนย์กลางด้านกายภาพและจิตวิญญาณ เพราะเชื่อว่า หากพัฒนาวัดไปพร้อมกับการจัดการเรียนรู้กว่า ๓๙,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศของวัดไทย จะเป็นพลังในการปฏิรูปสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืนได้
ด้าน นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ช่วง ๓๐ – ๔๐ ปี มานี้ คนเริ่มห่างวัดไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ตั้งแต่อดีต ประวัติศาสตร์ไทยกว่า ๘๐๐ ปีตั้งแต่สมัยสุโขทัยล้วนเกี่ยวข้องกับวัด พระสงฆ์มีบทบาทในทำนุบำรุงพระพุทธศาสนากับสังคมไทยมาโดยตลอด โครงการวัดบันดาลใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อขับเคลื่อนงานครั้งนี้ รวมทั้งเมื่อได้เห็นคลิปหนึ่ง ที่คนให้สัมภาษณ์ว่าเลือกไปสถานปฏิบัติธรรมมากกว่าเลือกวัด ทำให้เราเห็นว่า เมื่อคนเริ่ม “แยก” และ “เลือก” แล้วในอนาคตต่อไปวัดจากห่างจากผู้คนมากขึ้นเพียงใด?...
"แผนการทำงานของโครงการฯเบื้องต้นจะเป็นร่วมงานกับพระสงฆ์ ชุมชน และภาคีทุกภาคส่วน ทำงานกับ ๙ วัด นำร่องนี้ จะเป็นกรณีศึกษา พัฒนาทั้งด้าน กายภาพ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม และควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจกรรมทางด้านศาสนาและจิตวิญญาณ โดยเฉพาะการออกแบบทางกายภาพนั้น โครงการ นี้ ได้รับความร่วมมืออย่างแข็งขันจากภาคี ทั้งสถาปนิก ภูมิสถาปนิก วิศวกร และนักออกแบบตกแต่งภายใน ที่เป็นเครือข่ายร่วมกันมา โดยคนที่เข้ามาร่วมงานล้วนเห็นถึงความสำคัญของภารกิจอันเป็นมงคลกับชีวิต ครั้งนี้ และเป็นความภูมิใจ เพราะได้เป็นส่วนที่จะใช้วิชาชีพช่วยให้สังคมดีขึ้น"
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า เราโชคดี เป็นประเทศที่มีศาสนาพุทธมาหลายพันปี แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้นำมาใช้เลย คือ จิตตปัญญา หรือ จิตวิญญาณ (Spirituality) ซึ่งต้องนำมาเป็นฐานของสังคมไทย ให้ได้ เชื่อว่า โครงการ “วัดบันดาลใจ” ที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่จะเป็นการกลับไปสู่การที่เราจะตั้งหลัก ตั้งเสาแห่งการมั่นคง ของประเทศ นั่นคือเรื่องคุณธรรมจริยธรรมและจิตตปัญญา
ทั้งนี้ยังมีหน่วยงานภาคีร่วมจัดงานประกอบด้วย บริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และภาคีเครือข่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง