โชว์ข้อเสนอแนะ“ปรองดอง”ฉบับ สปช.(1): คลี่ปมขัดแย้ง-ชูธง“นิรโทษฯ”
โชว์ข้อเสนอแนะ “ปรองดอง” ฉบับ กมธ.ศึกษาปรองดอง สปช. (1) : คลี่ปัญหาขัดแย้งการเมือง ชูประเด็นแสวงหาข้อเท็จจริงรอบด้าน เปิดเผยคน “เบื้องหลัง” ยึดหลัก “ยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน” ไม่ฟ้อง-ยกฟ้อง-อภัยโทษ นักโทษการเมือง ตรากฎหมายพิเศษ “นิรโทษกรรม”
ยังคงโยน “หิน” ทางทางมาเรื่อย ๆ สำหรับข้อเสนอเรื่อง “ปรองดอง”
อย่างไรก็ดีในส่วนของเนื้อหา เรียกได้ว่ายัง “ฝุ่นตลบ” อยู่
เพราะไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอจากนักการเมือง ประชาชน หรือแม้แต่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ไม่ใคร่จะถูกใจ “ทุกสี-ทุกฝ่าย” นัก
แต่ข้อเสนอที่กำลังมาแรงคือการ “นิรโทษกรรม” เพื่อสร้างความปรองดอง
เห็นได้จากแนวคิดของ กมธ.การศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เป็นแม่งาน ที่เสนอแก่ “เทียนฉาย กีระนันทน์” ประธาน สปช. เพื่อเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน
ล่าสุด “เทียนฉาย” ได้รับแล้ว !
โดย กมธ.การศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง “จั่วหัว” แนะแนวทาง “เบื้องต้น” เตรียม “ปูทาง” สร้างความปรองดองไว้หลายข้อด้วยกัน
เนื้อหาเป็นอย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเรียบเรียงเผยแพร่ ดังนี้
ข้อเสนอแนะเชิงเนื้อหา
เพื่อคลี่คลายประเด็นปัญหาและผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในอดีต และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ความรุนแรงจากความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นซ้ำอีก จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามภารกิจ 6 ด้าน
พร้อมขีดเส้นใต้ “ที่ต้องทำควบคู่กันไปให้ครบทุก ๆ ด้านอย่างเป็นองค์รวม” ได้แก่
-การสร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุความขัดแย้ง
ดำเนินการโดยใช้กิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เช่น การศึกษาวิเคราะห์รายงานหรือผลการศึกษาที่องค์กรต่าง ๆ จัดทำขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การให้บุคคลต่าง ๆ จากทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงสาเหตุแห่งความขัดแย้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้น และข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไข เพื่อให้ได้สรุปอันเป็นที่ยอมรับจากสังคม
ซึ่งความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุแห่งความขัดแย้งนี้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการจัดทำข้อเสนอแนะ และการหาจุดร่วมในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง
-การแสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง
การแสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจร่วมกันของสังคมต่อเหตุการณ์ และนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาสรุปบทเรียนในการป้องกันมิให้ประเทศชาติต้องประสบกับวิกฤตการณ์เช่นนี้อีก แบ่งเป็น 3 แนวทาง ดังนี้
1.รวบรวมข้อเท็จจริงซึ่งรวมถึงแรงจูงใจเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องที่เป็นผู้กระทำการดังกล่าวในเหตุการณ์รุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2548-2557 เปิดเผยฝ่ายผู้กระทำและแรงจูงใจต่อการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
2.เปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนที่ทำให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ใด เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมายและมีความเหมาะสมของสถานการณ์
3.จัดให้มีการคุ้มครองความปลอดภัยของบุคคล พยาน หรือผู้แทนองค์กรหรือหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนที่ให้ข้อมูลข่าวสาร หรือมอบวัตถุพยานไว้ให้กับองค์คณะที่ปฏิบัติตามภารกิจนี้
-การอำนวยความยุติธรรมการสำนึกรับผิดและการให้อภัย
ต้องนำหลัก “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” อันเป็นหลักความยุติธรรมในระยะที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ทีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พยายามทำความเข้าใจผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ การส่งเสริมกลไกกับความเป็นไปได้ที่จะนำสังคมไปสู่สันติภาพ การปรองดอง และความเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปโดยที่เหตุการณ์ความรุนแรงไม่ย้อนกลับมาอีกครั้ง
นอกจากนี้ควรรวมถึงกระบวนทัศน์แบบ “ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นอันดับแรก เนื่องจากผู้เสียหายมีอำนาจในการกำหนดว่าความยุติธรรมที่ต้องการคืออะไร
จากแนวคิดข้างต้น นโยบายด้านการอำนวยความยุติธรรมเพื่อคัดกรองการอำนวยความยุติธรรมให้เหมาะสมและเป็นธรรมภายใต้หลักนิติธรรม จึงแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
1.การทำงานโดยอาศัยกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน แบ่งเป็น
1.1 กรณีคดียังอยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เร่งรัดกระบวนการดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุปสำนวน โดยพิจารณาจำแนกถึงมูลเหตุแห่งการกระทำผิดว่า เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง (แรงจูงใจจากความเชื่อหรือมุมทางการเมืองที่แตกต่างกับรัฐบาล) เป็นความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ (ความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหายโดยตรง-ผิดต่อเอกชน-ผิดร้ายแรงที่ผลกระทบต่อศีลธรรม) เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจในทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ โดย สตช. หรือดีเอสไอ อาจใช้อำนาจในการทำความเห็นต่อประเด็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เสนอต่ออัยการเพื่อพิจารณาต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140-147
1.2 กรณีคดีอยู่ในชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการก่อนฟ้องศาลยุติธรรม ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศหรือไม่ เพื่อเสนออัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาสั่งไม่ฟ้อง เฉพาะความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองเท่านั้น
ส่วนที่มีฐานความผิดทางอาญาโดยเนื้อแท้ หรือความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ เช่น ทำร้ายผู้อื่นจนแก่ความตาย ก่อการร้าย ลักทรัพย์ หรือผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้พิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมปกติ
1.3 กรณีคดีอยู่ในกระบวนการของศาลยุติธรรม ให้พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ.2554 พิจารณาไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง และถอนฎีกา เฉพาะคดีที่มีความผิดจากแรงจูงใจทางการเมืองเท่านั้น
1.4 กรณีที่ศาลได้พิจารณาคดีเสร็จสิ้นเด็ดขาดแล้ว ให้คำนึงถึงเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษตามที่กฎหมายกำหนด
2.การตรากฎหมายพิเศษเพื่อกระบวนการยุติธรรมสำหรับการปรองดองและสมาฉันท์
กฎหมายพิเศษนั้นครอบคลุมถึงหลักการแห่ง “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งในหลักสากลครอบคลุมถึงวิธีการเหล่านี้
2.1 การตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อการรับรู้ถึงสาเหตุและการคลี่คลายปมปัญหา
2.2 การดำเนินคดีต่อผู้ที่ละเมิดกฎหมายด้วยหลักนิติธรรม
2.3 การเยียวยาและชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง
2.4 การยอมรับในการกระทำ ขออภัยและแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำผิด
2.5 การนิรโทษกรรมและการให้อภัยโดยมีข้อยกเว้นมิให้การนิรโทษกรรมกับผู้กระทำความผิดในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
2.6 การปฏิรูป หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ให้เอื้อกับการลดและป้องกันการก่อเกิดขึ้นซ้ำของความขัดแย้ง เช่น การแบ่งสรรอำนาจการเมืองให้เกิดดุลยภาพ การลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาและเข้าถึงทรัพยากร เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ ในข้อที่ว่าการอำนวยความยุติธรรมการสำนึกรับผิดและการให้อภัย มีตอนหนึ่งระบุให้ตรา “กฎหมายพิเศษ” ขึ้นมา เพื่อการ “ปรองดอง-สมานฉันท์” ตามหลักการ “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน”
ซึ่งในข้อที่ 2.5 ของหลักการนี้ ระบุไว้ชัดเจนว่า มิให้การนิรโทษกรรมกับผู้กระทำความผิดในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
นั่นเท่ากับว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงอดีตแกนนำ “คนเสื้อแดง” อีกหลายราย ซึ่งถูกสังคมบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจอยู่ “เบื้องหลัง” การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อปี 2553 นั้น
จะไม่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมอย่างแน่นอน !
แต่ไม่ใช่แค่ซีก “แดง” เท่านั้น
สำหรับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกฯ และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกฯ และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนกรณีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 อยู่ขณะนี้
หาก ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด ทั้ง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ก็จะไม่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมเช่นกัน !
ทั้งหมดคือข้อเสนอแนะเพียง 3 ข้อเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่นับ กรณีการเยียวยา ดูแลและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน และมาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
ซึ่งสำนักข่าวอิศราจะนำมาเผยแพร่แก่สาธารณชนในเร็ว ๆ นี้
อ่านประกอบ :
กางแนวคิดนิรโทษกรรม“ฉบับเอนก”-แค่“สำนึกผิด”ก็จบแล้วจริงหรือ?
ผ่าทางตันความขัดแย้ง-กางหมวด “ปรองดอง”รธน.ใหม่ ลิ่วหรือร่วง?
เปิดไส้ใน! 2 แนวทางเบื้องต้นนิรโทษกรรมฉบับ “กมธ.ยกร่างรธน.”