เปิดโครงสร้าง "นชต.-กบชต." แม่ทัพ 4 คุมพื้นที่-งบเบ็ดเสร็จ ติดดาบเสนอย้าย ขรก.
แม้การประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบบูรณาการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อจัดตั้ง “องค์กรบริหารใหม่” จะจบลงในเย็นวันพุธที่ 19 ต.ค.2554 ซึ่งขณะที่เขียนรายงานชิ้นนี้การเวิร์คชอปยังไม่จบ แต่ก็เชื่อว่า “องค์กรบริหารใหม่” คงไม่หนีไปจากพิมพ์เขียวนี้ที่จัดเตรียมมาล่วงหน้าโดย กอ.รมน.
เป้าหมายของการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ ระบุไว้ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่เตรียมยกร่างเอาไว้แล้วว่า “โดยที่สถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ได้สร้างความสูญเสียต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนทำลายโอกาสในการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยสอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิต ซึ่งการแก้ไขปัญหาเพื่อนำสันติสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่โดยเร็วนั้น จำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการภายในเอกภาพของการบริหารจัดการและกรอบยุทธศาสตร์เดียวกัน”
ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการ หรือ “บอร์ด” 2 ระดับ และองค์กรที่เป็นฝ่ายอำนวยการอีก 3 องค์กรย่อยเพื่อแก้ปัญหาอย่างบูรณาการดังนี้
1.คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต. มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รองผอ.รมน. หมายถึงผู้บัญชาการทหารบก) และเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นรองประธานกรรมการ นอกจากนั้นยังมีหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงและสำนักงานหรือเทียบเท่าอีก 27 หน่วยงานร่วมเป็นกรรมการ
อำนาจหน้าที่ของ นชต. ก็คือ
- กำหนดกรอบแนวทางในการบูรณาการ อำนวยการ และกำกับดูแลการขับเคลื่อนยุทธศาตร์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้บรรลุตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์
- พิจารณากลั่นกรองโครงการ แผนงาน รวมทั้งงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา ตลอดจนสามารถสนับสนุนการปฏิบัติซึ่งกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การดำเนินการของ นชต.ให้ใช้ทรัพยากรทั้งปวง รวมถึงงบประมาณของหน่วยต่างๆ ตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวง
2.สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สล.นชต. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานฝ่ายอำนวยการ วางแผน และประสานงานการขับเคลื่อนแผนงานและโครงการของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามกรอบของยุทธศาสตร์ หรือตามที่รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน นชต.มอบหมาย โดยมีเลขาธิการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (เลขาธิการ รมน. หมายถึงเสนาธิการทหารบก) เป็นหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ รับผิดชอบควบคุมการดำเนินงานของ สล.นชต.
3.คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต.เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการบูรณาการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยมีแม่ทัพภาค 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธาน และมีผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา รวมทั้งผู้แทน ศอ.บต.และผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นรองประธาน มีกรรมการได้แก่ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกองพลทหารราบที่ 15 ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ ผู้อำนวยการศูนย์เสริมสร้างสันติสุข และผู้แทนศูนย์ข่าวกรองจังหวัดชายแดนภาคใต้
อำนาจหน้าที่ของ กบชต.คือ
- บูรณาการแผนงาน โครงการ และการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา และมีเอกภาพในการควบคุมบังคับบัญชา
- พิจารณากลั่นกรองโครงการ แผนงาน รวมทั้งงบประมาณของหน่วยและส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนและสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่
- พิจารณาให้ความดีความชอบ และการลงโทษ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในพื้นที่
- การดำเนินการของ กบชต.ให้ใช้ทรัพยากรทั้งปวง รวมถึงงบประมาณของหน่วยต่างๆ ตามแผนการปฏิบัติราชการประจำปี
4.ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบก.จชต. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานฝ่ายอำนวยการในการวางแผน อำนวยการ และประสานงานการขับเคลื่อนแผนงานและโครงการของหน่วย รวมทั้งส่วนราชการในพื้นที่ให้เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์หรือตามที่ กบชต.กำหนด โดยมีผู้อำนวยการ ศบก.จชต.เป็นหัวหน้าฝ่ายอำนวยการรับผิดชอบ ควบคุมการดำเนินงาน
ทั้งนี้ การจัดตั้ง ศบก.จชต.ให้เป็นไปตามอัตราเฉพาะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากำหนด และต้องเสนอให้ นชต.เห็นชอบก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรให้ความเห็นชอบต่อไป
5.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนแยก หรือ ศอ.บต.สย. จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ให้เป็นหน่วยในอัตราของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทำหน้าที่ประสานและขับเคลื่อนแผนงานและโครงการด้านการพัฒนาในพื้นที่
อย่างไรก็ดี การจัดตั้ง ศอ.บต.ส่วนแยก มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย จึงอาจมีการปรับโครงสร้างในส่วนนี้อีกครั้งหลังเวิร์คชอป ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” จะติดตามนำมารายงานต่อไป
สำหรับ กบชต. ซึ่งเป็นบอร์ดระดับพื้นที่และมีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานนั้น จะมีหน่วยงานในบังคับบัญชาคือ กอ.รมน.จังหวัด (คุมผู้ว่าราชการจังหวัด) ศอ.บต.ส่วนแยก (คุม ศอ.บต.) ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต. - คุมตำรวจ) ศูนย์ข่าวกรองจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศขก.จชต. - คุมงานการข่าว) กำลังทหาร และศูนย์สันติสุข
เท่ากับกระชับอำนาจเบ็ดเสร็จในทุกมิติของการดับไฟใต้ ทั้งงานความมั่นคงและงานพัฒนา!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : แผนภาพโครงสร้างองค์กรบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยฝ่ายกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ